บาลีวันละคำ

วิธี – พิธี (บาลีวันละคำ 1,073)

วิธี – พิธี

มาทางเดียวกัน

แต่ไปคนละทาง

(๑) “วิธี

บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: วิ + ธา > = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ

วิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :

(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);

(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);

(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)

วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.

(2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.

(3) กฎ, เกณฑ์.

(4) คติ, ธรรมเนียม.

(๒) “พิธี

รากเดิมก็มาจาก “วิธิ” ในบาลีนั่นเอง แล้วกลายเสียงเป็น “วิธี” ในภาษาไทย แล้วแผลง เป็น กลายเป็น “พิธี” อีกทอดหนึ่ง

ในบาลีไม่พบคำที่ใช้รูปนี้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) งานที่จัดขึ้นตามลัทธิหรือความเชื่อถือตามขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อความขลังหรือความเป็นสิริมงคลเป็นต้น เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีมงคลสมรส พิธีประสาทปริญญา.

(2) แบบอย่าง, ธรรมเนียม, เช่น ทำให้ถูกพิธี.

(3) การกําหนด เช่น ก็อยู่จนสิ้นชนมายุพิธีในเทพพู้น. (ม. คําหลวง ทศพร).

ตาม พจน.54 “วิธี” กับ “พิธี” ในภาษาไทย บางความหมายก็ใกล้เคียงกัน

แต่เมื่อว่าโดยน้ำหนักแห่งความเข้าใจแล้ว คนส่วนมากย่อมเข้าใจหรือรู้สึกว่า “วิธี” กับ “พิธี” มีความหมายต่างกันมาก

แก้ปัญหาแบบพุทธวิธี >

: อย่าเอาแต่ทำพิธี

: แต่จงหาวิธีทำด้วย

26-4-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย