คาม – เคหะ (บาลีวันละคำ 3,084)
คาม – เคหะ
ต่างกันอย่างไร
(๑) “คาม”
ภาษาไทยอ่านว่า คาม บาลีอ่านว่า คา-มะ รากศัพท์มาจาก –
(1) คสฺ (ธาตุ = กิน; มัวเมา) + ม ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ, ทีฆะ อะ ที่ ค-(สฺ) เป็น อา (คสฺ > คาส)
: คสฺ + ม = คสม > คม > คาม แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่กินอยู่แห่งชาวบ้าน” (2) “ที่เป็นที่มัวเมาด้วยกามคุณ”
(2) คา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ม ปัจจัย
: คา + ม = คาม แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งชาวบ้าน”
(3) คมฺ ธาตุ = ไป, ถึง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ค-(มฺ) เป็น อา ตามสูตร “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (คมฺ > คาม)
: คมฺ + ณ = คมณ > คม > คาม แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่ไปแห่งผู้คน” (2) “ที่อันผู้ต้องการวัตถุต่างๆ ต้องไป”
“คาม” (ปุงลิงค์) หมายถึง หมู่บ้าน, หมู่บ้านเล็กๆ, สถานที่ที่อาศัยอยู่ได้ (a collection of houses, a hamlet, a village, a habitable place)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คาม, คาม– : (คำแบบ) (คำนาม) บ้าน, หมู่บ้าน. (ป.).”
(๒) “เคหะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “เคห” อ่านว่า เค-หะ บาลีมี 2 ศัพท์ที่คล้ายกันคือ “คห” และ “เคห”
(ก) “คห” (คะ-หะ) รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + อ (อะ) ปัจจัย
: คหฺ + อ = คห (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เก็บทรัพย์อันคนนำมาแล้ว” (คนหาทรัพย์มาเก็บไว้ที่นั่น จึงเรียกที่นั่นว่า คห = ที่เก็บทรัพย์) หมายถึง บ้าน (a house)
(ข) “เคห” (เค-หะ) รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง อ ที่ ค– เป็น เอ (คหฺ > เคห)
: คหฺ + อ = คห > เคห แปลตามศัพท์ว่า “ที่เก็บทรัพย์อันคนนำมาแล้ว” (คนหาทรัพย์มาเก็บไว้ที่นั่น จึงเรียกที่นั่นว่า เคห = ที่เก็บทรัพย์) หมายถึง ที่อยู่อาศัย, ที่พัก, บ้าน; ครัวเรือน (a dwelling, hut, house; the household)
ในที่นี้ใช้คำว่า “เคห”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เคห-, เคหะ, เคหา : (คำนาม) เรือน, ที่อยู่. (ป., ส. เคห).”
ขยายความ :
“เคหะ” เรามักเข้าใจกันด้วยคำไทยว่า “บ้าน” “คาม” ก็เข้าใจกันว่า “บ้าน” เช่นกัน ทั้ง “เคหะ” และ “คาม” นักเรียนบาลีมักแปลปนๆ กันว่า บ้าน, เรือน จึงมีปัญหาว่า บ้าน “เคหะ” กับบ้าน “คาม” ต่างกันอย่างไร
“เคหะ” หมายถึงบ้านเป็นหลังๆ คือบ้านแต่ละหลัง หรือคำเก่าเรียกว่า “หลังคาเรือน”
“คาม” หมายถึง หมู่บ้าน คือเคหะหรือเรือนหลายๆ หลังอยู่รวมกัน หรืออยู่ใกล้กัน รวมกันเข้าเป็นคาม
พอจะเทียบคำฝรั่งได้ว่า
– เคหะ = house
– คาม = home
ถ้าพูดคำฝรั่งว่า go home ซึ่งเราแปลกันว่า “กลับบ้าน” ย่อมหมายถึง บ้าน “คาม” ไม่ใช่บ้าน “เคหะ” คือกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเมือง (home) ของตน แต่ในถิ่นฐานนั้นใครจะพักอาศัยอยู่ที่เคหะ (house) หลังไหนที่ไหนเป็นรายละเอียดที่ไม่ได้เล็งถึง
เมื่อพูดถึงถิ่นฐานบ้านเมือง สำนวนในคัมภีร์มักกล่าวว่า “…จาริกไปยังคามนิคมชนบทราชธานีน้อยใหญ่” เป็นการเรียงลำดับจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่ กล่าวคือ
“เคหะ” คือบ้านหลายๆ หลัง อยู่ใกล้เคียงกันหรืออยู่ในกลุ่มเดียวกัน รวมกันเป็น “คาม” คือหมู่บ้าน (village)
หลายๆ คามรวมกันเป็น “นิคม” พอเทียบได้กับตำบลหรืออำเภอ (small town)
หลายๆ นิคมรวมกันเป็น “ชนบท” คือเมืองใหญ่ หรือเทียบได้กับจังหวัด (province)
หลายๆ ชนบทรวมกันเป็น “รัฏฐะ” หรือ “รัฐ” คือบ้านเมืองหรือประเทศชาติ (country) มีศูนย์กลางเรียกว่า “ราชธานี”
หลายๆ ประเทศชาติประกอบกันเข้าเป็น “โลก” ที่เราอาศัยอยู่นี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าคิดจะทำโลกใบใหญ่ๆ ให้เป็นสวรรค์
: จงเริ่มสร้างสรรค์จากบ้านหลังเล็กๆ
#บาลีวันละคำ (3,084)
21-11-63