“ผมไปยุ่งกับเด็กทำไม” (๒)
“ผมไปยุ่งกับเด็กทำไม” (๒)
———————-
…………………………………………
https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3528968367196875
…………………………………………
ต่อไปนี้เป็นข้อสันนิษฐานของผม
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาและกำลังเป็นอยู่ ได้แบ่งคนออกเป็น ๓ กลุ่ม
(๑) กลุ่มหนึ่งสนับสนุนคนที่ด่าสถาบัน ด่ารัฐบาล ด่านายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะด่าทุกส่วนหรือด่าเป็นบางส่วนก็ตาม
เด็กในภาพนั้นด่าสถาบัน คนกลุ่มนี้ก็ชอบใจ ถือว่าเป็นพวกเดียวกัน เป็น “เด็กของฉัน”
(๒) กลุ่มหนึ่งคัดค้านคนที่ออกมาด่า ไม่ว่าคนที่ด่านั้นจะด่าทุกส่วนหรือด่าเป็นบางส่วนก็ตาม
กลุ่มนี้คัดค้านเด็ก ตำหนิเด็ก
(๓) อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มเงียบ ไม่สนับสนุนและไม่คัดค้าน สงบดูท่าทีด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป
กลุ่มสนับสนุน พอเห็นผมเอาภาพเด็กมาเผยแพร่ ก็หวาดระแวงไว้ก่อนว่าผมจะตำหนิเด็ก ด่าว่าเด็ก หรือมา “แตะ” เด็กของฉัน ก็แหวใส่ทันทีว่า มายุ่งกับเด็ก (ของฉัน) ทำไม
กลุ่มคัดค้าน พอเห็นผมเอาภาพเด็กมาเผยแพร่ ก็หวาดระแวงไว้ก่อนว่าผมจะสนับสนุนเด็ก ให้ท้ายเด็ก ส่งเสริมเด็ก ก็แหวใส่ทันทีอีกว่า ไปยุ่งกับเด็ก (ระยำ) นั่นทำไม
ฝ่ายกลุ่มเป็นกลางหรือกลุ่มเงียบ กลุ่มนี้คาดหวังว่าคนแบบผมไม่ควรจะเข้าไปยุ่งกับการเมือง ควรจะหลับตาไหว้พระสวดมนต์ อ่านพระไตรปิฎกไปโดยสงบ พอเห็นผมเอาภาพเด็กมาเผยแพร่ ก็แหวใส่ทันทีเหมือนกันว่า ไปยุ่งกับเด็กทำไม ซึ่งหมายถึง-ไปยุ่งกับเรื่องการเมืองทำไม
นี่คือวิธีคิดของคนที่ตำหนิผม-ตามที่ผมสันนิษฐาน
เป็นวิธีคิดที่มี “อคติ” อยู่ในใจ จึงทำให้มองข้ามความจริงที่ควรจะมองเห็น
ความจริงที่ควรจะมองเห็นก็คือ ผมสนใจหรือติดใจข้อความในภาพ
ไม่ได้สนใจเด็กในภาพ
และไม่ได้สนใจด้วยว่าภาพนั้นเป็นภาพจริงหรือเป็นภาพตัดต่อ
ไม่ว่าภาพนั้นจะเป็นภาพจริงหรือเป็นภาพตัดต่อ ข้อความในภาพก็เป็น “ข้อความจริง” ไม่ใช่ข้อความปลอมหรือข้อความตัดต่อ
หมายความว่า ข้อความว่า “องค์เดียวที่ฉันจะก้มหัวให้คือองคชาต” นั้นมีผู้เขียนขึ้นมาจริงๆ
ลักษณะตัวอักษรเป็นการเขียนด้วยมือ (hand-made) ไม่ใช่ใช้โปรแกรมเขียนหรือตั้งโปรแกรมให้เครื่องมือไฮเทคเขียนแทนคน
แม้สมมุติว่ามีใครเถียงว่า ใช้วิธีตัดอักษรจากที่โน่นตัวหนึ่งที่นั่นตัวหนึ่งมาประสมกัน ไม่ได้ใช้มือเขียนและไม่ได้ใช้อุปกรณ์ไฮเทคเขียน ความจริงก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือข้อความ “องค์เดียวที่ฉันจะก้มหัวให้คือองคชาต” เป็นข้อความที่มีผู้ทำขึ้นอย่างจงใจ และผู้ผลิตข้อความนี้เป็นคน ไม่ใช่สัตว์ เพราะสัตว์ผลิตข้อความแบบนี้ไม่เป็น
แม้หากจะมีสัตว์บางชนิดเขียนหรือผลิตข้อความอะไรได้บ้าง (ถ้ามี) สัตว์ชนิดนั้นหรือสัตว์ตัวนั้นก็ไม่ได้เป็นผู้ผลิตข้อความนี้
และผู้ผลิตข้อความนี้เป็นคนที่อยู่ในเมืองไทยนี่เอง
ที่ต้องพูดละเอียดถึงเพียงนี้ก็เพื่อป้องกันคนชอบแถ-เท่านั้นเองครับ
สรุปว่า ข้อความ “องค์เดียวที่ฉันจะก้มหัวให้คือองคชาต” เป็นข้อความจริง ไม่ใช่ข้อความปลอม จะรู้ตัวคนเขียนหรือไม่รู้ตัว ข้อความนี้ก็ยังคงเป็นข้อความจริงที่มีคนเขียนขึ้นจริงอยู่วันยังค่ำ
ความจริงที่ถูกมองข้ามก็คือ-ผมสนใจหรือติดใจข้อความในภาพ
ไม่ได้สนใจเด็กในภาพ
สมมุติว่า มีคนเขียนข้อความ “องค์เดียวที่ฉันจะก้มหัวให้คือองคชาต”
แล้วเอาไปติดที่เสาไฟฟ้า
แล้วมีคนถ่ายรูปข้อความที่ติดเสาไฟฟ้ามาเผยแพร่
แล้วผมไปเห็นรูปนั้น
แล้วเอารูปนั้นมาลงประกอบบาลีวันละคำ-เหมือนกับที่ได้ทำไปแล้ว
บรรดาท่านๆ ที่ตำหนิผมว่าไปยุ่งกับเด็กทำไม ท่านยังยืนยันหรือไม่ว่า-ก็จะยังคงตำหนิผมอยู่นั่นเองว่า-“ไปยุ่งกับเสาไฟฟ้าทำไม”?
ผมตอบแทนได้เลยว่า-ไม่
นั่นย่อมยืนยันได้ว่า ท่านให้ความสำคัญหรือให้น้ำหนักไปที่เด็กในภาพมากกว่าข้อความในภาพ ในขณะที่ผมให้ความสำคัญแก่ข้อความในภาพมากกว่าเด็กในภาพ
หรือจะพูดให้ถูกจริงๆ ต้องบอกว่า ผมให้ความสำคัญแก่ข้อความในภาพเท่านั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่เด็กในภาพเลยแม้แต่น้อย
ต่อให้เอาข้อความนั้นไปติดที่เสาไฟฟ้า หรือที่กำแพงวัด หรือแขวนคอลิงที่ไหนก็ตาม ถ้ามีภาพนั้นออกมา ผมก็ยังคงสนใจและเอามาเป็นภาพประกอบบาลีวันละคำอยู่นั่นเอง
เหตุผลที่ผมสนใจเฉพาะข้อความในภาพก็เพราะ –
(๑) มีคำว่า “องคชาต” ปรากฏอยู่ในข้อความ
คำว่า “องคชาต” เป็นภาษาบาลี คนรุ่นใหม่อาจจะยังไม่รู้ความหมาย จึงเหมาะที่จะเอาไปเขียนเป็นบาลีวันละคำเป็นการเผยแพร่ความรู้ อันเป็นงานที่ผมทำอยู่
ผมเห็นว่า ผมอาจเขียนคำว่า “องคชาต” เป็นบาลีวันละคำโดยไม่ต้องมีภาพนั้นประกอบก็ได้ แต่อาจจะมีผู้อ่านหลายท่านสงสัยว่า ผมนึกสกปรกลามกอะไรขึ้นมาจึงเอาคำว่า “องคชาต” (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ แปลว่า “อวัยวะสืบพันธุ์ของชาย”) มาเขียน คำอื่นไม่มีจะเขียนอีกแล้วหรือ
อีกวิธีหนึ่ง ผมเพียงกล่าวอ้างอิงว่าได้เห็นภาพมีลักษณะเช่นนั้นๆ มีคำเช่นนั้นๆ จึงขอนำเอามาเขียน-แค่นี้ ก็อาจทำได้
แต่ผมคิดแบบผมว่า ถ้ามีภาพอันเป็นต้นเหตุที่ไปที่มาลงประกอบไว้ด้วย ผมก็ไม่ต้องเสียเวลาอธิบายอะไรเลย เพราะภาพจะอธิบายแทนได้ทั้งหมด
นี่คือเหตุผลที่ผมนำภาพนั้นมาลงประกอบ และที่ผมไม่ได้เอ่ยถึงภาพนั้นเลยในบาลีวันละคำที่เขียนคำว่า “องคชาต” ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้
นี่เป็นส่วนที่ผมได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว คือเขียนคำว่า “องคชาต” เป็นบาลีวันละคำเผยแพร่ความรู้ไปสู่ญาติมิตร
(๒) ผู้เขียนข้อความนั้นใช้คำว่า “องค์” นำไปสู่คำว่า “องคชาต” ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการใช้คำที่ส่อเจตนาดูหมิ่นสถาบัน และสมควรนำมาวิเคราะห์วิจารณ์ว่าผู้ที่เขียนข้อความนี้มีเหตุผลอะไรจึงเขียนข้อความเช่นนี้ออกมา และนำออกมาเผยแพร่ด้วยประสงค์ผลอะไร
นี่เป็นส่วนที่ผมตั้งใจทำ แต่ยังไม่ได้ทำเพราะเกิดบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวยขึ้นเสียก่อน
ควรสังเกตด้วยว่า บรรดาท่านที่เข้ามาตำหนิผมนั้นแทบจะไม่มีใครสนใจหรือให้ความสำคัญแก่ข้อความนั้นเลยด้วยซ้ำ
ผมสนใจคำ ไม่ได้สนใจคน (คือเด็กในภาพ)
แต่ท่านเหล่านั้นสนใจคน จึงไม่ได้สนใจคำ
มีท่านผู้ใดคิดจะหยิบจับขึ้นมาพินิจพิเคราะห์ด้วยสติปัญญาบ้างหรือไม่ว่า ข้อความ “องค์เดียวที่ฉันจะก้มหัวให้คือองคชาต” นี้ เป็นคำดูหมิ่นสถาบันอย่างเลวทรามหยาบช้าเพียงไร
โดยเฉพาะท่านที่บอกว่ารักสถาบันและปกป้องสถาบัน มีใครรู้สึกเจ็บร้อนแทนบ้าง
แทนที่จะช่วยกันปกป้องสถาบัน กลับแสดงท่าทีปกป้องเด็กที่ด่าสถาบัน – ใช่หรือไม่
ถ้าไม่ใช่ คำตำหนิว่า “ไปยุ่งกับเด็กทำไม” คืออะไร?
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
๑๗:๓๗
…………………………….
…………………………….