บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ศาสนาอยู่ที่ใจ?

ศาสนาอยู่ที่ใจ?

—————

เมื่อเกือบ ๑๐ ปีมาแล้ว มีผู้ปรารภสถานการพระพุทธศาสนา-โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำปรารภเชิงถามนั้นว่าดังนี้ –

……………………..

๓ จังหวัดใต้ ถ้าไม่มีคนพุทธ แล้วพระสงฆ์จะอยู่กันยังไงครับ 

อ่านข่าวบอกคนพุทธย้ายออกจาก ๓ จังหวัดใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ปีละ ๑ แสนคน

มีพระประจำวัดแต่ละวัดเพียง ๒-๓ รูป

ทุกวันนี้แทบจะบิณฑบาตไม่ได้ นอกจากเรื่องความปลอดภัย ยังรวมถึง ไม่มีคนใส่บาตร

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดน กว้านซื้อที่ดินของชาวพุทธที่ย้ายออกไปจำนวนมากโดยมีทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ

ถ้าเป็นแบบนี้ ต่อไป จะสิ้นศาสนาพุทธใน ๓ จังหวัดใต้แล้วเสียกระมัง แล้วเราก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย เหมือนสมัยมหาวิทยาลัยนาลันทาไม่มีผิด

……………………..

มีผู้ที่รับคำปรารภได้แสดงความเห็นตอบว่าดังนี้ –

……………………..

ศาสนาพุทธ คือศาสนาของปัญญา เพราะฉะนั้น การจะดำรงพระศาสนาได้นั้นอยู่ที่ความเข้าใจพระธรรมของแต่ละคน หากแม้มีภิกษุมากหรือมีตำรับตำรามาก แต่ไม่มีความเข้าใจพระธรรม เข้าใจหนทางที่ผิด ศาสนาก็อันตรธานไป คืออันตรธานจากใจของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้นสำคัญที่ความเข้าใจเป็นสำคัญ 

แม้เป็นเพศคฤหัสถ์ก็สามารถเข้าใจพระธรรมบรรลุธรรมหากได้ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง 

และแม้สถานที่นั้นจะไม่มีพระภิกษุ สถานที่อื่นๆ ก็ยังมี ก็ยังไม่อันตรธานแห่งเพศ 

ดังนั้น ควรพิจารณาว่าจะอยู่อย่างไรที่ประเสริฐ คืออยู่ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทเท่าที่ทำได้สำหรับเพศพระภิกษุ และสำคัญที่ใจเราเองที่หมั่นศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพราะโลกก็ต้องเป็นไปอย่างนี้ ตามกาลเวลาและความเสื่อมของพระพุทธศาสนา 

……………………..

อีกท่านหนึ่ง ตอบว่าดังนี้ –

……………………..

เกิดที่ไหนไม่สำคัญ ขอเพียงมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระธรรมไม่สาธารณะกับทุกคน ผู้ที่เห็นประโยชน์เท่านั้นที่จะได้ฟังได้ศึกษา สะสมปัญญาต่อไป ซึ่งมีน้อยคนจะได้ศึกษา จึงไม่ใช่เฉพาะคนที่อยู่ ๓ จังหวัดชายใต้เท่านั้น แม้จะเกิดในถิ่นที่ดีมีความเจริญ แต่ก็ไม่ได้ศึกษาพระธรรมก็มีเป็นจำนวนมากทีเดียว ในทางตรงกันข้าม แม้จะเกิดใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ณ ที่ไหนก็ตาม แต่ถ้าได้มีโอกาสฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ย่อมเป็นประโยชน์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เรื่องของคนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่นจริงๆ ต่างคนต่างเกิด ต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างคิด เป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่สำหรับเราแล้ว ก็ไม่ควรล่วงเลยขณะอันมีค่าที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ นั่นก็คือโอกาสแห่งการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา และเจริญกุศลประการต่างๆ ต่อไป นี้แหละคือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับตนเองอย่างแท้จริง 

……………………..

และอีกท่านหนึ่งตอบว่าดังนี้ –

……………………..

ศาสนาอยู่ที่ใจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ และที่สำคัญอยู่ที่ไหนก็ได้ถ้ามีความเข้าใจธรรมก็มีความสุข พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าศาสนาจะดำรงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี 

……………………..

ผมได้เข้าไปอ่านความเห็นทั้ง ๓ นั้น แล้วแสดงความเห็นของผมไว้ดังนี้ – 

……………………..

ขอประทานโทษนะครับ

ผมว่าเรามองคนละมุม คือผู้ถาม มองในมุมของการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งเมื่อยังอยู่ในสังคมก็ต้องมีผู้ทำ มีผู้รับผิดชอบ ผู้ถามคงอยากจะให้ผู้รับผิดชอบในแง่บริหารจัดการองค์กรได้ทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คนที่นับถือพระพุทธศาสนาดำรงชีพอยู่ในพื้นที่ ๓ จังหวัดได้อย่างปกติสุข และสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่นได้

ส่วนผู้ตอบ ท่านตอบในแง่สัจธรรม ซึ่งก็จริงอย่างที่ท่านตอบ เถียงท่านไม่ได้

ไม่มีใครทำลายสัจธรรมได้ก็จริง แต่ถ้าบริหารจัดการองค์กรหรือสังคมไม่ดี สัจธรรมก็ปรากฏตัวได้ยาก หรือปรากฏไม่ได้เลย

พระพุทธองค์ทรงประกาศสัจธรรมกับคนในสังคม จึงปรากฏความจริงว่าทรงอาศัยการบริหารจัดการของทางบ้านเมือง เช่น การอุปถัมภ์บำรุงของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งถ้าไม่ทำเช่นนั้น สัจธรรมคงจะเข้าถึงผู้คนอย่างกว้างขวางแพร่หลายได้ยากมาก แม้การรวบรวมพระธรรมวินัย (ซึ่งมีผลส่งมาให้เราได้รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ในทุกวันนี้) ก็ต้องอาศัยการอุปถัมภ์ของทางบ้านเมือง อย่างในสังคายนาครั้งที่ ๑ ก็คือการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู

ถ้าบอกว่า พระเจ้าพิมพิสารไม่จำเป็น พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่จำเป็น พระเจ้าอชาตศัตรูก็ไม่จำเป็น สัจธรรมอยู่ที่ใจ ป่านนี้คำสอนของพระพุทธองค์อาจไม่มีมาถึงเราแล้วก็ได้

ส่วนที่เราจะฟังธรรม ศึกษาธรรม รู้ธรรม เราก็ต้องทำครับ เราไม่ทิ้ง ทิ้งไม่ได้ แต่การบริหารจัดการในทางสังคมก็ต้องมี ต้องทำด้วยเช่นกัน 

เพราะธรรมปรากฏที่ใจ 

ใจปรากฏที่คน 

คนปรากฏตัวอยู่ในสังคม 

พระพุทธพจน์ที่ตรัสเรื่อง ปฏิรูปเทสวาโส ย่อมช่วยยืนยันได้

เราจะรอให้ปฏิรูปเทสเกิดเองตามธรรมชาติ ที่ไหนไม่เป็นปฏิรูปเทส เราก็อพยพไปฟังธรรมศึกษาธรรมกันที่อื่น หรือว่าเราควรจะช่วยกันคิดอ่านทำบ้านเมืองที่เรามีอยู่แล้วและมีพระพุทธศาสนาอยู่แล้วนี่แหละให้ดำรงความเป็นปฏิรูปเทสเอาไว้ให้ยืนยาว

ใครทำอะไรได้ ในกรอบ ขอบเขต วิสัยของตน ต้องช่วยกันทำครับ ไม่ใช่เอาแต่บอกว่า ธรรมะอยู่ที่ใจ อย่างเดียว เมื่อทำอะไรตามหน้าที่อันจะพึงทำได้แล้ว เราก็รู้ว่าเราทำหน้าที่ของเราแล้ว

แม้การช่วยกันบอกกล่าวให้คนที่มีหน้าที่จะต้องทำ หรือคนที่มีความสามารถจะทำได้ ให้เขารู้ตัว และให้เขาทำหน้าที่ของเขา ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ของเราด้วย อะไรที่เราทำไม่ได้ เราก็รู้ทันว่าทำไม่ได้ แต่ไม่ใช่บอกตั้งแต่แรกไปเลยว่า ไม่ต้องทำอะไร เพราะธรรมะอยู่ที่ใจ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ 

๑๕:๕๕ 

……………………..

ผมบันทึกไว้ และแน่ใจว่ายังไม่เคยเอามาโพสต์ที่เฟซบุ๊กนี้ ก็เลยเอาโพสต์ให้อ่านกันไปพลางๆ ระหว่างรอ “คำวินิจฉัยของทองย้อย” กรณีพระเดินตามเสลี่ยง ซึ่งกำลังบรรจงเขียนอยู่ครับ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ 

๑๕:๓๗

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *