ปาฏิเทสนียะ (บาลีวันละคำ 3,075)
ปาฏิเทสนียะ
4 ใน 227
ศีลของพระภิกษุที่มาในพระปาติโมกข์ ซึ่งพระต้องประชุมกันฟังทุกกึ่งเดือน มีจำนวนที่รู้ทั่วกันว่า “227 สิกขาบท” ดังที่มักพูดกันว่า “พระมีศีล 227”
ศีล 227 แบ่งเป็นกลุ่มหรือเป็นหมวดได้ดังนี้ –
(๑) ปาราชิก 4 สิกขาบท
(๒) สังฆาทิเสส 13 สิกขาบท
(๓) อนิยต 2 สิกขาบท
(๔) นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 สิกขาบท (เรียกสั้นว่า นิสสัคคีย์)
(๕) สุทธิกปาจิตตีย์ 92 สิกขาบท (เรียกสั้นว่า ปาจิตตีย์)
(๖) ปาฏิเทสนียะ 4 สิกขาบท
(๗) เสขิยะ หรือเสขิยวัตร 75 สิกขาบท
(๘) อธิกรณสมถะ 7 สิกขาบท
รวม 227 สิกขาบท
“ปาฏิเทสนียะ” เป็น 4 ใน 227
คำว่า “ปาฏิเทสนียะ” เขียนแบบบาลีเป็น “ปาฏิเทสนีย” อ่านว่า ปา-ติ-เท-สะ-นี-ยะ ประกอบด้วยคำว่า ปฏิ + ทิสฺ + อนีย ปัจจัย
(๑) ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ปฏิ-” :
“ปฏิ-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค”
นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “ปฏิ : เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิ– : คําอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นําหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ เช่น ปฏิทิน, ตอบ เช่น ปฏิพากย์, ทวน เช่น ปฏิโลม, กลับ เช่น ปฏิวัติ. (ป.; ส. ปฺรติ).”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปฏิ-” ว่า back (to), against, towards, in opposition to, opposite (กลับ, ตอบ, เฉพาะ, มุ่งไปยัง, ตรงกันข้าม, กลับกัน)
(๒) ปฏิ + ทิสฺ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง, ชี้แจง) + อนีย ปัจจัย, ทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ ป-(ฎิ) เป็น อา (ปฏิ > ปาฏิ), แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส)
: ปฏิ + ทิสฺ = ปฏิทิสฺ + อนีย = ปฏิทิสนีย > ปฏิเทสนีย > ปาฏิเทสนีย แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันเขาพึงแสดงคืน” (an offence to be confessed)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาฏิเทสนีย” ว่า belonging to confession, [a sin] which ought to be confessed (เป็นเรื่องของการสารภาพ, [อาบัติ] ที่ควรแสดงคืน)
“ปาฏิเทสนีย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปาฏิเทสนียะ”
“ปาฏิเทสนียะ” เป็นกลุ่มสิกขาบท มี 4 สิกขาบท
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ปาฏิเทสนียะ” ไว้ดังนี้ –
…………..
ปาฏิเทสนียะ : “จะพึงแสดงคืน”, อาบัติที่จะพึงแสดงคืน เป็นชื่อลหุกาบัติ คืออาบัติเบาอย่างหนึ่งถัดรองมาจากปาจิตตีย์ และเป็นชื่อสิกขาบท ๔ ข้อซึ่งแปลได้ว่า พึงปรับด้วยอาบัติปาฏิเทสนียะ เช่น ภิกษุรับของเคี้ยวของฉัน จากมือของภิกษุณีที่มิใช่ญาติ ด้วยมือของตนมาบริโภค ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ.
…………..
หนังสือ “นวโกวาท” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งพระภิกษุสามเณรท่องจำกันมาตั้งแต่เรียนนักธรรมชั้นตรี แสดงไว้ดังนี้ –
…………..
ปาฏิเทสนียะ ๔
๑. ภิกษุรับของเคี้ยวของฉันแต่มือนางภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ด้วยมือของตนมาบริโภค ต้องปาฏิเทสนียะ
๒. ภิกษุฉันอยู่ในที่นิมนต์ ถ้ามีนางภิกษุณีมาสั่งทายกให้เอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ถวาย เธอพึงไล่นางภิกษุณีนั้นให้ถอยไปเสีย ถ้าไม่ไล่ ต้องปาฏิเทสนียะ
๓. ภิกษุไม่เป็นไข้ เขาไม่ได้นิมนต์ รับของเคี้ยวของฉันในตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสขะมาบริโภค ต้องปาฏิเทสนียะ
๔. ภิกษุอยู่ในเสนาสนะป่าเป็นที่เปลี่ยว ไม่เป็นไข้ รับของเคี้ยวของฉันที่ทายกไม่ได้แจ้งความให้ทราบก่อน ด้วยมือของตนมาบริโภค ต้องปาฏิเทสนียะ
…………..
ข้อสังเกต:
สิกขาบทที่เป็นอาบัติเบา เมื่อภิกษุละเมิด จะพ้นจากอาบัติได้ต้อง “แสดงอาบัติ” คือเปิดเผยความผิดให้ภิกษุด้วยกันทราบ แต่ไฉนอาบัติในสิกขาบทกลุ่มนี้จึงมีชื่อว่า “ปาฏิเทสนียะ” (แปลว่า “พึงแสดงคืน”) อยู่กลุ่มเดียวในเมื่ออาบัติเบาทุกชนิดเป็นสิ่งที่ “พึงแสดงคืน” ด้วยกันทั้งสิ้น
เมื่อตรวจดูสำนวนในพระบาลีจึงได้พบคำตอบ นั่นคือ สิกขาบทกลุ่มอื่นๆ เมื่อบรรยายความผิดจบแล้วก็จะบอกว่า ต้องอาบัติอะไร ความจบลงแค่นั้น แต่สิกขาบทในกลุ่ม “ปาฏิเทสนียะ” เมื่อบรรยายความผิดจบแล้ว มีข้อความลงท้ายเหมือนกันทั้ง 4 สิกขาบทว่า –
…………..
คารยฺหํ อาวุโส ธมฺมํ อาปชฺชึ อสปฺปายํ ปาฏิเทสนียํ ตํ ปฏิเทเสมีติ.
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าละเมิดธรรมที่น่าตำหนิ ไม่สมควรกระทำ จำจะต้องแสดงคืน (คือประกาศให้รู้) ข้าพเจ้าขอแสดงคืนความผิดนั้น
…………..
ดังนั้น ท่านจึงเอาคำว่า “ปาฏิเทสนียํ” (จำจะต้องแสดงคืน) ซึ่งมีความหมายในทางแนะนำวิธีปฏิบัติเมื่อกระทำผิด ในข้อความท่อนท้ายนี่เองมาเป็นชื่อสิกขาบทกลุ่มนี้และเป็นชื่ออาบัติด้วย
ไม่พึงเข้าใจไปว่า อาบัติเบาในกลุ่มอื่นไม่ต้องแสดงคืน แสดงคืนเฉพาะอาบัติในกลุ่ม “ปาฏิเทสนียะ” อย่างเดียว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แค่ยอมรับว่าผิด
: ก็เป็นบัณฑิตทันที
#บาลีวันละคำ (3,075)
12-11-63