สัญนิยม (บาลีวันละคำ 3,494)
สัญนิยม
คำเพราะๆ อีกคำหนึ่งที่คนไม่รู้จัก
อ่านว่า สัน-ยะ-นิ-ยม
ประกอบขึ้นจากคำว่า สัญ + นิยม
(๑) “สัญ”
ตามหลักก็คือ “สํ” คำอุปสรรคในบาลี แปลว่า “พร้อมกัน, ร่วมกัน” แปลงนิคหิตเป็น ญฺ จึงเป็น “สญฺ” เขียนแบบไทยเป็น “สัญ”
แต่ในที่นี้ขออธิบายแบบ “ลากเข้าหาความ” คือสันนิษฐานว่า “สัญ” ตัดมาจาก “สญฺญา” (สัน-ยา) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ
: สํ > สญฺ + ญา = สญฺญา + กฺวิ = สญฺญากฺวิ > สญฺญา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องจำ”
“สญฺญา” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง คือ –
(1) ความรู้สึก, ความรับรู้, ความจำได้, ความหมายรู้ (sense, consciousness, perception)
(2) ความสังเกตจดจำ, ความสุขุม, ความตระหนัก (sense, perception, discernment, recognition)
(3) แนวความคิด, ความคิด, ความเข้าใจ (conception, idea, notion)
(4) สัญญาณ, กิริยาท่าทาง, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย (sign, gesture, token, mark)
(5) ความประทับใจที่เกิดจากความรู้สึกและการจำได้, ความรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่เหมือนกัน (เช่นเห็นคนหนึ่งแล้วนึกถึงอีกคนหนึ่ง) (sense impression and recognition)
ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สัญญา : (คำนาม) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ข้อตกลงระหว่างบุคคล ๒ ฝ่ายหรือหลายฝ่ายว่าจะกระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง; ข้อตกลงกัน, คำมั่น, เช่น เขาให้สัญญาว่าจะมาหาพรุ่งนี้; ความจํา เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (คำกริยา) ให้คํามั่น, รับปาก, ทําความตกลงกัน, เช่น แม่สัญญากับลูกว่าถ้าสอบได้ที่ ๑ จะให้รางวัล. (ป.).”
(๒) “นิยม”
บาลีอ่านว่า นิ-ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ยมุ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + อ ปัจจัย
: นิ + ยมฺ = นิยมฺ + อ = นิยม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ต้องกำหนดด้วยเวลาเป็นต้น” (คือ เหตุผลที่จะนำมาใช้เป็นข้อกำหนดมีหลายอย่าง หนึ่งในหลายอย่างนั้นคือกาลเวลา)
“นิยม” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) การสำรวม, การบังคับยับยั้ง, การฝึกฝน, การควบคุมตนเอง (restraint, constraint, training, self-control)
(2) การกำหนดแน่, ความแน่นอน, การจำกัด (definiteness, certainty, limitation)
(3) กฎธรรมชาติ, กฎของจักรวาล (natural law, cosmic order)
ความหมายของ “นิยม” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิยม : (คำแบบ) (คำนาม) การกำหนด. (ป., ส.). (คำกริยา) ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, ใช้ประกอบท้ายคำสมาสบางคำใช้เป็นชื่อลัทธิ เช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิสังคมนิยม.”
สัญญา + นิยม
ขั้นที่ 1 ใช้สูตรสมาสบาลี “ลบสระหน้า” หมายถึงลบสระท้ายที่ศัพท์หน้า คือ สัญญา ลบ อา = สัญญ
: สัญญา + นิยม = สัญญานิยม > สัญญนิยม
ขั้นที่ 2 ใช้หลักนิยมในภาษาไทยที่ให้ตัดตัวซ้อนในคำบาลีสันสกฤต ในที่นี้ “สัญญ” (ซึ่งคำเดิมคือ สัญญา) ญ เป็นตัวสะกด และมี ญ เป็นตัวซ้อนอีกตัวหนึ่ง ตัดตัวซ้อนออก สัญญ = สัญ แต่ยังคงอ่านว่า สัน-ยะ เนื่องจากมีคำมาสมาสข้างท้าย
: สัญญ + นิยม = สัญญนิยม > สัญนิยม อ่านว่า สัน-ยะ-นิ-ยม แปลตามศัพท์ว่า “ข้อกำหนดหมายที่รับรู้ร่วมกัน”
โปรดทราบว่า ที่อธิบายมานี้เป็นมติส่วนตัวของผู้เขียนบาลีวันละคำ ไม่รับรองว่าจะตรงกับรากศัพท์ที่ราชบัณฑิตยฯ มุ่งหมายในการบัญญัติคำนี้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สัญนิยม : (คำนาม) การปฏิบัติหรือธรรมเนียมทั่วไปที่ใช้กันอยู่ในกลุ่มสังคมในขณะนั้น เช่น การไหว้เป็นสัญนิยมอย่างหนึ่งของคนไทย การใช้ตะเกียบคีบอาหารเป็นสัญนิยมในการกินอาหารของคนจีน. (อ. convention).”
ขยายความ :
“สัญนิยม” เป็นศัพท์ที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า convention
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล convention เป็นไทยว่า
1. การประชุม
2. สัญญา, อนุสัญญา
3. ธรรมเนียม, ระเบียบแบบแผน
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล convention เป็นบาลี ดังนี้:
(1) sammuti สมฺมุติ (สำ-มุ-ติ) = ระเบียบแบบแผน, สิ่งที่ยอมรับทั่วๆ ไป
(2) sabhā สภา (สะ-พา) = ที่ประชุม, การประชุม
(3) niyojitaparisā นิโยชิตปริสา (นิ-โย-ชิ-ตะ-ปะ-ริ-สา) = กลุ่มชนที่ถูกจัดตั้งขึ้น
…………..
“สัญนิยม” เป็นคำที่คนทั่วไปน่าจะไม่รู้จัก คงมีแต่นักวิชาการหรือผู้ที่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับวิชาการบางสาขาเท่านั้นที่เอ่ยถึงในทางวิชาการ
ถ้าดูตามคำนิยามของพจนานุกรมฯ ที่ยกตัวอย่าง “การไหว้ของคนไทย” และ “การใช้ตะเกียบคีบอาหารของคนจีน” เราคงนึกถึงคำว่า “วัฒนธรรม” ที่คุ้นกันดีมากกว่าที่จะนึกถึงคำว่า “สัญนิยม”
ศัพท์บัญญัติในภาษาไทยมักตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ยังไม่เห็นข้อความที่เขียน อย่าเพิ่งตัดสินคำ
: ยังไม่เห็นงานที่ทำ อย่าเพิ่งตัดสินคน
#บาลีวันละคำ (3,494)
5-1-65
…………………………….