ประณีต (บาลีวันละคำ 2,364)
ประณีต ทำไมไม่เขียนว่า “ปราณีต”
คนส่วนมากยังเคยมือ เขียน “ประณีต” เป็น “ปราณีต”
“ประณีต” (ประ- สระ อะ) เป็นคำที่ถูกต้อง
“ปราณีต” (ปรา- สระ อา) เป็นคำที่เขียนผิด
“ประณีต” บาลีเป็น “ปณีต” อ่านว่า ปะ-นี-ตะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + นี (ธาตุ = ถึง, นำไป) + ต ปัจจัย, แปลง น ที่ นี เป็น ณ (นี > ณี)
: ป + นี = ปนี + ต = ปนีต > ปณีต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความเป็นประธาน” “สิ่งที่นำส่วนที่เด่นออกมา” หมายถึง ประณีต, ประเสริฐ, สูงสุด
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ปณีต” ที่ใช้ในบาลีไว้ 2 ความหมาย ดังนี้ –
(1) brought out or to, applied, executed; used with ref. to punishment (นำออกไปหรือนำไปสู่, ใช้, สำเร็จโทษ; ใช้เกี่ยวกับการลงโทษ)
(2) brought out or forth, (made) high, raised, exalted, lofty, excellent; with ref. to food (very often used in this sense) “heaped up, plentiful, abundant.” (นำออกมา, [ทำ] ให้สูง, ยกขึ้น, สูงส่ง, เลอเลิศ; เกี่ยวกับอาหาร [ใช้บ่อยมากในความหมายนี้] “มากมายก่ายกอง, บริบูรณ์, อุดมสมบูรณ์”)
ส่วนความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประณีต : (คำวิเศษณ์) ละเอียดลออ, เรียบร้อยงดงาม, เช่น ฝีมือประณีต ทําอย่างประณีต, ที่ปรุงอย่างสุดฝีมือด้วยของดี ๆ เช่น ปรุงอาหารอันประณีต. (ส. ปฺรณีต; ป. ปณีต).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “ประณีต” บาลีเป็น “ปณีต” สันสกฤตเป็น “ปฺรณีต”
จะเห็นได้ว่า “ประณีต” รูปคำเดิมในบาลีเป็น ป– และสันสกฤตเป็น ปฺร– ไม่ใช่ ปา– หรือ ปฺรา–
ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤต จึงต้องเขียนเป็น “ประณีต” (ประ- สระ อะ) ไม่ใช่ “ปราณีต” (ปรา- สระ อา)
ลองใช้วิธีจำเสียงบาลีไว้ก็น่าจะดี คือจำไว้ว่า ปะ-นี-ตะ ไม่ใช่ ปา-นี-ตะ อาจจะช่วยให้เขียนไม่ผิดได้ดีขึ้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
หน้าตาก็เหมือนลายมือ
นิสัยนั้นคือเขียนหนังสือถูก-ดี
รูปสวยก็ยังไม่พอ
รูปหล่อก็ยังไม่ใช่
นิสัยใจคอต้องได้
จึงจะใช่คนดี
นิสัยใจคอไม่มักง่าย
จึงจะใช่คนงาม-ดี
(รำวงบาลีวันละคำ)
#บาลีวันละคำ (2,364)
2-12-61