บาลีวันละคำ

มรรควิธี หรือ มรรควิถี (บาลีวันละคำ 1,707)

มรรควิธี หรือ มรรควิถี

ยังไม่มีกรรมการตัดสิน

อ่านตามหลักว่า มัก-คะ-วิ-ที / มัก-คะ-วิ-ถี

มีศัพท์ 3 คำ คือ 1 มรรค 2 วิธี 3 วิถี

(๑) “มรรค

บาลีเป็น “มคฺค” (มัก-คะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มคฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง; แสวงหา) + ปัจจัย

: มคฺค + = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทางเป็นเครื่องไปสู่ที่ต้องการได้โดยตรง” (2) “ที่อันพวกคนเดินทางแสวงหา” (3) “ธรรมที่ยังบุคคลให้ถึงพระนิพพาน” (4) “ทางอันผู้ต้องการพระนิพพานดำเนินไป

(2) มชฺชฺ (ธาตุ = สะอาด, หมดจด) + ปัจจัย, ลบ , แปลง ชฺชฺ ที่ (ม)-ชฺชฺ เป็น คฺค

: มชฺช + = มชฺชณ > มชฺช > มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่สะอาดโดยพวกคนเดินทาง

(3) (นิพพาน) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย, ซ้อน คฺ ระหว่าง + คมฺ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คมฺ > )

: + คฺ + คมฺ = มคฺคม > มคฺค + = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน

(4) (กิเลเส มาเรติ = ฆ่ากิเลส) + (คจฺฉติ = ไป), ซ้อน คฺ

: + คฺ + = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “วิธีที่ไปฆ่ากิเลส

มคฺค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ถนน, ถนนใหญ่, ทาง, ทางเท้า (a road, high road, way, foot-path)

(2) ทางแห่งศีลธรรมและสัมมาชีพ, สัมมามรรคหรือทางที่ชอบธรรม (the road of moral & good living, the path of righteousness) คือมรรคในอริยสัจสี่

(3) ขั้นตอนของการบรรลุธรรม (Stage of righteousness) คือมรรคที่คู่กับผล

มคฺค” ในบาลี เป็น “มารฺค” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

มารฺค : (คำนาม) ถนน, ทาง; a road, a path or way.”

(๒) “วิธี

บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: วิ + ธา > = วิธ + อิ = วิธิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ

วิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);

(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);

(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)

วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.

(2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.

(3) กฎ, เกณฑ์.

(4) คติ, ธรรมเนียม.

(๓) “วิถี

บาลีเป็น “วีถิ” (โปรดสังเกต ไทยกับบาลีสลับสระกัน ไทย-วิถี บาลี-วีถิ) รากศัพท์มาจาก วี (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ถิ ปัจจัย

: วี + ถิ = วีถิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ดำเนินไป” หมายถึง ถนน, หนทาง, วิถี, ทางเดิน, รอยทาง (street, way, road, path, track)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิถี : (คำนาม) สาย, แนว, ถนน, ทาง, มักใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น วิถีทาง วิถีชีวิต บาทวิถี. (ป., ส. วีถิ).”

ประสมคำ :

มรรค + วิธี = มรรควิธี แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทางและวิธี” (2) “วิธีแห่งทาง” (3) “วิธี (ดำเนินตาม) ทาง

มรรค + วิถี = มรรควิถี แปลตามศัพท์ว่า (1) “มรรคและวิถี” (2) “ทางและวิถี

…………..

อภิปราย :

ดูตามสื่อต่างๆ มีใช้กันทั้ง “มรรควิธี” และ “มรรควิถี” และผู้ใช้ก็ไม่ได้แสดงความแตกต่างระหว่างคำทั้งสอง แต่ใช้ในลักษณะพอใจคำไหนก็ใช้คำนั้น ราวกับว่าใช้ในความหมายเดียวกันได้ทั้งสองคำ

ในภาษาไทยมีคำพูดว่า “วิถีทาง” ซึ่งเป็นคำซ้ำความหมาย คือมีความหมายอย่างเดียว แต่ใช้คำซ้อนกัน 2 คำ ในภาษาไทยมีคำในลักษณะเช่นนี้อยู่มาก บางทีซ้อนกันมากกว่า 2 คำ เช่น เสื่อสาดอาสนะ ถนนหนทางมารควิถี

วิถี” กับ “ทาง” มีความหมายอย่างเดียวกัน คำว่า “ทาง” ถ้าแปลเป็นบาลีก็คือ “มคฺค” หรือ “มรรค

มรรค” ก็คือ “วิถี” “วิถี” ก็คือ “มรรค” ดูคำแปลเป็นอังกฤษว่า way ก็เห็นได้ชัด

เข้าใจว่า “วิถีทาง” นั่นเองที่ถูกแปลงศัพท์เป็น “มรรควิถี” แต่มีคนฟังเป็น “มรรควิธี” เพราะ “-วิถี” กับ “-วิธี” เสียงใกล้กัน

พยานในเรื่องนี้ก็คือคำว่า “ชีวสิทฺธี” (ชี-วะ-สิด-ที) ในคำว่า “ชีวสิทฺธี ภวนฺตุ เต = ความสำเร็จในชีวิตจงมีแก่ท่าน” เดี๋ยวนี้พระไทยเกือบจะทั้งประเทศสวดเป็น ชี-วะ-สิด-ถี กันหมดแล้ว

เมื่อฟังเป็น “-วิธี” ก็ไปเข้าทางคำอังกฤษว่า method ซึ่งมีคำแปลว่า “วิธี” แล้วก็เลยเสริมคำแปล method จาก “วิธี” ธรรมดา เป็น “มรรควิธี” เสียเลย

คำว่า methodology ก็จึงมีผู้แปลเป็นไทยว่า “มรรควิธีวิทยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยังไม่ได้เก็บคำ “มรรควิธี” หรือ “มรรควิถี” ไว้ จึงยังไม่มีใครตัดสินได้ว่า ที่มีผู้ใช้คำว่า “มรรควิธี” บ้าง และ “มรรควิถี” บ้างนั้น ผู้ใช้มีเจตนาจะให้มีความหมายอย่างไร ความหมายนั้นต่างกันหรือเหมือนกัน และควรจะใช้คำไหนจึงจะถูกต้อง หรือจะว่าถูกต้องทั้งสองคำ?

หวังใจว่า ภายในชาตินี้คงมีคำตอบ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เป้าหมายสำคัญ ไม่ต้องเถียงกันว่าไปได้กี่วิธี

: แต่ควรเถียงกันว่าเป็นเป้าหมายที่ดีและควรไปหรือเปล่า

5-2-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย