บาลีวันละคำ

ขันตีสุทันตวิธี (บาลีวันละคำ 3,047)

ขันตีสุทันตวิธี

ขันติ: 1 ใน 8 วิธีเพื่อชัยชนะ

อ่านว่า ขัน-ตี-สุ-ทัน-ตะ-วิ-ที

แยกศัพท์เป็น ขันตี + สุทันต + วิธี

(๑) “ขันตี

เขียนแบบบาลีเป็น “ขนฺติ” อ่านว่า ขัน-ติ รากศัพท์มาจาก ขมฺ (ธาตุ = อดทน) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น นฺติ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: ขมฺ > + ติ > นฺติ : + นฺติ = ขนฺติ

หรือจะว่า –

: ขมฺ + ติ แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ : ขมฺ > ขนฺ + ติ = ขนฺติ ก็ได้

ขนฺติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่อดทนได้” หมายถึง ความอดทน, ความอดกลั้น, การให้อภัย (patience, forbearance, forgiveness)

ในทางวิชาการ ท่านว่าคุณธรรมเหล่านี้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของ “ขันติ” กล่าวคือ :

(1) เมตฺตา = ความรัก (love)

(2) ตีติกฺขา = ความอดกลั้น (forbearance)

(3) อวิหึสา = ความไม่เบียดเบียน (tolerance)

(4) อกฺโกธ = ความไม่โกรธ (meekness)

(5) โสรจฺจ = ความสงบเสงี่ยม, ความว่านอนสอนง่าย (docility, tractableness)

(6) มทฺทว = ความสุภาพอ่อนโยน (gentleness)

ในทางปฏิบัติ พึงพิจารณาว่าตนเองมีขันติหรือไม่ ตามนัยแห่งอรรถกถาขันติวาทิชาดก ดังนี้ :

กา  เอสา  ขนฺติ  นามาติ.

พระราชาตรัสถาม: ที่ชื่อว่าขันตินั้นคืออะไร ?

อกฺโกสนฺเตสุ  ปหรนฺเตสุ  ปริภวนฺเตสุ  อกุชฺฌนภาโวติ.

ขันติวาทีดาบสทูลตอบ: คือความไม่โกรธในเมื่อเขาด่าอยู่ ทำร้ายอยู่ เย้ยหยันอยู่

มม  สทิสา  ขนฺติพเลน  สมนฺนาคตา  ปณฺฑิตา 

อยํ  มํ  อกฺโกสิ  ปริภาสิ  ปริภวิ  ปหริ  ฉินฺทิ  ภินฺทีติ 

น  กุชฺฌนฺตีติ.

บัณฑิตทั้งหลายผู้ประกอบด้วยกำลังแห่งขันติเช่นกับอาตมา

ย่อมไม่โกรธว่า ผู้นี้ด่า บริภาษ เย้ยหยัน ทำร้ายเรา ตัดอวัยวะ ทำลายเรา

(๒) “สุทันต

เขียนแบบบาลีเป็น “สุทนฺต” อ่านว่า สุ-ทัน-ตะ รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + ทมฺ (ธาตุ = ฝึก, อบรม, ข่ม) + ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น นฺต

: สุ + ทมฺ + สุทมฺ + = สุทมฺต > สุทนฺต แปลตามศัพท์ว่า “-อันบุคคลฝึกมาแล้วอย่างดี” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ฝึกฝนมาดี, ควบคุมได้ (well-tamed, restrained)

(๓) “วิธี

บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: วิ + ธา > = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ

วิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);

(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);

(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)

วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.

(2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.

(3) กฎ, เกณฑ์.

(4) คติ, ธรรมเนียม.

การประสมคำ :

ขนฺติ + สุทนฺต = ขนฺติสุทนฺต แปลว่า “ความอดทนที่บุคคลฝึกมาแล้วอย่างดี

ขนฺติสุทนฺต + วิธิ = ขนฺติสุทนฺตวิธิ แปลว่า “วิธีคือความอดทนที่บุคคลฝึกมาแล้วอย่างดี

เนื่องจากคำว่า “-ติ-” ในคำว่า “ขนฺติ-” อยู่ในตำแหน่งคำที่ต้องเป็นคำครุ (คำเสียงหนัก คือคำที่มีตัวสะกดหรือสระเสียงยาว) ตามกฎของวสันตดิลกฉันท์ (คาถาพาหุงแต่งเป็นวสันตดิลกฉันท์) แต่ “-ติ-” เป็นคำลหุ คือสระเสียงสั้น ท่านจึงใช้สิทธิ์ที่เรียกว่า “ฉันทานุรักษ์” คือเปลี่ยนแปลงรูปคำเพื่อให้ถูกต้องตามกฎของฉันท์ โดยการทีฆะ อิ เป็น อี (อี เป็นสระเสียงยาว) “ขนฺติ-” จึงเปลี่ยนรูปเป็น “ขนฺตี-”

อีกนัยหนึ่ง “ขนฺติ” นั่นเองมี 2 รูป คือเป็น “ขนฺติ” ก็มี เป็น “ขนฺตี” ก็ได้

ขนฺติสุทนฺตวิธิ” จึงเป็น “ขนฺตีสุทนฺตวิธิ” เขียนแบบไทยเป็น “ขันตีสุทันตวิธี

อธิบาย :

ขนฺตีสุทนฺตวิธิ” หรือ “ขันตีสุทันตวิธี” ถอดคำออกมาจากจาก “พุทธชยมังคลอัฏฐกคาถา” หรือคาถาพาหุงบทที่ 2 ข้อความในบาทคาถาว่า “ขนฺตีสุทนฺตวิธินา” ข้อความเต็มทั้งบทว่าดังนี้ –

เขียนแบบบาลี :

มาราติเรกมภิยุชฺฌิตสพฺพรตฺตึ

โฆรมฺปนาฬวกมกฺขมถทฺธยกฺขํ

ขนฺตีสุทนฺตวิธินา ชิตวา มุนินฺโท

ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.

