บาลีวันละคำ

โคธา (บาลีวันละคำ 3,078)

โคธา

อันว่าเหี้ย

อ่านว่า โค-ทา

โคธา” รากศัพท์มาจาก คุธฺ (ธาตุ = โกรธ) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อุ ที่ คุ-(ธฺ) เป็น โอ (คุธฺ > โคธ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คุธฺ + = คุธ > โคธ + อา = โคธา แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ชอบโกรธ

โคธา” นักเรียนบาลีแปลกันว่า เหี้ย หรือตะกวด

บาลี “โคธา” สันสกฤตเป็น “โคธา” และ “เคาธาร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

โคธา, เคาธาร : (คำนาม) จะกวด, สัตว์สี่เท้าจำพวกเหี้ย; an iguana.”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โคธา” ว่า iguana, a large kind of lizard (เหี้ย, สัตว์เลื้อยคลานตัวใหญ่ชนิดหนึ่ง)

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล iguana เป็นบาลีว่า: godhā โคธา.

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล iguana เป็นไทยว่า ตัวอิกวา-นะ สัตว์จำพวกเหี้ย

และแปล “เหี้ย” เป็นอังกฤษว่า the monitor lizard or water lizard, genus Varanus.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “โคธา” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

โคธา : (คำแบบ) (คำนาม) เหี้ย. (ป., ส.).”

(“คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป)

และที่คำว่า “เหี้ย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

เหี้ย : (คำนาม) ชื่อสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ชนิด Varanus salvator (Laurenti) ในวงศ์ Varanidae เป็นสัตว์สกุลเดียวกับตะกวด โตเต็มวัยยาวได้ถึง ๒.๕ เมตร ตัวอ้วนใหญ่สีน้ำตาลเข้ม มีลายดอกสีเหลืองพาดขวาง หางยาว อาศัยและหากินบริเวณใกล้นํ้า, ตัวเงินตัวทอง หรือ แลน ก็เรียก.”

อภิปรายขยายความ :

นักเรียนบาลีที่แปลคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาถึงภาคที่ 8 จะรู้จักคำว่า “โคธา” หรือ “โคธราชา” (โค-ทะ-รา-ชา) ซึ่งแปลว่า “พญาเหี้ย” เป็นอย่างดี เพราะจะมีข้อความภาษาบาลีตอนหนึ่งที่รู้จักกันดีในนาม “ประโยคฤๅษีกินเหี้ย”

เรื่องย่อๆ มีว่า พญาเหี้ยซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์อาศัยอยู่ในจอมปลวกไม่ไกลจากบรรณศาลาของฤๅษีตนหนึ่ง พญาเหี้ยเข้าใจว่าเป็นฤๅษีทรงศีลก็มักจะเข้าไปน้อมคารวะตามโอกาสอันควรเสมอ

วันหนึ่ง ชาวบ้านนิมนต์ฤๅษีไปฉัน มีอาหารพิเศษคือแกงเนื้อเหี้ย ฤๅษีฉันแล้วติดใจ พอรู้ว่าเป็นเนื้อเหี้ยก็นึกถึงพญาเหี้ยที่มาคารวะอยู่เสมอ จึงวางแผนหาเครื่องแกงมาเตรียมไว้พร้อม หาไม้ไว้ท่อนหนึ่ง

วันหนึ่ง ฤๅษีทำเป็นนั่งสำรวมคอยทีอยู่ วันนั้นพญาเหี้ยมาคารวะฤๅษีตามเคย แต่สังเกตเห็นพิรุธก็ถอยกลับ ฤๅษีขว้างไม้ไปไม่ถูกตัว เป็นแต่เฉี่ยวหางไป

พญาเหี้ยหนีเข้าจอมปลอกได้ทัน โผล่หัวออกมาตำหนิฤๅษีว่าเสียแรงนับถือ ไม่น่าทำอย่างนี้

ข้อความตำหนิที่เฉียบคมเป็น “วรรคทอง” ก็คือ –

…………..

มํ  ตาว  วิรทฺโธสิ  จตฺตาโร  ปน  อปาเย  น  วิรทฺโธสิ.

ท่านพลาดเราไปก่อนเถอะ แต่จะไม่พลาดจตุราบาย

ที่มา: โคธชาตก จตุกนิบาต ชาตกัฏฐกถา ภาค 4 หน้า 404

(ข้อความนี้ไม่มีในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ต้องตามไปอ่านในชาตกัฏฐกถาอันเป็นต้นฉบับที่มาจึงจะพบ)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผู้กระทำย่ำยีหยามหมิ่นพระศาสนาอาจรอดจากอาญาโลก

: แต่ยากที่จะรอดจากอาญานรก

#บาลีวันละคำ (3,078)

15-11-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย