บาลีวันละคำ

อนุโมทนา / อนุโมทามิ (บาลีวันละคำ 55)

อนุโมทนา / อนุโมทามิ

อ่านว่า อะ-นุ-โม-ทะ-นา / อะ-นุ-โม-ทา-มิ

อนุโมทนา” ประกอบด้วย อนุ + มุท + ยุ

อนุ” แปลว่า ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ

มุท” เป็นธาตุ (= รากศัพท์) แปลว่า ยินดี, ชื่นชม

ยุ” เป็นปัจจัย (บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย) แปลว่า การ-, ความ-

อนุ + มุท + ยุ ควรจะได้รูปศัพท์เป็น “อนุมุทยุ” แต่กฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ยังไม่จบแค่นั้น

ท่านว่าให้แปลง มุท เป็น โมท = อนุ + โมท แล้วแปลง ยุ เป็น “อน” (อะ-นะ) = อนุ + โมท + อน ( ที่ อน ไม่มีรูป) = อนุโมทน แล้วทำเสียงให้ยาวเป็นอิตถีลิงค์ (= คำที่สมมุติว่าเป็นเพศหญิง) อนุโมทน จึงเป็น “อนุโมทนา

อนุโมทนา” แปลว่า –

(1) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น”

(2) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่รู้หรือเห็นคนอื่นทำความดี”

(3) “เรื่องดีๆ เกิดขึ้นก่อน รู้สึกชื่นชมยินดีตามหลังมา”

(4) “การชื่นชมยินดีอยู่เสมอๆ เมื่อเห็นคนทำดี”

ส่วน “อนุโมทามิ” เป็นคำกริยา (verb) ประกอบด้วย อนุ + มุท + มิ = อนุโมทามิ แปลตามตัวว่า “ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีด้วย” (เฉพาะ I am … เท่านั้น) มีความหมายเช่นเดียวกับ อนุโมทนา

อนุโมทนา” หรือไม่ก็ “อนุโมทามิ” (ต่อด้วย “สาธุ” ก็ยิ่งดี)

ไม่ใช่ “อนุโมทนามิ” ระวังอย่าพูดผิด

บาลีวันละคำ (55)

28-6-55

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย