ลักษิกา (บาลีวันละคำ 3,082)
ลักษิกา
หนึ่งในบรรดาชื่อแปลกๆ
อ่านว่า ลัก-สิ-กา
“ลักษิกา” เป็นรูปคำเลียนแบบสันสกฤต บาลีเป็น “ลกฺขิกา” (ลัก-ขิ-กา) รากศัพท์มาจาก ลกฺข + อิก + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
(๑) “ลกฺข” (ลัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + อ (อะ) ปัจจัย
: ลกฺขฺ + อ = ลกฺข (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขากำหนดไว้เพื่อยิง” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย”
“ลกฺข” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เครื่องหมาย (a mark)
(2) เป้า (a target)
(3) เงินเดิมพันในการพนัน (a stake at gambling)
(4) จำนวนสูง, แสน (a high numeral, a lac or 100,000)
บาลี “ลกฺข” ในภาษาไทยใช้เป็น “ลักขะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ลักขะ : (คำนาม) เครื่องหมาย, เป้า; จํานวนแสนหนึ่ง. (ป.; ส. ลกฺษ).”
(๒) ลกฺข + อิก ปัจจัย หรืออีกนัยหนึ่ง :
(ก) ลกฺข + อี ปัจจัย = ลกฺขี (ลัก-ขี) แปลว่า “ผู้มีโชคดี” หมายถึง –
(1) โชค, เคราะห์ดี, ความสำเร็จ, สวัสดิภาพส่วนตัว (luck, good fortune, success, personal welfare)
(2) ความสง่างาม, อำนาจ (splendour, power)
(3) ความรุ่งเรือง (prosperity)
“ลกฺขี” เสียงและความหมายตรงกับคำอังกฤษที่เราคุ้นกันดี คือ lucky
(ข) ลกฺขี + ก สกรรถ (กะ สะ-กัด = ลง ก แล้วมีความหมายเท่าเดิม), รัสสะ อี เป็น อิ (ลกฺขี > ลกฺขิ)
: ลกฺขี > ลกฺขิ + ก = ลกฺขิก (ลัก-ขิ-กะ)
พูดลัดตัดความเป็น ลกฺข + อิก = ลกฺขิก
“ลกฺขิก” หมายถึง มีโชคดี, เกี่ยวกับการทำนายโชค (favoured by good luck, belonging to auspices)
(๓) ลกฺขิก + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = ลกฺขิกา (ลัก-ขิ-กา)
“ลกฺขิกา” แปลงรูปอิงสันสกฤตเป็น “ลกฺษิกา”
ที่ว่าแปลงรูปอิงสันสกฤต ก็เพราะบาลี “ลกฺขี” (ซึ่งกลายเป็น ลกฺขิก > ลกฺขิกา) สันสกฤตเป็น “ลกฺษฺมี” ไม่ใช่ “ลกฺษี” (ซึ่งจะกลายเป็น ลกฺษิก > ลกฺษิกา)
เพราะฉะนั้น จึงว่า “ลกฺษิกา” ซึ่งเขียนแบบไทยเป็น “ลักษิกา” เป็นรูปคำเลียนแบบสันสกฤต
สรุปว่า “ลักษิกา” ตรงกับรูปคำบาลี “ลกฺขิกา” แปลว่า “ผู้มีโชคดี”
อภิปราย :
“ลักษิกา” ที่นำมาเขียนเป็นบาลีวันละคำนี้ไม่ใช่คำที่ใช้เป็นสามัญทั่วไป แต่เป็นชื่อคน (proper name) ตามรูปคำก็เป็นชื่อสตรี
มีข้อควรสังเกตว่า ปัจจุบันนี้คนไทยนิยมตั้งชื่อให้มีอักษร ณ ฐ ธ ฑ ฒ ณ ญ ษ ฤ โดยเชื่อว่าเป็นอักษรที่เป็นมงคล บางทีใช้วิธีเอาอักษรพวกนี้มาประสมกันแล้วกำหนดความหมายขึ้นใหม่ เช่น –
ณ หมายถึง ปัญญา
ญ หมายถึง ความรู้
ฒ หมายถึง ความเจริญ เป็นต้น
ความหมายที่กำหนดขึ้นใหม่นั้นแทบทั้งหมดเป็นความหมายที่กำหนดเอาเอง รู้กันเฉพาะเจ้าของชื่อหรือคนตั้ง คนทั่วไปไม่อาจรู้ได้ ปัญหาจึงเกิดเสมอว่า ชื่อแปลกๆ เหล่านี้แปลว่าอะไรหรือหมายถึงอะไร บางทีเจ้าของชื่อเองก็ไม่รู้ เนื่องจากไปเห็นคำพวกนี้แล้วถูกใจ เอามาตั้งเป็นชื่อเอาเอง นอกจากคนทั่วไปไม่รู้ความหมายแล้ว มักมีปัญหาอีกด้วยว่าชื่อแปลกๆ พวกนี้จะอ่านว่าอย่างไร
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอแนวคิดในการตั้งชื่อดังนี้ (ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย) –
(1) ควรเป็นคำที่มีความหมายเป็นสามัญ หมายถึงคนทั่วไปสามารถรู้ความหมายได้ไม่ยาก เนื่องจากคำนั้นและความหมายเช่นนั้นใช้กันทั่วไปอยู่แล้ว
(2) เป็นคำที่มีปัญหาในการอ่านน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย คือใครเห็นก็สามารถอ่านได้ถูกทันที
(3) เป็นชื่อที่สะดวกในการเรียกขาน คือตั้งแล้วใช้เรียกได้จริง หากเรียกเต็มชื่อไม่สะดวก ก็สามารถตัดพยางค์ใดพยางค์หนึ่งมาเรียกได้ ไม่ใช่ตั้งชื่ออย่างหรู แต่เวลาเรียกไปเรียกเป็นชื่ออื่น (ที่เรียกกันว่าชื่อเล่น-ชื่อจริง)
ชื่อนั้นเราเลือกสรรถ้อยคำมาแล้วเป็นอย่างดี ให้มีความหมายในทางดีงาม จึงควรตั้งเพื่อให้คนเรียกได้จริง คนเรียกรู้ความหมายได้ไม่ยาก ทุกครั้งที่มีคนเรียกชื่อ คนเรียกได้เอ่ยถึงถ้อยคำที่เป็นสื่อแห่งความดีงาม เท่ากับเกิดมงคลหรือมีคนให้พรแก่เจ้าของชื่อทุกครั้งไป
นี่คือเหตุผลที่ควรตั้งชื่อให้มีลักษณะตามที่กล่าวมาทั้ง 3 ข้อ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ชื่อเป็นเพียงคำที่สื่อถึงโชค
: แต่เศร้าสุขทุกข์โศกเป็นสิ่งที่เราทำขึ้นเอง
#บาลีวันละคำ (3,082)
19-11-63