เอกาธิปเตยฺยํ วินสฺสตุ (บาลีวันละคำ 3,077)
เอกาธิปเตยฺยํ วินสฺสตุ
ปชาธิปเตยฺยํ อภิวฑฺฒตุ
บาลีไทย
(๑) “เอกาธิปเตยฺยํ วินสฺสตุ” อ่านว่า เอ-กา-ทิ-ปะ-เตย-ยัง วิ-นัด-สะ-ตุ
(1) “เอกาธิปเตยฺยํ” ประกอบด้วย เอก + อาธิปเตยฺยํ
(ก) “เอก” บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก
: อิ > เอ + ณฺวุ = เอณฺวุ > เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน”
“เอก” ในบาลีใช้ใน 2 สถานะ คือ :
(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”
(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
“เอก” หมายถึง หนึ่ง, หนึ่งเดียว, ดีที่สุด
(ข) “อาธิปเตยฺยํ” รูปคำเดิมเป็น “อาธิปเตยฺย” (อา-ทิ-ปะ-เตย-ยะ) รากศัพท์มาจาก อธิปติ + ณฺย ปัจจัย
“อธิปติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ผู้ปกครอง, เจ้าใหญ่ (ruler, master)
(2) ครอบครอง, ปกครอง, มีอำนาจเหนือ; อยู่ใต้อำนาจ หรือปกครองโดย- (ruling over, governing, predominant; ruled or governed by)
อธิปติ + ณฺย ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ อ-(ธิ) เป็น อา (อธิ > อาธิ), ลบ ณฺ ที่ ณฺย ปัจจัย, ซ้อน ยฺ ระหว่างศัพท์กับปัจจัย (-ปติ + ยฺ + ณฺย), แปลง อิ ที่ (ป)-ติ เป็น เอ (-ปติ > –ปเต)
: อธิปติ + ณฺย = อธิปติณฺย > อาธิปติณฺย > อาธิปติย > อาธิปติยฺย > อาธิปเตยฺย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้เป็นใหญ่ยิ่ง” หมายถึง อำนาจอธิปไตย, ความเป็นใหญ่, ความเป็นเอกราช, อำนาจ (supreme rule, lordship, sovereignty, power)
“อาธิปเตยฺย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อธิปไตย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อธิปไตย : (คำนาม) อํานาจสูงสุดของรัฐที่จะใช้บังคับบัญชาภายในอาณาเขตของตน. (ป. อธิปเตยฺย ว่า ความเป็นใหญ่ยิ่ง). (อ. sovereignty).”
เอก + อาธิปเตยฺย = เอกาธิปเตยฺย แปลว่า “ความมีบุคคลผู้เดียวเป็นใหญ่”
“เอกาธิปเตยฺย” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “เอกาธิปเตยฺยํ”
(2) “วินสฺสตุ” เป็นคำกริยาอาขยาต กัตตุวาจก ปฐมบุรุษ (ประธานเป็นผู้ที่เราพูดถึง ในที่นี้คือ “เอกาธิปเตยฺยํ”) เอกพจน์ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นสฺ (ธาตุ = พินาศ, อันตรธาน) + ย ปัจจัย + ตุ ปัญจมีวิภัตติ, แปลง สฺ ที่สุดธาตุกับ ย เป็น สฺส
: วิ + นสฺ = วินสฺ + ย = วินสฺย + ตุ = วินสฺยตุ > วินสฺสตุ แปลตามศัพท์ว่า “(อันว่าเอกาธิปไตย, อันว่าสิ่งนั้น, อันว่าเขา ฯลฯ) จงพินาศไป”
“เอกาธิปเตยฺยํ วินสฺสตุ” แปลตามประสงค์ว่า “เอกาธิปไตยจงพินาศ”
(๒) “ปชาธิปเตยฺยํ อภิวฑฺฒตุ” อ่านว่า ปะ-ชา-ทิ-ปะ-เตย-ยัง อะ-พิ-วัด-ทะ-ตุ
(1) “ปชาธิปเตยฺยํ” ประกอบด้วย ปชา + อาธิปเตยฺยํ
(ก) “ปชา” (ปะ-ชา) รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน) + ชนฺ (ธาตุ ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ น ที่สุดธาตุ และ กฺวิ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ป + ชนฺ + กฺวิ = ปชนกฺวิ > ปชน > ปช + อา = ปชา (อิตถีลิงค์)
“ปชา” นักเรียนบาลีมักแปลกันว่า “หมู่สัตว์” ทำให้ผู้ไม่คุ้นสำนวนบาลีเข้าใจไปว่าหมายถึงหมู่สัตว์เดรัจฉาน แต่ความจริงหมายถึง “หมู่คน” – (ดูความหมายของคำว่า “สัตว์” ที่คำว่า สตฺต บาลีวันละคำ (212) 6-12-55)
“ปชา” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดมาต่างกันไป” ซึ่งเป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะท่านว่าผู้คนแม้จะมีจำนวนเป็นพันล้านก็ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่คนเดียว
“ปชา” หมายถึง คน, ผู้คน, รุ่นของคน, ผู้สืบตระกูล, ลูกหลาน, สัตว์โลก, มนุษยชาติ (progeny, offspring, generation, beings, men, world, mankind)
บาลีเป็น “ปชา” สันสกฤตเป็น “ปฺรชา” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประชา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประชา : (คำนาม) หมู่คน เช่น ปวงประชา. (ส. ปฺรชา; ป. ปชา).”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรชา : (คำนาม) ‘ประชา,’ สันตติ, บุตร์หรือสุดา; ราษฎร, ประชาชนทั่วไป; progeny, offspring; people, subjects.”
(ข) “อาธิปเตยฺยํ” ดูคำข้างต้น
ปชา + อาธิปเตยฺย = ปชาธิปเตยฺย แปลว่า “ความมีประชาชนเป็นใหญ่”
“ปชาธิปเตยฺย” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปชาธิปเตยฺยํ”
(2) “อภิวฑฺฒตุ” เป็นคำกริยาอาขยาต กัตตุวาจก ปฐมบุรุษ (ประธานเป็นผู้ที่เราพูดถึง ในที่นี้คือ “ปชาธิปเตยฺยํ”) เอกพจน์ รากศัพท์มาจาก อภิ (คำอุปสรรค = เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน) + วฑฺฒฺ (ธาตุ = เจริญ) + อ (อะ) ปัจจัย + ตุ ปัญจมีวิภัตติ
: อภิ + วฑฺฒฺ = อภิวฑฺฒฺ + อ = อภิวฑฺฒ + ตุ = อภิวฑฺฒตุ แปลตามศัพท์ว่า “(อันว่าประชาธิปไตย, อันว่าสิ่งนั้น, อันว่าเขา ฯลฯ) จงเจริญยิ่ง”
“ปชาธิปเตยฺยํ อภิวฑฺฒตุ” แปลตามประสงค์ว่า “ประชาธิปไตยจงเจริญยิ่ง”
อภิปรายขยายความ :
“เอกาธิปเตยฺย” และ “ปชาธิปเตยฺย” เป็นคำบาลีที่ผูกศัพท์ขึ้นเทียบคำว่า “เอกาธิปไตย” และ “ประชาธิปไตย” ที่ใช้ในภาษาไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) เอกาธิปไตย : (คำนาม) ระบอบการปกครองโดยคนคนเดียว. (อ. monocracy).
(2) ประชาธิปไตย : (คำนาม) ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่, การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่. (ส. ปฺรชา + ป. อธิปเตยฺย).
ในคัมภีร์บาลียังไม่พบคำว่า “เอกาธิปเตยฺย” และ “ปชาธิปเตยฺย” แต่ความหมายของคำ 2 คำนี้สามารถเทียบได้กับหลักธรรมชุด “อธิปไตย 3” ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา
ขอนำ “อธิปไตย 3” ที่แสดงไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [125] มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นองค์ความรู้
…………..
อธิปไตย 3 (ความเป็นใหญ่, ภาวะที่ถือเอาเป็นใหญ่ — Adhipateyya: dominant influence; supremacy)
1. อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่, ถือตนเป็นใหญ่, กระทำการด้วยปรารภตนเป็นประมาณ — Attādhipateyya: supremacy of self; self-dependence)
2. โลกาธิปไตย (ความมีโลกเป็นใหญ่, ถือโลกเป็นใหญ่, กระทำการด้วยปรารภนิยมของโลกเป็นประมาณ — Lokādhipateyya: supremacy of the world or public opinion)
3. ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่, ถือธรรมเป็นใหญ่, กระทำการด้วยปรารภความถูกต้อง เป็นจริง สมควรตามธรรม เป็นประมาณ — Dhammādhipateyya: supremacy of the Dhamma or righteousness; rule of the Dhamma; rule of the true law)
ผู้เป็นอัตตาธิปก พึงใช้สติให้มาก; ผู้เป็นโลกาธิปก พึงมีปัญญาครองตน และรู้พินิจ; ผู้เป็นธรรมาธิปก พึงประพฤติให้ถูกหลักธรรม; ผู้เป็นหัวหน้าหมู่เป็นนักปกครอง พึงถือธรรมาธิปไตย.
…………..
“เอกาธิปเตยฺย” เทียบได้กับ “อัตตาธิปไตย”
“ปชาธิปเตยฺย” เทียบได้กับ “โลกาธิปไตย”
โปรดสังเกตว่า ในคัมภีร์ท่านไม่ได้แช่งอัตตาธิปไตย (เอกาธิปไตย) ให้พินาศ และไม่ได้เชิดชูโลกาธิปไตย (ประชาธิปไตย) ให้เจริญ (ไม่เหยียบฝ่ายหนึ่ง ยกอีกฝ่ายหนึ่ง) แต่ท่านแนะว่า หากจะต้องใช้อัตตาธิปไตย ก็ขอให้มีสติให้มาก และหากจะต้องใช้โลกาธิปไตย ก็พึงมีปัญญาครองตนและรู้พินิจ แต่ลงท้ายท่านก็บอกว่า ผู้เป็นหัวหน้าหมู่เป็นนักปกครองพึงถือธรรมาธิปไตย
น่าสังเกตว่า ผู้คิดคำบาลีนี้ไม่ได้สนใจ “ธัมมาธิปไตย”
ถ้าใช้หลักวรรณคดีบาลีเข้าจับ คำว่า “เอกาธิปเตยฺยํ” และ “ปชาธิปเตยฺยํ” ก็ตรงกับที่ท่านเรียกว่า “บาลีไทย” คือรูปคำเป็นภาษาบาลี แต่อรรถรสของคำเป็นภาษาไทย
ถ้าจะเข้าใจง่ายขึ้น ขอเทียบกับคำทักทายในภาษาไทยที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เราทักกันว่า “สวัสดี”
ถ้าให้นักเรียนบาลีแต่งคำทักทายเป็นภาษาบาลี นักเรียนใช้คำว่า “โสตฺถิ” (โสด-ถิ) หรือ “สุวตฺถิ” (สุ-วัด-ถิ) ก็ตรงกับคำว่า “สวัสดี” ตามธรรมเนียมการทักทายในภาษาไทย
แต่ในภาษาบาลี ธรรมเนียมการทักทายไม่ได้ใช้คำว่า “โสตฺถิ” หรือ “สุวตฺถิ” หากแต่ใช้คำว่า “ขมนียํ” (ขะ-มะ-นี-ยัง) หรือ “ยาปนียํ” (ยาปะ-นี-ยัง) หรือใช้ควบกันเป็น “ขมนียํ ยาปนียํ”
“ขมนียํ” แปลตามศัพท์ว่า “ยังพอทนได้หรือ?”
“ยาปนียํ” แปลตามศัพท์ว่า “ยังพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้อยู่หรือ?”
“เอกาธิปเตยฺยํ” และ “ปชาธิปเตยฺยํ” จึงไม่ใช่บาลีแท้ แต่เป็น “บาลีไทย” หรือบาลีเทียม ด้วยประการฉะนี้
นักเรียนบาลีระดับ “นักเลงบาลี” เมื่อได้เห็น “บาลีไทย” เช่นนี้ ย่อมแย้มสรวลเป็นที่ครึกครื้นกันทั่วไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เรื่องของตัวเองก็ยังเบลอๆ
: แล้วยังคิดจะโกอินเตอร์กันอยู่อีกฤๅ
—————
(ตามคำขอของท่านผู้ใช้นามว่า ม่านแก้ว ราชาวดี)
#บาลีวันละคำ (3,077)
14-11-63