บาลีวันละคำ

สุคตึ คโต (บาลีวันละคำ 3,225)

สุคตึ คโต

“ไปที่ชอบๆ”

เป็นคำบาลี 2 คำ

สุคตึ” อ่านว่า สุ-คะ-ติง

คโต” อ่านว่า คะ-โต

(๑) “สุคตึ” (สุ-คะ-ติง)

รูปคำเดิมเป็น “สุคติ” (สุ-คะ-ติ) รากศัพท์มาจาก สุ + คติ

(ก) “สุ

เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ดี, งาม, ง่าย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สุ-” ไว้ว่า well, happily, thorough (ดี, อย่างมีสุข, ทั่วถึง)

(ข) “คติ

อ่านว่า คะ-ติ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คติ > )

: คมฺ + ติ = คมติ > คติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “ภูมิอันเหล่าสัตว์ต้องไป ด้วยการเข้าถึงตามกรรมดีกรรมชั่ว” “ที่เป็นที่ไป” หมายถึง ที่ไป, ที่อยู่, ที่เกิดใหม่, ภพภูมิที่จะต้องไปเกิด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คติ” ในเชิงขยายความไว้น่าสนใจ ขอยกมาเสนอดังนี้ –

(1) going, going away, (opp. āgati coming); direction, course, career (การไป, การจากไป, (ตรงข้าม “อาคติ” การมา); ทิศทาง, แนว, วิถีชีวิต)

(2) going away, passing on; course, esp after death, destiny, as regards another (future) existence (การจากไป, การผ่านไป; ทางไป, โดยเฉพาะหลังจากตายไป, ชะตากรรม, ที่เกี่ยวกับภพ (อนาคต) อื่น)

(3) behaviour, state or condition of life, sphere of existence, element, especially characterized as sugati & duggati, a happy or an unhappy existence (ความประพฤติ, ภาวะหรือฐานะของความเป็นอยู่, ขอบเขตของภพ, ความเป็นอยู่, ธาตุ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยายลักษณะเป็น “สุคติ” และ “ทุคฺคติ”, ความเป็นอยู่อันสุขสบายหรือเป็นทุกข์)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “คติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง

(2) ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี 5 คือ :

๑. นิรยะ = นรก

๒. ติรัจฉานโยนิ = กำเนิดดิรัจฉาน

๓. เปตติวิสัย = แดนเปรต

๔. มนุษย์ = สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล

๕. เทพ = ชาวสวรรค์ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึง อกนิษฐพรหม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “คติ” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) คติ ๑ : (คำนาม) การไป; ความเป็นไป. (ป.).

(2) คติ ๒ : (คำนาม) แบบอย่าง, วิธี, แนวทาง. (ป.).

สุ + คติ = สุคติ (สุ-คะ-ติ) แปลว่า “ทางไปที่ดี” หมายถึง ชีวิตที่มีความสุข; อาณาจักรแห่งความสุขสำราญ; เทวโลก (a happy existence; a realm of bliss; the devaloka)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุคติ : (คำนาม) ภูมิที่ถือว่าไปเกิดแล้วมีความสุขความสบาย, สวรรค์, เช่น ขอให้วิญญาณไปสู่สุคติ. (ป., ส.).”

(๒) “คโต

รูปคำเดิมเป็น “คต” (คะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย (ปัจจัยตัวนี้ใช้หมายถึง อดีตกาล คือแปลว่า “-แล้ว” เช่น กินแล้ว, ทำแล้ว), ลบที่สุดธาตุ (คมฺ > )

: คมฺ + = คมต > คต แปลว่า “ไปแล้ว

การประกอบคำเข้าเป็นประโยค :

๑ “สุคติ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “สุคตึ” แปลว่า “สู่สุคติ” (โปรดสังเกตว่ามีคำว่า “สู่” เพิ่มเข้าข้างหน้า ไม่ใช่ “สุคติ” เฉยๆ “สู่” คำนี้คือ “อายตนิบาต” ออกมาจากทุติยาวิภัตติ)

รูปสระ อึ นั้นยืมรูปสระไทยมาใช้โดยอนุโลม รูปจริงคือสระ อิ + อํ นิคหิต

: อิ + อํ = อึ อ่านว่า อิง ไม่ใช่ อึ (อย่างในคำพูดว่า “เด็กอึออกมา”)

ดังนั้น + อึ = ตึ จึงอ่านว่า ติง (ไม่ใช่ ตึ อย่างในคำพูดว่า “ของสะตึๆ” คือของไม่มีค่า)

แบบตัวอักษรที่เขียนชัดๆ คือ – ติํ = สุคติ

(๒) “คต” (คะ-ตะ) เป็นคำกริยาของประธานที่เป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “คโต” (คะ-โต)

สุคติํ คโต” แปลว่า “ไปสู่สุคติ” พจนานุกรมบาล-อังกฤษ แปลประโยคนี้ว่า gone to Heaven (ไปสู่สวรรค์)

สันนิษฐาน :

เมื่อมีคนตาย จะมีบางคนนิยมพูดเป็นทำนองปลงธรรมสังเวชว่า “ไปที่ชอบๆ

ถ้าจะแปลคำว่า “ไปที่ชอบๆ” เป็นบาลี ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่าน่าจะตรงกับคำว่า “สุคติํ คโต” นี่แล

ไม่ใช่แปลว่า ชอบที่ไหนก็ไปที่นั่น อย่างที่มักพูดล้อกันสนุกๆ แต่หมายถึง “ไปสู่สุคติ” คือภพภูมิที่มีความสุขความเจริญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนข้างหลังช่วยได้แค่บอกว่าไปที่ชอบๆ

: แต่บุญกุศลเราต้องประกอบด้วยตัวของเราเอง

#บาลีวันละคำ (3,225)

11-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *