บาลีวันละคำ

ราษฎร (บาลีวันละคำ 3,090)

ราษฎร

ใช้อ้างอิงได้เป็นนิรันดร

อ่านว่า ราด-สะ-ดอน

ราษฎร” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “รฏฺฐ” (รัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) รฐฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง ฐต เป็น ฏฐ

: รฐฺ + = รฐต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง

(2) รชิ (ธาตุ = เจาะ, ทำลาย) + ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ, แปลง ชต เป็น ฏฐ

: รชิ > รช + = รชต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง)

รฏฺฐ” ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ, ประเทศ, แผ่นดิน)

บาลี “รฏฺฐ” สันสกฤตเป็น “ราษฺฏฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ราษฺฏฺร : (คำนาม) ประเทศ; ราษฎร, ประชา; ชนวิบัททั่วไป; a realm or region, a country; the people; any public calamity.”

รฏฺฐ > ราษฺฏฺร ภาษาไทยใช้เป็น “ราษฏร” (ราด-สะ-ดอน) และ “ราษฎร์” (ราด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) รัฐ, รัฐ– : (คำนาม) แคว้น เช่น รัฐปาหัง, บ้านเมือง เช่น กฎหมายสูงสุดของรัฐ, ประเทศ เช่น รัฐวาติกัน. (ป. รฏฺฐ; ส. ราษฺฏฺร).

(2) ราษฎร, ราษฎร์ ๑ : (คำนาม) พลเมืองของประเทศ. (ส.).

(3) ราษฎร์ ๒ : (คำนาม) แว่นแคว้น, บ้านเมือง. (ส.; ป. รฏฺฐ).

โปรดสังเกตในพจนานุกรม :

คำเดิมในบาลีเป็น “รฏฺฐ” (รัด-ถะ) หมายถึง ดินแดน, บ้านเมือง (ไม่ได้หมายถึงคน)

๑ ภาษาไทยเอามาใช้ ตัดตัวสะกดออก เขียน “รัฐ” อ่านว่า รัด (ไม่ใช่ รัด-ถะ) เขียน “รัฐ-” (มีขีด- ท้าย) หมายถึงกรณีที่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า รัด-ถะ- เช่น รัฐบาล อ่านว่า รัด-ถะ-บาน ไม่ใช่ รัด-บาน

รัฐ” ในภาษาไทย หมายถึง แคว้น, บ้านเมือง, ประเทศ (ไม่ได้หมายถึงคน)

๒ เขียนอิงสันสกฤตเป็น “ราษฎร” อ่านว่า ราด-สะ-ดอน เขียน “ราษฎร์” (การันต์ที่ ) อ่านว่า ราด

๓ “ราษฎร” (ราด-สะ-ดอน) หมายถึงพลเมืองของประเทศ ไม่ได้หมายถึงแว่นแคว้น, บ้านเมือง แต่ “ราษฎร์” (ราด) หมายถึงพลเมืองของประเทศด้วย (ราษฎร์ ๑) หมายถึงแว่นแคว้น, บ้านเมืองด้วย (ราษฎร์ ๒)

แถม :

ในภาษาไทยสมัยใหม่ มีคำพูดว่า “ราษฎรเต็มขั้น” ตามรูปคำ “เต็มขั้น” หมายถึง เจริญเติบโตในตำแหน่งหน้าที่จนถึงระดับสูงสุดแล้ว ไม่สามารถขยับฐานะให้สูงขึ้นไปได้อีก

ราษฎรเต็มขั้น” จึงหมายถึง คนที่ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ฐานะอื่นใดในสังคม นอกจากเป็น “ราษฎร” อย่างเดียว เป็นสูงกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว

อีกคำหนึ่งที่มีการใช้เรียกขานกันอยู่ คือ “ราษฎรอาวุโส”

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 เวลา 20:30) มีคำว่า “ราษฎรอาวุโส” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

ราษฎรอาวุโส (อังกฤษ: Senior people) เป็นคำเรียกบุคคลชาวไทย หมายถึง บุคคลที่ดำรงตนเป็นผู้มีคุณประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาชนบท การพัฒนาชุมชน และการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม โดยจะได้รับการยกย่องจากวงการสื่อมวลชน

จุดเริ่มต้นที่มาของคำว่า “ราษฎรอาวุโส” เกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ.2535 โดยมีบุคคลที่ถือเป็นปัญญาทางสังคม 4 คน ได้เสนอข้อคิดเห็นโดยไม่ฝักฝ่ายทางการเมือง สื่อมวลชนจึงขนานนามว่า “ราษฎรอาวุโส” …

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าราษฎรเป็นใหญ่เหนือกิเลสของตัวเอง

: ก็จะไม่มีใครมาเป็นนักเลงเหนือราษฎร

#บาลีวันละคำ (3,090)

27-11-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย