มตกภัต (บาลีวันละคำ 3,097)
มตกภัต
อ่านว่า มะ-ตะ-กะ-พัด
ประกอบด้วยคำว่า มตก + ภัต
(๑) “มตก”
บาลีอ่านว่า มะ-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ต ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (มรฺ > ม) + ก สกรรถ (กะ สะ-กัด)
: มรฺ + ต = มรต > มต + ก = มตก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ตายแล้ว” หมายถึง คนตาย, ผู้ตาย (dead, one who is dead)
บาลี “มตก” สันสกฤตเป็น “มฤตก”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“มฤตก : (คำนาม) ผี, ศพ; a dead body; a corpse.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มตกะ : (คำนาม) คนตายแล้ว, ผู้ตายแล้ว. (คำวิเศษณ์) ของผู้ตายแล้ว. (ป.; ส. มฤตก).”
(๒) “ภัต”
บาลีเป็น “ภตฺต” (พัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ต ปัจจัย, แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภชฺ + ต = ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องเสพ”
(2) ภุชฺ (ธาตุ = กลืนกิน, ใช้สอย) + ต ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น อ (ภุ > ภ), แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภุชฺ + ต = ภุชต > ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของที่จะพึงกลืนกิน”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภตฺต” (นปุงสกลิงค์) ว่า food, nourishment, meal, feeding (อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ, การเลี้ยง)
บาลี “ภตฺต” ภาษาไทยใช้เป็น “ภัต” และ “ภัตร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัต, ภัต-, ภัตร : (คำนาม) อาหาร, ข้าว. (ป. ภตฺต).”
บาลี “ภตฺต” สันสกฤตน่าจะเป็น “ภตฺร” เพราะไทยใช้เป็น “ภัตร” ด้วย แต่ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เป็นเครื่องมือในการอ้างอิงถึงคำสันสกฤตไม่ได้เก็บคำว่า “ภตฺร” ไว้
มตก + ภตฺต = มตกภตฺต (มะ-ตะ-กะ-พัด-ตะ) แปลว่า “ภัตเพื่อผู้ตาย”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มตกภตฺต” ว่า a meal for the dead, food offered to the manes (มตกภัต, อาหารสำหรับคนตาย หรือที่เซ่นไหว้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว)
“มตกภตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มตกภัต”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“มตกภัต : ‘ภัตเพื่อผู้ตาย’, อาหารที่ถวายแก่สงฆ์เพื่ออุทิศกุศลแก่ผู้ตาย.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มตกภัต : (คำนาม) ข้าวที่ทําบุญอุทิศให้คนตาย. (ป. มตกภตฺต).”
อภิปราย :
๑ มีข้อถกเถียงว่า คำบาลีว่า “ภตฺต” หมายถึงอะไร?
บางสำนักบอกว่า หมายถึงข้าวสุก คือ rice หรือ boiled rice เป็นการระบุชนิดของโภชนะ 1 ใน 5 อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ ซึ่งมีพระวินัยบัญญัติว่า ถ้าผู้ถวายระบุชื่อโภชนะเช่นนี้ ภิกษุจะรับมิได้ (เว้นแต่มีข้อผ่อนผัน เช่นได้กรานกฐินแล้วเป็นต้น)
บางสำนักบอกว่า หมายถึงอาหารทั่วไป คือ food หรือ meal โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นอาหารชนิดไหน ดังในคำถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ (ที่เราเรียกผิดจนติดปากว่า ถวายสังฆทาน) คำว่า “ภตฺตานิ” ก็คือถวาย food ไม่ใช่ถวายเฉพาะ rice เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่การถวายโดยระบุชื่อโภชนะ
ปัญหานี้ตัดสินได้ง่าย ดังเรื่องในคัมภีร์ที่ปรากฏทั่วไปว่า ชาวบ้านนิมนต์พระไปฉัน เมื่อเขาจัดอาหารเสร็จก็จะส่งคนไปแจ้งแก่พระว่า “นิฏฺฐิตํ ภตฺตํ” (นิด-ถิ-ตัง พัด-ตัง) ซึ่งแปลว่า “อาหารเสร็จแล้ว (นิมนต์ไปฉันได้แล้ว)”
นั่นแสดงว่า “ภตฺต” หมายถึง อาหาร คือ food ไม่ได้หมายถึง ข้าวสุก หรือ rice
และในรายการโภชนะ 5 อย่างตามพระวินัย “ข้าวสุก” บาลีใช้คำว่า “โอทโน” ไม่ใช่ “ภตฺต”
คำแปลในพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ซึ่งฝรั่งที่ชำนาญบาลีเป็นผู้แปล ก็ไม่ได้แปล “ภตฺต” ว่า rice
๒ มีข้อถกเถียงอีกว่า “มตกภัต” ที่เราถวายกันนั้น สามารถไปถึงผู้ตายได้จริง หรือเป็นแต่เพียงความเชื่อว่าจะไปถึงได้
พูดอีกอย่างหนึ่ง อะไรที่เป็นความจริง มันก็จะเป็นจริงอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่เป็นตามที่คนเชื่อ ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่ออย่างไร มันก็คงเป็นจริงอยู่เช่นนั้น
ถวายมตกภัตถึงคนตายหรือไม่ถึง ความจริงเป็นเช่นไร ใครจะบอกได้
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่เหนือมิติธรรมดา เนื่องจากผู้ตายกับผู้ถวายอยู่กันคนละมิติ และคนธรรมดาไม่สามารถล่วงรู้ความจริงในมิติของผู้ตายได้ เราจึงต้องอาศัยความเชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
เรื่องหนึ่งที่ปรากฏในคัมภีร์คือเรื่องเปรตที่เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายถวายทานแล้วอุทิศให้ ญาติที่เป็นเปรตก็ได้รับผลทานจริงๆ
ถ้าปรารถนาจะพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ ก็ต้องปฏิบัติอบรมจิตจนสามารถล่วงรู้ความจริงในโลกต่างมิติได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงรู้และมีพระอรหันต์บรรลุธรรมแล้วรู้ตามได้เป็นอันมาก
ถ้าไม่ทำเช่นนี้ ก็ต้องถกเถียงกันร่ำไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถวายมตกภัตแล้วจะถึงแก่ผู้ตายฤๅหาไม่
จะสงสัยดังนี้ก็ควรอยู่
: แต่อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ให้มีกำลังปรนนิบัติพระธรรมวินัยสืบอายุพระศาสนานั้น จะเป็นบุญฤๅหาไม่ดังนี้ มิควรจะต้องสงสัยเลย
: ผิว่าภิกษุเหล่านั้นจะเอากำลังไปทำกิจอื่นอันมิต้องด้วยพระธรรมวินัยเสียอีกเล่า จะว่าเป็นความบกพร่องของเราผู้ถวายแต่สักน้อยหนึ่งก็หามิได้เลย
#บาลีวันละคำ (3,097)
4-12-63