บาลีวันละคำ

สังฆาทิเสส (บาลีวันละคำ 3,066)

สังฆาทิเสส

13 ใน 227

ศีลของพระภิกษุที่มาในพระปาติโมกข์ ซึ่งพระต้องประชุมกันฟังทุกกึ่งเดือน มีจำนวนที่รู้ทั่วกันว่า “227 สิกขาบท” ดังที่มักพูดกันว่า “พระมีศีล 227”

ศีล 227 แบ่งเป็นกลุ่มหรือเป็นหมวดได้ดังนี้ –

(๑) ปาราชิก 4 สิกขาบท

(๒) สังฆาทิเสส 13 สิกขาบท

(๓) อนิยต 2 สิกขาบท

(๔) นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 สิกขาบท (เรียกสั้นว่า นิสสัคคีย์)

(๕) สุทธิกปาจิตตีย์ 92 สิกขาบท (เรียกสั้นว่า ปาจิตตีย์)

(๖) ปาฏิเทสนียะ 4 สิกขาบท

(๗) เสขิยะ หรือเสขิยวัตร 75 สิกขาบท

(๘) อธิกรณสมถะ 7 สิกขาบท

รวม 227 สิกขาบท

สังฆาทิเสส” เป็น 13 ใน 227

คำว่า “สังฆาทิเสส” อ่านว่า สัง-คา-ทิ-เสด แยกศัพท์เป็น สังฆ + อาทิ + เสส

(๑) “สังฆ

บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) (บาลีบางรุ่นสะกดเป็น “สํฆ” ก็มี) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น

: สํ > สงฺ + หนฺ > + = สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”

สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย

บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์

ในภาษาไทย คำว่า “สงฆ์” อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้

ในที่นี้ “สงฆ์” หมายถึง “ภิกขุสงฆ์” คือชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย

(๒) “อาทิ

รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + ทา (ธาตุ = ให้) + อิ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” (คือลบ อา ที่ ทา : ทา > )

: อา + ทา = อาทา > อาท + อิ = อาทิ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันเขาถือเอาทีแรก

หมายเหตุ : “อา” (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” เมื่อนำหน้า “ทา” ธาตุ ซึ่งมีความหมายว่า “ให้” เป็น “อาทา” จึงกลับความจาก “ให้” (give) เป็น “เอา” (take)

อาทิ” เป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง จุดเริ่มต้น, เบื้องแรก (starting-point, beginning)

อาทิ” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เบื้องต้น, ในชั้นแรก, อันที่หนึ่ง, ตัวการ, หัวหน้า (beginning, initially, first, principal, chief)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายความหมายของ “อาทิ” เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ไว้ว่า –

beginning with, being the first (of a series which either is supposed to be familiar in its constituents to the reader or hearer or is immediately intelligible from the context), i. e. and so on, so forth. (เริ่มด้วย, เป็นที่หนึ่ง (พูดถึงลำดับอะไรก็ได้ที่เป็นของคุ้นแก่ผู้อ่านหรือผู้ฟัง หรือพอเป็นที่เข้าใจได้จากบริบท), นั่นคือ- และอื่น ๆ, และต่อๆ ไป)

อาทิ” สันสกฤตก็เป็น “อาทิ” เช่นกัน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อาทิ : (คำคุณศัพท์) ต้น, ประถม, แรก; ก่อน; เปนเอก; อื่น; first, primary; prior; pre-eminent; other; – (วลี) และอื่นๆ; et cetera, and the rest, and so forth.”

อาทิ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

อาทิ : (คำนาม) ต้น ในคําว่า เป็นอาทิ, เป็นเบื้องต้น, ทีแรก, ข้อต้น. (ป., ส.).”

(๓) “เสส

บาลีอ่านว่า เส-สะ รากศัพท์มาจาก สิสฺ (ธาตุ = ประกอบไม่ทั้งหมด, ส่วนเหลือ) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ-(สฺ) เป็น เอ (สิสฺ > เสส)

: สิสฺ + = สิส > เสส แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ประกอบไม่ทั้งหมด

ขยายคำ : สิสฺ ธาตุ ท่านไขความว่า “อสพฺพยุชฺชเน” (อะ-สับ-พะ-ยุด-ชะ-เน) แปลว่า “ใช้ในความหมายว่าประกอบไม่ทั้งหมด” คือเอาสิ่งนั้นไปประกอบกับสิ่งอื่น แต่เอาไปประกอบไม่หมด ส่วนที่ไม่ได้เอาไปประกอบจึงเรียกว่า “เสส” คือ “ส่วนที่เหลือ”

