พิทักษ์ (บาลีวันละคำ 3,083)
พิทักษ์
เป็นภาษาอะไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “พิทักษ์” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) พิทักษ์ ๑ : (คำกริยา) ดูแลคุ้มครอง เช่น พิทักษ์สันติราษฎร์.
(2) พิทักษ์ ๒ : (คำวิเศษณ์) สันทัด. (ส. วิทกฺษ).
บาลีมีคำว่า “ทกฺข” ถ้าเติม “วิ” คำอุปสรรคเข้าข้างหน้าก็เป็น “วิทกฺข” ตรงกับสันสกฤตว่า “วิทกฺษ” เขียนแบบไทยเป็น “พิทักษ์”
“ทกฺข” อ่านว่า ทัก-ขะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ทลฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + ข ปัจจัย, แปลง ลฺ ที่สุดธาตุเป็น กฺ (ทลฺ > ทกฺ)
: ทลฺ + ข = ทลฺข > ทกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองในความฉลาด”
(2) ทกฺขฺ (ธาตุ = เจริญ; ไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: ทกฺขฺ + อ = ทกฺข แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เจริญในกุศลธรรม” (2) “ผู้ไปเร็วโดยไม่ชักช้าในกิจน้อยใหญ่”
“ทกฺข” เป็นคุณศัพท์ (วิเสสนะ) หมายถึง คล่องแคล่ว, สันทัด, สะดวก, สามารถ, ฉลาด (dexterous, skilled, handy, able, clever)
เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความคล่องแคล่ว, ความสามารถ, ความสันทัด (dexterity, ability, skill)
บาลี “ทกฺข” สันสกฤตเป็น “ทกฺษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“ทกฺษ : (คำวิเศษณ์) ฉลาด, สามารถ, สันทัด; clever, able, dexterous.”
: วิ + ทกฺข = วิทกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ฉลาดอย่างวิเศษ”
อภิปรายขยายความ :
เป็นอันว่าคำว่า “พิทักษ์” ในภาษาไทยเทียบกลับเป็นสันสกฤตว่า “วิทกฺษ” ตรงกับบาลีว่า “วิทกฺข”
บาลีมีศัพท์ว่า “ทกฺข” ตรวจดูในคัมภีร์บาลี ยังไม่พบศัพท์ว่า “วิทกฺข”
สันสกฤตก็มีศัพท์ว่า “ทกฺษ” แต่ในสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ก็ไม่ได้เก็บศัพท์ว่า “วิทกฺษ” ไว้
คงยึดหลักได้ว่า “ทกฺข – ทกฺษ” หมายถึง ฉลาด ขยัน “วิทกฺข – วิทกฺษ” ก็ควรจะหมายถึง ฉลาดอย่างพิเศษ ขยันอย่างพิเศษ หรือที่พจนานุกรมฯ บอกความหมายของ “พิทักษ์” ๒ ว่า “สันทัด”
ยังคงมีปัญหาว่า แล้วทำไม “พิทักษ์” จึงหมายถึง “ดูแลคุ้มครอง” ในเมื่อ “ทกฺข – ทกฺษ” หรือ “วิทกฺข – วิทกฺษ” ไม่ได้มีความหมายเช่นนั้นหรือที่จะสามารถตีความให้มีความหมายไปในทำนองนั้นได้เลย
หรือว่า “พิทักษ์” ที่หมายถึง “ดูแลคุ้มครอง” เป็นภาษาอะไร?
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอข้อสันนิษฐานดังนี้ –
คำบาลีสันสกฤตที่มีความหมายว่า “ดูแลคุ้มครอง” ที่เรานำมาใช้กันน่าจะเป็นคำว่า “รักษา” แต่เวลาพูดเราเอาคำว่า “พิทักษ์” มาพูดควบกันเป็น “พิทักษ์รักษา” ตามลักษณะคำสร้อยสี่พยางค์หรือคำคล้องจองในภาษาไทย
“พิทักษ์รักษา” มีความหมายว่า ดูแลคุ้มครอง (ความหมายของ “รักษา”) อย่างเข้มแข็ง อย่างดีอย่างพิเศษอย่างเต็มความสามารถ (ความหมายของ “พิทักษ์”)
“พิทักษ์รักษา” นั่นเองเมื่อพูดกันนานๆ เข้าก็ตัดคำลง เหลือเพียง “พิทักษ์” แต่ยังคงเข้าใจกันในความหมายเดิมว่า “ดูแลคุ้มครอง” อันเป็นความหมายของ “รักษา” ที่ถูกตัดออกไป
“พิทักษ์” จึงกลายความหมายเป็น “ดูแลคุ้มครอง” ไปด้วยประการฉะนี้
ข้อสันนิษฐานนี้สามารถนำไปอ้างอิงได้ แต่ควรมีคำเตือนกำกับไว้ด้วยว่า อย่าด่วนเชื่อจนกว่าจะได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าคุ้มครองจิตของตัวเองยังไม่ได้เด็ดขาด
: อย่าเพิ่งบังอาจคิดไปคุ้มครองสังคม
————-
(ส่งการบ้านพระคุณท่าน Sunant Ruchiwet Phramaha)
#บาลีวันละคำ (3,083)
20-11-63