จะต้องเรียนภาษาไทยไปทำไม
จะต้องเรียนภาษาไทยไปทำไม
——————————
คุณตาเดินออกกำลังตอนเช้ามีหน้าที่ต้องซื้อกล้วยน้ำว้าเป็นประจำ-ตามคำสั่งของคุณยาย-“วันนี้ซื้อกล้วยด้วยนะ”
คนกินไม่เท่าไร แต่หนักกระรอกกับนกกะหรอดขาจรที่เป็นแขกประจำ
กระรอกกินเสร็จ
กะหรอดรับช่วง
นกกะหรอดนั้นถ้าปลอดแมวก็จะอาศัยต้นแก้วริมหน้าต่างทำรัง วางไข่ เลี้ยงลูกด้วย กินกล้วยตั้งแต่รุ่นพ่อนกแม่นก ลูกบินได้ก็พาลูกไปกิน จนลูกมีลูกก็พาลูกมากินอีก จนกลายเป็นหน้าที่ของคุณยายที่ต้องเอากล้วยไปแขวนที่ต้นพิกุลทุกวัน และเป็นหน้าที่ของคุณตา-ที่วันสองวันคุณยายก็จะสั่ง-วันนี้ซื้อกล้วยด้วยนะ
วันหนึ่ง คุณตาเดินผ่านไปทางบ้านหลังหนึ่ง มีกล้วยวางขายหน้าบ้าน พอคุณตาเดินไปหยุดหน้าโต๊ะวางกล้วย หญิงสาวหน้าตาหมดจดคนหนึ่งก็ออกมารับหน้า
เห็นสาวหน้าตาหมดจดทีไร หัวใจคุณตาก็กระดุกกระดิก
คุณตาคิดถึงลูกชายวัย ๔๐ ทำงานอยู่กรุงเทพฯ ยังไม่ยอมแต่งงานน่ะ-อย่าเข้าใจเป็นอย่างอื่น
ซื้อกล้วย จ่ายเงิน ทอนเงินเสร็จ ก่อนจะออกเดินต่อคุณตาก็ถามขึ้น
“หนูมีเรือนหรือยังจ๊ะ”
หญิงสาวหน้าตาหมดจด ท่าทางร่าเริง ยิ้มน้อยๆ มองคุณตาอย่างขำๆ ชี้เข้าไปในบ้าน
“ก็นี่ไงเรือนหนู”
“ไม่ใช่” คุณตาแย้งยิ้มๆ “หนูออกเรือนหรือยังน่ะ”
“อ๋อ ออกทุกวันละค่ะคุณตา ออกไปทำงาน”
หญิงสาวหน้าตาหมดจด ท่าทางร่าเริง ตอบอย่างบริสุทธิ์ใจใสซื่อ พลางหัวเราะกิ๊ก
————-
เป็นอันว่าเด็กไทยรุ่นใหม่ไม่เข้าใจภาษาไทยรุ่นเก่า
จะว่าภาษาไทยรุ่นเก่าก็ไม่เก่านัก “มีเรือน” “ออกเรือน” สมัยคุณตาเป็นเด็กก็ยังได้ยินผู้ใหญ่รุ่นนั้นพูดกันทั่วไป พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็เก็บ ๒ คำนี้ไว้
…………………………………
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –
๏ มีเรือน : (คำวิเศษณ์) มีครอบครัว, แต่งงานแล้ว, (ตามปรกติใช้แก่ผู้หญิง), มีเหย้ามีเรือน ก็ว่า.
๏ ออกเรือน : (คำกริยา) แยกจากเรือนพ่อแม่ไปอยู่เรือนใหม่เนื่องในการมีผัว.
…………………………………
เด็กไทยรุ่นใหม่เห็นว่า ภาษาไทยใช้พูดอยู่ทุกวันแล้ว ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเรียน คำเก่าๆ เรียนไปทำไม ยิ่งวรรณคดีไทยด้วยแล้วไร้สาระ ภาษาไทยเอาแค่ใช้สื่อสารกันรู้เรื่องก็พอแล้ว
มีข้าวกิน มีที่เที่ยว มีอะไรสนุกๆ ให้ทำ ชีวิตก็มีความสุขได้แล้ว จะต้องเรียนภาษาไทยไปทำไม
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๓
๑๖:๐๕