สมนาคุณ (บาลีวันละคำ 3,089)
สมนาคุณ
เป็นภาษาบาลีหรือเปล่า
อ่านว่า สม-มะ-นา-คุน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมนาคุณ : (คำกริยา) ตอบแทนบุญคุณด้วยทรัพย์ สิ่งของ หรือแรงงาน เป็นต้นแล้วแต่กรณี เช่น ร้านค้ามีของสมนาคุณผู้ซื้อ ธนาคารให้ของสมนาคุณแก่ลูกค้า, เรียกทรัพย์หรือสิ่งของเป็นต้นที่ให้ในลักษณะเช่นนั้นว่า เงินสมนาคุณ ของสมนาคุณ.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “สมนาคุณ” เป็นคำบาลีสันสกฤต และไม่ได้บอกว่ามาจากคำอะไรในภาษาอะไร
ว่าโดยรูปศัพท์ “สมนาคุณ” อาจมาจากคำบาลี ส + มน (ใจ)
“ส” อาจแทนคำต่างๆ ได้หลายคำ เช่น –
(1) “สห” (สะ-หะ) = พร้อมกัน, ร่วมกัน : สมน = พร้อมใจกัน, ร่วมใจกัน
(2) “สก” (สะ-กะ) = ของตน, สิ่งที่เป็นของตัวเอง : สมน = “ใจของตน” สำนวนบาลีหมายถึง เป็นที่ถูกใจของตัวเอง, รู้สึกสบายใจ
(3) “สม” (สะ-มะ) = เสมอกัน, เท่ากัน : สมน = จิตใจเสมอกัน, ถูกใจหรือพอใจในสิ่งเดียวกัน
สันนิษฐานเป็นเบื้องต้นว่า คำว่า “สมนาคุณ” นี้ คำที่เป็นหลักคือ “ใจ” ดังคำบาลีที่ปรากฏให้เห็นคือ “-มน–”
ในภาษาไทย คำที่มีความหมายเชื่อมโยงเข้ากับ “สมนาคุณ” ได้ และมีคำว่า “ใจ” เป็นหลักมีหลายคำ เช่น ถูกใจ พอใจ พึงใจ ต้องใจ ชอบใจ และที่น่าสนใจมากกว่าคำอื่น คือ “สมใจ”
“สม” ถ้าเป็นคำไทย (หรือคำที่มักเข้าใจกันในภาษาไทย) มีความหมายว่า “ตรงกับ” เช่น สมคะเน สมปรารถนา สมความตั้งใจ “สมใจ” จึงหมายถึง “ตรงกับใจ” คือตรงกับที่คิดไว้ หรือตรงกับที่ต้องการ
“สม” ถ้าเป็นคำบาลี มีความหมายว่า เสมอกัน, เท่ากัน “สมใจ” ก็มีความหมายสอดคล้องกัน คือหมายถึง “ใจ” (คือความต้องการ ความปรารถนา) มีเท่าไร มีอย่างไร ได้อะไรมา หรือใครทำอะไรให้ ก็ “สม” (เสมอกัน, เท่ากัน) กับที่ใจต้องการ
อธิบายดังว่ามานี้ ก็เพื่อโยงเข้าไปหาความหมายของคำว่า “สมนาคุณ” ซึ่งตามรูปศัพท์สามารถให้ความหมายได้ว่า “ให้-หรือทำ-สิ่งที่ถูกกับความต้องการของผู้รับ”
“ของสมนาคุณ” ก็คือ ของที่ผู้ให้เชื่อได้ว่าผู้รับจะพอใจ เรียกเป็นคำศัพท์ว่า “สมมนะ” อ่านว่า สม-มะ-นะ แปลว่า “ของที่ให้แล้วสมใจผู้รับ” ก็คือ “สม-มนะ” หรือ “สมใจ” นั่นเอง
แล้ว “สมมนะ” มาเป็น “สมนาคุณ” ได้อย่างไร?
ภาษาไทยมีคำว่า “ขอบใจ” หมายถึง คํากล่าวแสดงความรู้สึกพอใจในความดีที่ผู้อื่นได้มีต่อตน เป็นคําที่ผู้ใหญ่ใช้แก่ผู้น้อย (ความหมายตามพจนานุกรมฯ)
มีผู้ออกความเห็นว่า “ขอบใจ” นั้น คำเดิมคือ “ชอบใจ” ชอบ- ช ช้าง คือมีใครให้อะไรหรือทำอะไรให้ถูกใจ ก็ชอบใจ แต่อักษร ช ช้าง ลักษณะใกล้กับ ข ไข่ (เขียน ข ไข่ ต่อหางก็เป็น ช ช้าง) คนที่ไม่ทันสังเกต อ่านคำว่า “ชอบใจ” (ชอบ- ช ช้าง) เป็น “ขอบใจ” (ขอบ- ข ไข่) คืออ่านผิด และคงมีคนอ่านผิดกันทั่วไป “ชอบใจ” จึงกลายเป็น “ขอบใจ” มาจนทุกวันนี้
จาก “ขอบใจ” ก็มี “ขอบคุณ” มีความหมายอย่างเดียวกับ “ขอบใจ” นั่นเอง แต่เป็นคําที่ใช้แก่บุคคลที่เสมอกัน หรือผู้น้อยใช้แก่ผู้ใหญ่
สันนิษฐานต่อไปว่า เมื่อมีใครให้อะไรหรือทำอะไรให้ถูกใจ คงมีผู้รู้บาลีใช้คำว่า “สมมนะ” เป็นคำขอบใจ
“สมมนะ” นั่นเองลากเสียงกลายเป็น “สมมนา” ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 บอกไว้ว่า –
“สมนาคุณ : (คำกริยา) ตอบแทนบุญคุณ, ใช้ว่า สมนา ก็มี.”
แม้ในเวลานี้ก็ยังมีคนใช้คำสั้นๆ ว่า “สมนา” (สม-มะ-นา) กันทั่วไป
อาจเป็นได้ว่า ครั้งหนึ่งนิยมพูดกันว่า “สมมนา” แค่นี้ แต่ต่อมาเมื่อมีคำว่า “ขอบคุณ” มาเทียบคู่กับ “ขอบใจ” ก็เลยมีผู้เอาคำว่า “สมมนา” ไปแต่งตัวเป็น “สมมนาคุณ” เลียนแบบ “ขอบคุณ”
“สมมนะ” กลายเป็น “สมมนา” และ “สมมนา” จึงกลายเป็น “สมมนาคุณ” ไปด้วยประการฉะนี้
คำเดิม “สมมนา” ม ม้า 2 ตัว ตัดออกตัวหนึ่งตามหลักนิยมในภาษาไทย คำนี้จึงสะกดเป็น “สมนา” และ “สมนาคุณ” (ม ม้าตัวเดียว) ไปด้วยประการฉะนี้อีกทีหนึ่ง
โปรดทราบว่า ที่ว่ามานี้เป็นการสันนิษฐานทั้งสิ้น ไม่พึงนำไปอ้างอิงเป็นหลักฐาน แต่พึงช่วยกันสืบค้นให้พบความจริงว่า “สมนาคุณ” เป็นภาษาอะไรกันแน่
…………..
ดูก่อนภราดา!
ภาษาเป็นสมบัติของชาติ
: ทำให้ภาษาวิปลาส
: คือทำให้สมบัติของชาติวิปริต
#บาลีวันละคำ (3,089)
26-11-63