บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ขออนุญาตขึ้นธรรมาสน์หน่อย

ขออนุญาตขึ้นธรรมาสน์หน่อย

—————————–

มีญาติมิตรท่านหนึ่งปรารภเชิงถามผมว่า –

… พรรคพวกกันเห็นว่า ดี-เลว ถูก-ผิด เป็นอนิจจัง แล้วแต่อารมณ์ของคน แต่ผมเห็นว่าเป็นนิจจัง ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงหากเป็นความดี-เลว ถูก-ผิด ที่แท้จริง 

ผมไม่มีปัญญาที่จักเข้าใจได้ โปรดอธิบาย …

…………….

คำอธิบายของผมเป็นดังนี้ –

ขอให้จับหลักที่สัจจะ ๒ อย่าง คือ – 

๑ สมมุติสัจจะ จริงตามที่ตกลงกันหรือตามความเข้าใจของคน 

๒ ปรมัตถสัจจะ จริงตามความเป็นจริง ไม่ว่าใครจะเข้าใจอย่างไรหรือเชื่ออย่างไร สิ่งนั้นก็คงเป็นจริงตามที่มันเป็น ไม่ขึ้นอยู่กับความเห็นหรือความเชื่อของใคร 

เช่นนรก-สวรรค์ 

ไม่ใช่ว่า-ใครเชื่อว่านรกสวรรค์มีจริง นรกสวรรค์ก็มีสำหรับคนนั้น ใครไม่เชื่อว่านรกสวรรค์มีจริง นรกสวรรค์ก็ไม่มีสำหรับคนนั้น 

ไม่ใช่เช่นนั้น 

ถ้านรกสวรรค์มีจริง ก็มีจริงตามที่มันมีมันเป็น ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อมันก็คงมีจริงอยู่เช่นนั้น

หรือ-เช่นชาติหน้า 

ไม่ใช่ว่า-ใครเชื่อว่าชาติหน้ามีจริง ชาติหน้าก็มีสำหรับคนนั้น ใครไม่เชื่อว่าชาติหน้ามีจริง ชาติหน้าก็ไม่มีสำหรับคนนั้น 

ไม่ใช่เช่นนั้น 

ถ้าชาติหน้ามีจริง ก็มีจริงตามที่มันมีมันเป็น ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อมันก็คงมีจริงอยู่เช่นนั้น

ปัญหาก็ยังมีอยู่อีกว่า แล้วจะรู้หรือตัดสินได้อย่างไรว่าอะไรมีจริงหรือไม่มีจริง 

ตรงนี้แหละที่พระพุทธศาสนาสอนว่า ให้พยายามทำความเห็นของเราให้ตรงกับความเป็นจริง อย่าเกณฑ์ความจริงให้ตรงกับความเห็น 

แต่ในระหว่างที่เรายังไม่รู้วิธีที่จะทำความเห็นให้ตรงกับความเป็นจริง ท่านก็แนะว่าให้ลองเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าดูก่อน แล้วทดลองปฏิบัติจนกว่าจะได้เห็นความจริงประจักษ์ด้วยตัวเอง 

เมื่อเห็นประจักษ์แล้ว ต่อจากนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อตามใคร-แม้แต่เชื่อตามพระพุทธเจ้านั่นเองก็ไม่ต้องเชื่อแล้ว เพราะเราเห็นประจักษ์เองแล้ว 

อุปมาเหมือนมีคนบอกเราว่า พริกเผ็ด ลองกินดูสิ 

เรากินก็รู้ว่าพริกเผ็ดจริง 

ที่รู้ว่าพริกเผ็ดจริงนี้ไม่ใช่รู้ตามที่มีคนบอก 

แต่รู้ตามที่เราได้ประจักษ์ด้วยตัวเอง

อะไรดีอะไรชั่ว 

อะไรจริงอะไรไม่จริง 

มีหลักพิจารณาดังว่ามานี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

๑๑:๑๗

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *