อุปโลกน์ – อปโลกน์ (บาลีวันละคำ 2,699)
อุปโลกน์ – อปโลกน์
ต่างกันโดยพยัญชนะ เหมือนกันโดยอรรถ
เมื่อวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ผู้เขียนบาลีวันละคำไปร่วมอนุโมทนาบุญกฐินที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี เมื่อถึงเวลาถวายผ้ากฐิน ผู้ทำหน้าที่โฆษกในงานได้ประกาศว่า
…………..
… ประเคนพระรูปไหนก็ได้ ให้ผ้าตกเป็นของสงฆ์ก่อน เดี๋ยวพระท่านจะ อะ-ปะ-โหฺลก กันเองว่าจะยกให้รูปไหน … กฐินเรียกว่า อะ-ปะ-โหฺลก ถวายสังฆทานเรียกว่า อุ-ปะ-โหฺลก
…………..
จึงได้ความรู้ว่า เดี๋ยวนี้มีผู้เข้าใจว่า อะ-ปะ-โหฺลก กับ อุ-ปะ-โหฺลก ใช้ต่างกัน
กฐินเรียกว่า อะ-ปะ-โหฺลก
ถวายสังฆทานเรียกว่า อุ-ปะ-โหฺลก
ความจริงเป็นอย่างไร?
“อุ-ปะ-โหฺลก” “อะ-ปะ-โหฺลก” นี้เขียนเป็นคำอ่าน ออกเสียงอย่างนี้
“อุ-ปะ-โหฺลก” รูปศัพท์จริงๆ เขียนว่า “อุปโลกน์”
“อะ-ปะ-โหฺลก” รูปศัพท์จริงๆ เขียนว่า “อปโลกน์”
ทั้ง 2 คำนี้เป็นรูปคำบาลี แต่ควรทราบด้วยว่า ในบาลีมีแต่ “อปโลกน์” ไม่มี “อุปโลกน์”
“อุปโลกน์” เป็นคำที่พูดเพี้ยนเขียนผิดมาจาก “อปโลกน์” กล่าวอีกนัยหนึ่ง “อปโลกน์” นั่นเองไทยเราเอามาพูดเพี้ยนเป็น “อุปโลกน์”
คำนี้บาลีสะกดเป็น “อปโลกน” อ่านว่า อะ-ปะ-โล-กะ-นะ รากศัพท์มาจาก อป (คำอุปสรรค = ปราศจาก, หลีกออก) + โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ดู, แลดู) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อป + โลกฺ = อปโลกฺ + ยุ > อน = อปโลกน แปลตามศัพท์ว่า “การมองออกไป” หมายถึง การขออนุญาต, การบอกลา; คำปรึกษาหารือ (permission, leave; consultation)
“อปโลกน” ออกจากคำกริยาว่า “อปโลเกติ” (อะ-ปะ-โล-เก-ติ)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อปโลเกติ” ไว้ดังนี้ –
(1) to look ahead, to look before, to be cautious, to look after (แลดู, มองดูข้างหน้า, ระมัดระวัง, ดูแล)
(2) to look up to, to obtain permission from; to get leave, to give notice of (บอกลา, ได้รับอนุญาต; ได้รับอนุมัติ, ประกาศให้ทราบ)
“อปโลกน” ที่พระสงฆ์ท่านกล่าวในเวลามีผู้ถวายทานแก่สงฆ์ ท่านเรียกว่า “อปโลกนกมฺม” (อะ-ปะ-โล-กะ-นะ-กำ-มะ) เขียนแบบไทยเป็น “อปโลกนกรรม” (อะ-ปะ-โล-กะ-นะ-กำ)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “อปโลกนกรรม” ไว้ดังนี้ –
“อปโลกนกรรม : กรรมคือการบอกเล่า, กรรมอันทำด้วยการบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้ง ญัตติ คือคำเผดียง ไม่ต้องสวด อนุสาวนา คือประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์ เช่นประกาศลงพรหมทัณฑ์ นาสนะสามเณรผู้กล่าวตู่พระพุทธเจ้า อปโลกน์แจกอาหารในโรงฉัน เป็นต้น.”
มีคำที่ควรทำความเข้าใจเพิ่มเติม คือ –
(๑) “ญัตติ” หมายถึง คำแจ้งหรือตั้งเรื่องเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา ตกลง วินิจฉัย หรือดำเนินการ อปโลกนกรรมไม่ต้องตั้งญัตติที่ว่านี้
(๒) “อนุสาวนา” หมายถึง คำขอมติ เป็นกรรมวาจาที่ต่อจากญัตติ คือเมื่อตั้งญัตติแล้ว จึงประกาศขอมติ ใจความของอนุสาวนาก็คือ “ถ้าไม่เห็นด้วย ขอให้พูดออกมา ถ้าเห็นด้วย ขอให้นิ่ง” อปโลกนกรรมไม่ต้องมีคำขอมติที่ว่านี้
สรุปลักษณะของ “อปโลกนกรรม” ก็คือ แจ้งให้ทราบและดำเนินการตามที่แจ้งต่อไป โดยไม่มีการขอมติหรือลงมติ
“อปโลกนกรรม” เป็นสังฆกรรมชนิดหนึ่ง ปกติสังฆกรรมจะต้องทำในเขตสีมาหรือที่เรารู้กันว่าทำในโบสถ์ เช่น อุปสมบทกรรม (บวชพระ) อุโบสถกรรม (ประชุมฟังพระปาติโมกข์) แต่อปโลกนกรรมนี้สามารถทำได้ทุกที่ เพียงแต่ต้องมีภิกษุครบองค์สงฆ์คือตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “อปโลกน์” และ “อุปโลกน์” บอกไว้ว่า –
(1) อปโลกน์ ๑, อุปโลกน์ : (คำกริยา) ยกกันขึ้นไป เช่น อุปโลกน์ให้เป็นหัวหน้า. (ป. อปโลกน).
(2) อปโลกน์ ๒ : (คำวิเศษณ์) ที่บอกเล่า เช่น คําอปโลกน์. (ป. อปโลกน).
โปรดสังเกตว่า ในภาษาไทย “อุปโลกน์” (อุ-ปะ-โหฺลก, อุบ-ปะ-โหฺลก) ใช้เฉพาะในความหมายว่า “ยกกันขึ้นไป” เท่านั้น เช่น อุปโลกน์ให้เป็นหัวหน้า
ถ้าหมายถึง “การแจ้งให้ทราบและดำเนินการตามที่แจ้งต่อไป” เช่น แจ้งเรื่องแจกอาหาร หรือยกผ้ากฐินให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ท่านให้ใช้ว่า “อปโลกน์” ( = ที่บอกเล่า) ไม่ใช่ “อุปโลกน์”
เพราะฉะนั้น โดยนัยนี้ แจ้งเรื่องยกผ้ากฐินให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เรียกว่า “อปโลกน์” แจ้งเรื่องแจกอาหารในเวลามีผู้ถวายสังฆทาน ก็เรียกว่า “อปโลกน์” เช่นกัน
ไม่ใช่ –
“กฐินเรียกว่า อะ-ปะ-โหฺลก (อปโลกน์)
ถวายสังฆทานเรียกว่า อุ-ปะ-โหฺลก (อุปโลกน์)”
ดังที่ผู้ทำหน้าที่โฆษกในงานกฐินดังกล่าวข้างต้นได้ประกาศเสมือนเป็นหลักการออกมา
ดูเพิ่มเติม:
“อปโลกน” บาลีวันละคำ (57) 30-6-55
“อปโลกน์” บาลีวันละคำ (1,990) 23-11-60
…………..
ดูก่อนภราดา!
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
: ถ้าเรียนให้รู้และรู้ให้ทัน
: ก็ไม่ต้องไปทะเลาะกันหรือขัดคอใคร
#บาลีวันละคำ (2,699)
2-11-62