เขียนแบบคำอ่าน :

มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง

โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง

ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.

คำแปล :

อาฬวกยักษ์ผู้กระด้าง ปราศจากความอดทน ดุร้าย

สู้รบกับพระพุทธเจ้าอย่างทรหดยิ่งกว่ามาร ตลอดราตรี

พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้ด้วยขันติวิธีที่ทรงฝึกฝนมาดี

ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

(สำนวนแปลของอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก จากหนังสือ คาถาพาหุง)

ขยายความ :

ขยายความตามคาถาว่า พระเจ้ากรุงอาฬวีเสด็จประพาสป่าล่าเนื้อ ทรงพลัดหลงเข้าไปในถิ่นของอาฬวกยักษ์ ถูกยักษ์จับตัวไว้และจะฆ่ากินเป็นภักษา พระเจ้ากรุงอาฬวีทรงเจรจาต่อรองกับอาฬวกยักษ์ว่า ถ้าปล่อยพระองค์ไป พระองค์จะจัดส่งคนมาให้อาฬวกยักษ์กินวันละคน อาฬวกยักษ์พอใจข้อเสนอนี้จึงปล่อยพระเจ้ากรุงอาฬวีไป

พระเจ้ากรุงอาฬวีรับสั่งให้ส่งนักโทษไปให้ยักษ์วันละคน ไม่นานนักโทษก็หมดเรือนจำ จึงให้เที่ยวจับคนที่ทำผิด จนในที่สุดก็หาคนที่ทำผิดไม่ได้ แม้จะเอาทองคำไปวางล่อไว้ให้คนขโมยก็ไม่มีใครขโมย พระเจ้ากรุงอาฬวีก็รับสั่งให้จับคนที่ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ส่งไปให้ยักษ์ เริ่มจากเด็กๆ ก่อน จนเด็กหายไปจากเมืองหมด เหลือแต่พระราชโอรสองค์น้อยของพระเจ้ากรุงอาฬวี เมื่อหาเด็กอื่นไม่ได้ พวกอำมาตย์ก็จับเอาพระราชโอรสเตรียมจะส่งไปให้อาฬวกยักษ์ในวันรุ่งขึ้น

ราตรีนั้น พระพุทธองค์ประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงทราบเหตุการณ์ในเมืองอาฬวีได้ด้วยพระญาณ ทรงเล็งเห็นอุปนิสัยของอาฬวกยักษ์ว่าสามารถจะรู้ธรรมได้ ค่ำนั้นจึงเสด็จไปยังที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ ประจวบเวลาที่อาฬวกยักษ์ไม่อยู่ พระพุทธองค์จึงเสด็จเข้าไปประทับ ณ แท่นที่นั่งของอาฬวกยักษ์

ครั้นอาฬวกยักษ์กลับมา เห็นพระพุทธองค์ประทับบนที่นั่งของตนก็โกรธ กระทำอำนาจคุกคามด้วยประการต่างๆ พระพุทธองค์ก็มิได้ทรงหวาดไหว ยักษ์เห็นว่าจะใช้กำลังคุกคามไม่ได้ผล จึงใช้วาทะร้องสั่งให้พระพุทธองค์ลุกจากที่ของตน พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าอาฬวกยักษ์ค่อยคลายโกรธบ้างแล้ว จึงทรงกระทำตามคำสั่ง จะให้ลุกก็ทรงลุก จะให้นั่งก็ทรงนั่ง จะให้ออกก็เสด็จออก จะให้เข้าก็เสด็จเข้า ยักษ์จะให้ทำอย่างไรก็ทรงทำตามด้วยความอดทน สุดท้ายอาฬวกยักษ์ก็สิ้นความโกรธกลับพูดจาด้วยดี

พระพุทธองค์ทรงใช้เวลาตลอดราตรีบำราบอาฬวกยักษ์จนสิ้นพยศ แล้วทรงแสดงธรรมโปรดให้อาฬวกยักษ์เห็นแจ้งในธรรม ดำรงอยู่ในภูมิโสดาปัตติผล รุ่งเช้า เมื่ออำมาตย์นำพระราชโอรสของพระเจ้ากรุงอาฬวีมาส่งให้ยักษ์ อาฬวกยักษ์ก็น้อมถวายกุมารนั้นแด่พระพุทธองค์ เป็นอันว่าพระราชโอรสรอดชีวิต และชาวเมืองอาฬวีก็ปลอดภัยจากยักษ์ร้าย ด้วยพุทธานุภาพ

ที่เรียกว่า “ยักษ์” นั้น ผู้รู้ท่านว่าน่าจะมิใช่ยักษ์เขี้ยวโง้งที่เราเห็นกันตามรูปปั้นหรือภาพเขียน แต่น่าจะเป็นมนุษย์กินคนเผ่าหนึ่งซึ่งมีความดุร้ายมาก พระพุทธองค์ทรงใช้ความสามารถปราบหัวหน้าเผ่ามนุษย์กินคนให้ยอมสยบ นำสันติสุขมาสู่ชาวเมืองได้โดยธรรม จึงนับเป็นชัยมงคลประการหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยอมได้

: ใหญ่เป็น

#บาลีวันละคำ (3,047)

15-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย