กายสังวร (บาลีวันละคำ 3,085)
กายสังวร
คำไม่ยาก
แต่ความหมายไม่ง่าย
อ่านว่า กา-ยะ-สัง-วอน
ประกอบด้วยคำว่า กาย + สังวร
(๑) “กาย”
บาลีอ่านว่า กา-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) กุ (สิ่งที่น่ารังเกียจ, สิ่งที่น่าเกลียด) + อาย (ที่มา, ที่เกิดขึ้น), “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ กุ (กุ > ก)
: กุ > ก + อาย = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นของสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งหลาย”
(2) ก (อวัยวะ) + อายฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป), + อ (อะ) ปัจจัย
: ก + อายฺ = กายฺ + อ = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่เป็นไปแห่งอวัยวะทั้งหลาย”
(3) กาย (ร่างกาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: กาย + ณ = กายณ > กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นแห่งส่วนย่อยทั้งหลายเหมือนร่างกาย” (คือร่างกายเป็นที่รวมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ฉันใด “สิ่งนั้น” ก็เป็นที่รวมอยู่แห่งส่วนย่อยทั้งหลายฉันนั้น)
“กาย” (ปุงลิงค์) หมายถึง ร่างกาย; กลุ่ม, กอง, จำนวนที่รวมกัน, การรวมเข้าด้วยกัน, ที่ชุมนุม (body; group, heap, collection, aggregate, assembly)
(๒) “สังวร”
เขียนแบบบาลีเป็น “สํวร” อ่านว่า สัง-วะ-ระ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, ดี) + วรฺ (ธาตุ = ระวัง) + อ (อะ) ปัจจัย
: สํ + วรฺ = สํวรฺ + อ = สํวร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความระวังพร้อม” นักเรียนบาลีมักแปลกันว่า “ความสำรวม” หมายถึง ความระวัง, การรั้งไว้ (restraint) คือรั้งการกระทำ คำพูด และความคิดไม่ให้กระจายหรือเตลิดออกไปนอกทาง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความคำว่า “สํวร” ไว้ว่า The fivefold saŋvara: sīla-, sati-, ñāṇa-, khanti-, viriya-, i. e. by virtue, mindfulness, insight, patience, effort (สังวร 5 อย่าง: สีล-, สติ-, ญาณ-, ขนฺติ-, วิริย-, คือ ศีลสังวร, สติสังวร, ญาณสังวร, ขันติสังวร, วิริยสังวร)
บาลี “สํวร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังวร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สังวร : (คำนาม) ความระวัง, ความเหนี่ยวรั้ง, ความป้องกัน. (คำกริยา) สํารวม, เหนี่ยวรั้ง, เช่น สังวรศีล สังวรธรรม, ถ้าใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส หมายความว่า ความสำรวม, ความระวัง, เช่น อินทรียสังวร จักษุสังวร ญาณสังวร ศีลสังวร, (ภาษาปาก) ให้ระวังจงดี (ผู้ใหญ่สั่งสอนเตือนสติผู้น้อย) เช่น เรื่องนี้พึงสังวรไว้ อย่าให้ผิดอีกเป็นครั้งที่ ๒. (ป., ส. สํวร).”
กาย + สังวร + กายสังวร แปลตามศัพท์ว่า “ความระมัดระวังทางกาย”
อภิปรายขยายความ :
ในคัมภีร์ท่านจำแนก “สังวร” ไว้ 5 อย่าง ขอนำข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [243] สังวร 5 ซึ่งสรุปความไว้มาแสดงดังนี้ –
…………..
สังวร 5 อย่าง คือ
1. ปาฏิโมกขสังวร สำรวมในปาฏิโมกข์ คือ รักษาสิกขาบทเคร่งครัดตามที่ทรงบัญญัติไว้ในพระปาฏิโมกข์ (Pāṭimokkha-saṃvara: restraint by the monastic code of discipline)
2. สติสังวร สำรวมด้วยสติ คือ สำรวมอินทรีย์มีจักษุเป็นต้น ระวังรักษามิให้บาปอกุศลธรรมเข้าครอบงำ เมื่อเห็นรูป เป็นต้น (Sati-saṃvara: restraint by mindfulness) = อินทรียสังวร
3. ญาณสังวร สำรวมด้วยญาณ คือ ตัดกระแสกิเลสมีตัณหาเป็นต้นเสียได้ ด้วยใช้ปัญญาพิจารณา มิให้เข้ามาครอบงำจิต ตลอดถึงรู้จักพิจารณาเสพปัจจัยสี่ (Ñāṇa-saṃvara: restraint by knowledge) = ปัจจัยปัจจเวกขณ์
4. ขันติสังวร สำรวมด้วยขันติ คือ อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย ถ้อยคำแรงร้าย และทุกขเวทนาต่างๆ ได้ ไม่แสดงความวิการ (Khanti-saṃvara: restraint by patience)
5. วิริยสังวร สำรวมด้วยความเพียร คือ พยายามขับไล่ บรรเทา กำจัดอกุศลวิตกที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไปเป็นต้น ตลอดจนละมิจฉาชีพ เพียรแสวงหาปัจจัยสี่เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาชีพ ที่เรียกว่า อาชีวปาริสุทธิ (Viriya-saṃvara: restraint by energy) = อาชีวปาริสุทธิ.
…………..
ดูตามคัมภีร์จะเห็นว่า ในสังวรทั้ง 5 อย่างนั้น ไม่มี “กายสังวร” รวมอยู่ด้วย
ถ้าเช่นนั้น “กายสังวร” มาจากไหน?
“กายสังวร” เป็นคำที่ปรุงขึ้นจากหลักธรรมตามพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า –
…………..
กาเยน สํวโร สาธุ
สาธุ วาจาย สํวโร
มนสา สํวโร สาธุ
สาธุ สพฺพตฺถ สํวโร
สพฺพตฺถ สํวุโต ลชฺชี
รกฺขิโตติ ปวุจฺจติ.
(กาเยนะ สังวะโร สาธุ
สาธุ วาจายะ สังวะโร
มะนะสา สังวะโร สาธุ
สาธุ สัพพัตถะ สํวโร
สัพพัตถะ สังวุโต ลัชชี
รักขิโตติ ปะวุจจะติ.)
การสำรวมทางกายเป็นการดี
การสำรวมทางวาจาเป็นการดี
การสำรวมทางใจเป็นการดี
การสำรวมในที่ทั้งปวงเป็นการดี
บุคคลสำรวมในที่ทั้งปวงแล้วมีความละอายต่อบาป
เรากล่าวว่าเป็นผู้รักษาตน
ที่มา: อัตตรักขิตสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 339
…………..
ตามพระพุทธพจน์นี้มี “สังวร” 3 ประการ คือ –
(1) กาเยน สํวโร ถอดวิภัตติออกได้รูปเป็น “กายสํวร” เขียนแบบไทยเป็น “กายสังวร” แปลว่า “ความสำรวมทางกาย” คือความระมัดระวังทางการกระทำ
(2) วาจาย สํวโร ถอดวิภัตติออกได้รูปเป็น “วจีสํวร” เขียนแบบไทยเป็น “วจีสังวร” แปลว่า “ความสำรวมทางวาจา” คือความระมัดระวังทางคำพูด
(3) มนสา สํวโร ถอดวิภัตติออกได้รูปเป็น “มโนสํวร” เขียนแบบไทยเป็น “มโนสังวร” แปลว่า “ความสำรวมทางใจ” คือความระมัดระวังทางความคิด
“กายสังวร” ที่แปลว่า “ความสำรวมทางกาย” คือความระมัดระวังทางการกระทำ หมายความว่าอย่างไร?
ฟังดูเหมือนไม่ยาก แต่อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด คำว่า “กาย” หรือ “ทางกาย” เรามักเข้าใจกันว่า หมายถึงอากัปกิริยา เช่นยืน เดิน นั่ง นอน พอพูดว่า สำรวมทางกายหรือระมัดระวังทางกาย ก็เข้าใจไปว่า หมายถึงระมัดระวิงกิริยาอาการ จะลุกจะนั่งจะเดินเหินควบคุมกิริยาอาการให้เรียบร้อย อย่าหลุกหลิกลุกลน ควบคุมมือเท้าให้อยู่ในที่ทางที่เหมาะสม
โปรดทราบว่า “กายสังวร” ไม่ได้มีความหมายเช่นนั้น
“กายสังวร” ท่านหมายถึง ควบคุมการกระทำ ไม่ให้ทำชั่วใน 3 เรื่องหลักๆ คือ –
๑ ไม่ฆ่า หมายรวมถึงไม่เบียดเบียนทรมาน (ปาณาติบาต)
๒ ไม่ลักไม่โกงไม่ฉ้อฉลในรูปแบบต่างๆ (อทินนาทาน)
๓ ไม่มักมากในกามในทางที่ผิด (กาเมสุมิจฉาจาร)
ควบคุมตนเองได้ดังนี้ นี่แหละคือความหมายของ “กายสังวร”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ควบคุมตนเองได้
: ควบคุมโลกได้
#บาลีวันละคำ (3,085)
22-11-63