เสส” ถ้าใช้เป็นคำนาม (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) หมายถึง ส่วนเหลือ (remainder) ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เศษ, ที่เหลือ (remaining, left)

การประสมคำ :

อาทิ + เสส = อาทิเสส แปลว่า “กิจเบื้องต้นและกิจที่เหลือ

สงฺฆ + อาทิเสส = สงฺฆาทิเสส (สัง-คา-ทิ-เส-สะ) แปลว่า “สงฆ์อันภิกษุพึงต้องการในกิจเบื้องต้นและกิจที่เหลือ” หมายถึง กลุ่มสิกขาบทที่ต้องใช้สงฆ์ในการกระบวนการที่จะทำให้พ้นจากอาบัติตั้งแต่ต้นไปจนกระทั่งสิ้นสุดกรรมวิธี นั่นคือ จะเพียงแต่ปลงอาบัติระหว่างภิกษุต่อภิกษุก็พ้นผิดเหมือนอาบัติธรรมดาหาได้ไม่

ที่มาของศัพท์ท่านกระจายคำให้เห็นความหมายชัดๆ ดังนี้ –

…………..

สงฺโฆ  อาทิมฺหิ  เจว  เสเส  จ  อิจฺฉิตพฺโพ  อสฺสาติ  สงฺฆาทิเสโส. (สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 597)

แปลว่า –

สงฆ์อันภิกษุพึงปรารถนาในกรรมเบื้องต้นและในกรรมที่เหลือแห่งกองอาบัตินั้น เหตุนั้นกองอาบัตินั้นจึงชื่อว่าสังฆาทิเสส.

…………..

สงฺโฆ” มาเป็น “สงฺฆ

อาทิมฺหิ  เจว” มาเป็น “อาทิ

เสเส  จ” มาเป็น “เสส

สงฺฆาทิเสส” เขียนแบบไทยเป็น “สังฆาทิเสส

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “สังฆาทิเสส” ไว้ดังนี้ –

…………..

สังฆาทิเสส : ชื่อหมวดอาบัติหนักรองจากปาราชิก ต้องอยู่กรรมจึงพ้นได้ คือเป็นครุกาบัติ (อาบัติหนัก) แต่ยังเป็นสเตกิจฉา (แก้ไขหรือเยียวยาได้); ตามศัพท์ สังฆาทิเสส แปลว่า “หมวดอาบัติอันจำปรารถนาสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ”, หมายความว่า วิธีการที่จะออกจากอาบัตินี้ ต้องอาศัยสงฆ์ ตั้งแต่ต้นไปจนตลอด กล่าวคือเริ่มต้นจะอยู่ปริวาส ก็ต้องขอปริวาสจากสงฆ์ ต่อจากนั้น จะประพฤติมานัตก็ต้องอาศัยสงฆ์เป็นผู้ให้ ถ้ามีมูลายปฏิกัสสนาก็ต้องสำเร็จด้วยสงฆ์อีก และท้ายที่สุดก็ต้องขออัพภานจากสงฆ์; สิกขาบทที่ภิกษุละเมิดแล้ว จะต้องอาบัติสังฆาทิเสส มี ๑๓ ข้อ คำว่า สังฆาทิเสส ใช้เป็นชื่อเรียกสิกขาบท ๑๓ ข้อนี้ด้วย

…………..

ศีลในกลุ่มสังฆาทิเสสมี 13 สิกขาบท เนื่องจากมีข้อความยืดยาว ขอนำข้อความจาก “นวโกวาท” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งพระภิกษุสามเณรท่องจำกันมาตั้งแต่เรียนนักธรรมชั้นตรี มาเสนอพอเป็นตัวอย่าง 5 สิกขาบท ส่วนที่เหลือ พึงแสวงหามาศึกษากันต่อไปเถิด

…………..

สังฆาทิเสส ๑๓

๑. ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส.

๒. ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง ต้องสังฆาทิเสส.

๓. ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดเกี้ยวหญิง ต้องสังฆาทิเสส.

๔. ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อให้หญิงบำเรอตนด้วยกาม ต้องสังฆาทิเสส.

๕. ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส.

ฯลฯ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีบาตรไม่โปรด

: มีโบสถ์ไม่ลง

: มีอาบัติไม่ปลง

เป็นสงฆ์อยู่ได้อย่างไร

(จากหนังสือมนต์พิธี)

#บาลีวันละคำ (3,066)

3-11-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย