บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ใครจะเป็นทนายจำเลย

ใครจะเป็นทนายจำเลย

————————-

เมื่อวานนี้ (๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐) ผมได้อ่านความเห็นในโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง มีข้อความดังนี้

………………

รู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่เห็นคนพิการ คนแก่เดินขอทาน แล้วถูกสังคมรังเกียจ เป็นอยู่อย่างลำบาก 

ในขณะที่อีกพวกโกนหัว ห่มเหลือง กลับได้ข้าวปลาเงินทองเต็มที่ แล้วกลับไปนอนสบายที่วัดง่ายๆ

………………

อยู่ในประเทศที่เราช่วยเหลือคนตาบอด คนพิการคนยากจนจำนวนมากที่พยายามหาเลี้ยงชีพไม่ได้

แต่เอากับข้าวกับปลาเอาเงินทองให้พวกหัวโล้นบางกลุ่มงอมืองอตีนยัดห่าใช้สอยกันอย่างเต็มอกเต็มใจเพราะหลงเชื่อคำตอแหลหลอกลวง

………………

(จบข้อความ)

—————

ความคิดเห็นนี้เป็นข้อกล่าวหาฉกรรจ์อยู่ จำเลยโดยตรงก็คือพระภิกษุสงฆ์สามเณรในพระพุทธศาสนาในเมืองไทย

สรุปประเด็นข้อกล่าวหาก็คือ –

๑ พระสงฆ์สามเณรออกบิณฑบาตได้ข้าวปลาอาหารจากชาวบ้านแล้วก็กลับไปนอนสบายอยู่ในวัด ไม่ต้องทำอะไร

๒ พระสงฆ์สามเณรเป็นพวกงอมืองอเท้า ไม่ทำงาน เอาแต่กินสุขสบาย

๓ พระสงฆ์สามเณรโกหกตอแหลหลอกลวงชาวบ้าน (ไม่ได้ระบุประเด็น แต่โดยรวมแล้วเหมือนจะให้เข้าใจว่า คำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นการหลอกลวงชาวโลก เช่นบอกว่าให้ทำบุญกับพระแล้วจะได้ไปสวรรค์-ตีความว่าคงเจตนาจะว่าทำนองนี้)

………….

อนึ่ง ควรสังเกตและเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ผู้กล่าวหาได้บอกไว้ด้วยแล้วว่าที่ว่านี้เขาหมายถึง “พวกหัวโล้นบางกลุ่ม” 

ที่บอกอย่างนี้นับว่าเป็นความฉลาดอย่างหนึ่ง คือถ้าใครโต้ตอบกลับมา ก็แก้ตัวได้ว่า ไม่ได้ว่าพระสงฆ์สามเณรทั้งหมด พระสงฆ์สามเณรที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบยังมีอีกมาก ที่ว่านี้เขาหมายถึงพระสงฆ์สามเณรบางกลุ่มเท่านั้น 

อย่างนี้ทางกฎหมายก็เอาผิดไม่ได้ แต่ได้ทำสมเจตนารมณ์ คือจริงๆ แล้วก็ตั้งใจจะด่าพระสงฆ์สามเณรนั่นเอง จะอ้างว่าบางกลุ่มหรือทั้งหมดก็ไม่มีผลต่างอะไร

แต่ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญขอให้ตั้งหลักกันที่-เมื่อมีข้อกล่าวหาเช่นนี้ จะแก้อย่างไร

เมื่อมีผู้กล่าวหาว่า พระสงฆ์สามเณรในพระพุทธศาสนาไม่ทำงาน แต่ออกมาขอทานชาวบ้านกินเช่นนี้-จะแก้อย่างไร

………….

มีหลักฐานในคัมภีร์ที่แสดงไว้ว่า 

๑ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา – การบวชมีวิธีดำรงชีวิตโดยอาศัยโภชนะคืออาหารแต่ละคำที่ได้มาด้วยปลีแข้ง”

“อาหารแต่ละคำที่ได้มาด้วยปลีแข้ง” ก็คือต้องออกบิณฑบาต

๒ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรกหลังจากตรัสรู้ แทนที่จะเสด็จไปเสวยในวังของพระพุทธบิดาหรือของพระญาติวงศ์ กลับทรงออกบิณฑบาต และตรัสว่า การออกบิณฑบาตเป็นวงศ์ของพระพุทธเจ้า

………….

ผู้กล่าวหาจะทราบความข้อนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ข้อกล่าวหานี้ก็เท่ากับล้มล้างคำตรัสของพระพุทธเจ้าตรงๆ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า บวชแล้วต้องออกบิณฑบาต

ข้อกล่าวหาบอกว่า การออกบิณฑบาตเป็นการงอมืองอเท้า (ไม่ต้องทำงาน ขอชาวบ้านกิน)

ท่านผู้ใดจะรับเป็นทนายให้จำเลยบ้าง?

——————–

ตามเป็นจริง ผู้ที่ควรออกมาตอบเรื่องนี้คือพระสงฆ์สามเณร เพราะเป็นผู้เสียหายโดยตรง 

ผมไม่ทราบว่าพระสงฆ์สามเณรท่านจะเดือดร้อนกับคำกล่าวหานี้หรือไม่ 

เคยได้ฟังบางท่านเมื่อเห็นคำกล่าวหาทำนองนี้ก็จะตอบว่า ไม่จำเป็นต้องไปสนใจกับคนพวกนี้ มันนึกอยากจะด่าพระมันก็ด่า ถ้าไปคอยเก็บมาคิดทุกเรื่องก็ไม่ต้องทำอะไรกัน 

ผมก็เรียนไปว่า คนที่คิดแบบนี้ไม่ใช่มีคนเดียวสองคน และคนที่เห็นด้วยกับความคิดแบบนี้ก็มีมาก.. 

ท่านก็สวนกลับแบบไม่รอให้พูดจบว่า จะต้องไปกังวลอะไรกับคนพวกนี้ ศาสนาไม่ได้อยู่ได้ด้วยคนพวกนี้ พวกนี้มันเคยใส่บาตรมั่งหรือเปล่า คนที่เขาเข้าใจดียังมีอีกเยอะแยะไป …..

แนวคิดแบบนี้ ผมว่าอันตรายพอๆ กับแนวคิดของท่านจำพวกตั้งข้อกล่าวหานั่นแหละ

การอธิบายให้เขาเข้าใจความจริงคือหน้าที่ของเรา

ข้อกล่าวหาเช่นนี้นับเข้าในพวกที่เรียกว่า “ปรัปวาท” (ปะ-รับ-ปะ-วาด) (disputation with another, challenge, opposition in teaching)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

ปรัปวาท : คำกล่าวของคนพวกอื่นหรือลัทธิอื่น, คำกล่าวโทษคัดค้านโต้แย้งของคนพวกอื่น, หลักการของฝ่ายอื่น, ลัทธิภายนอก; คำสอนที่คลาดเคลื่อนหรือวิปริตผิดเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่น.”

พระพุทธองค์ตรัสถึงคุณสมบัติของพุทธสาวกข้อหนึ่งว่า –

อุปฺปนฺนํ  ปรปฺปวาทํ  สหธมฺเมน  สุนิคฺคหิตํ  นิคฺคเหตฺวา  สปฺปาฏิหาริยํ  ธมฺมํ  เทเสนฺติ 

แปลว่า-แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่เกิดขึ้นได้โดยสหธรรมเรียบร้อย

“โดยสหธรรมเรียบร้อย” (สหธมฺเมน) หมายถึง ไม่เกะกะก้าวร้าว แบบเอ็งแรงมาข้าก็แรงไป แต่พูดกันดีๆ ด้วยเหตุด้วยผล มุ่งความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีไมตรีจิตต่อกันเป็นเบื้องหน้า

ถ้ามองในแง่ดี ข้อกล่าวหานี้ก็คือคำเตือนสติพระสงฆ์สามเณรว่า ฉันข้าวชาวบ้านแล้วอย่าเอาแต่เสพสุข แต่ต้องทำกิจของสงฆ์ คือ (๑) ต้องทำกิจด้วย และ (๒) กิจที่ทำต้องเป็นกิจของสงฆ์ด้วย ไม่ใช่กิจนอกเรื่อง

เพราะฉะนั้น นอกจากจะต้องช่วยกันหาคำตอบเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเองแล้ว ก็ควรถือเป็นโอกาสตักเตือนตัวเองให้ดำรงมั่นคงอยู่ในหน้าที่ของสงฆ์ด้วยอีกส่วนหนึ่ง

…………

ขออนุญาตร้องถามมา ณ ที่นี้อีกครั้งว่า –

ท่านผู้ใดจะรับเป็นทนายให้จำเลยบ้าง?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

๑๓:๒๘

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *