ผุสดี (บาลีวันละคำ 2,087)
ผุสดี
ผู้ปรารถนาเป็นพุทธมารดา
(คำในชุดนามานุกรมเวสสันดรชาดก)
อ่านว่า ผุด-สะ-ดี
บาลีเป็น “ผุสฺสตี” อ่านว่า ผุด-สะ-ตี รากศัพท์มาจาก ผุสฺ (ธาตุ = กระทบ, สัมผัส) + ติ ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (ผุสฺ + สฺ + ติ) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ผุสฺ + สฺ + ติ = ผุสฺสติ + อี = ผุสฺสตี แปลตามศัพท์ว่า “การสัมผัส” หมายถึง (1) สัมผัส, ถูกต้อง (touch) (2) บรรลุ, ถึง (attainment, reach)
“ผุสฺสตี” เป็นชื่อคน มีความหมายว่า ผู้ได้สัมผัสสิ่งที่ต้องการ, ผู้บรรลุสิ่งที่ปรารถนา, ผู้ได้รับสิ่งที่ปรารถนาสมประสงค์
สิ่งที่พระนาง “ผุสฺสตี” ตั้งความปรารถนาก็คือขอให้ได้เป็นพุทธมารดา
แต่ถ้าจะแปลความหมายให้เข้ากับภาวะของสตรีเพศ “ผุสฺสตี” อาจหมายถึง “ผู้มีความงามอันเย้ายวนชวนให้สัมผัส”
“ผุสฺสตี” เป็นคำแรกในคาถาบทแรกในมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมีข้อความว่า –
ผุสฺสตี วรวณฺณาเภ …… วรสฺสุ ทสธา วเร
ปฐพฺยา จารุปุพฺพงฺคี … ยํ ตุยฺหํ มนโส ปิยํ.
ที่มา: พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 1045 หน้า 365
แปลความว่า –
ดูก่อนผุสดีผู้มีรัศมีแห่งผิวพรรณอันประเสริฐ
ผู้ทรงศุภลักษณ์เลิศวิลาวัณย์ควรจะทัศนา
เธอจงเลือกเอาพร 10 ประการซึ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งหฤทัยของเธอ
ในกาละที่จะไปบังเกิดในปฐพีพิภพมนุษยโลกนั้นเถิด
“ผุสฺสตี” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “ผุสดี” แต่ยังคงอ่านว่า ผุด-สะ- (ไม่ใช่ ผุ-สะ-)
พระนางผุสดีเป็นราชธิดาของกษัตริย์แควันมัททราษฎร์ (เช่นเดียวกับพระนางมัทรี) เป็นพระมเหสีของพระเจ้าสญชัย (ที่มักเรียกกันว่า “พระเจ้ากรุงสญชัย”) ครองนครเชตุดรแห่งแคว้นสีวี หรือสีวีรัฐ (สีวีราษฎร์ หรือแคว้นสีพี) เป็นพระมารดาของพระเวสสันดร
ในศาสนาพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบูชาพระศาสดาด้วยผงแก่นจันทน์แดงตั้งความปรารถนาเป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล
ครั้นในศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเกิดเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากีกิ ทรงพระนามว่าสุธัมมา บำเพ็ญบุญจนสิ้นอายุไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทรงพระนามว่าผุสดีเป็นอัครมเหสีของพระอินทร์ เมื่อหมดอายุจุติจากสวรรค์ลงมาเกิดในมนุษยโลกได้ทูลขอพร 10 ประการจากพระอินทร์ (ดูรายละเอียดที่คำว่า “ทศพร” บาลีวันละคำ (2,072) 13-2-61)
1 ในพร 10 ประการนั้นคือ ขอให้มีนามว่า “ผุสฺสตี”
ในตอนกลับชาติ คัมภีร์บอกว่า พระนางผุสดีกลับชาติมาเกิดเป็นพระนางสิริมหามายา ได้เป็นพุทธมารดาสมดังมโนรถ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สุขทุกข์เราเลือกไม่ได้ที่จะไม่ให้มากระทบ
: แต่เลือกได้ที่จะเรียนให้รู้จบจนไม่กระเทือน
—————–
(คำในชุดนี้ได้ความคิดจากคำถามของ วงษ์ชนะ สุรเชษฐ์)
#บาลีวันละคำ (2,087)
28-2-61