บาลีวันละคำ

สมันตปาสาทิกา (บาลีวันละคำ 3,098)

สมันตปาสาทิกา

“อรรถกถาอันนำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบ”

อ่านว่า สะ-มัน-ตะ-ปา-สา-ทิ-กา

ประกอบด้วยคำว่า สมันต + ปาสาทิกา

(๑) “สมันต

เขียนแบบบาลีเป็น “สมนฺต” อ่านว่า สะ-มัน-ตะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ด้วยกัน, ดี) + อนฺต (ริม, ขอบ, ที่สุด), แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สม)

: สํ > สม + อนฺต = สมนฺต แปลตามศัพท์ว่า “มีขอบริมอยู่ติดกัน” หมายถึง ทั้งหมด, โดยรอบ (all, entire)

สมนฺต” ใช้เป็นคุณศัพท์ บางทีใช้เป็นกิริยาวิเสสนะ มีความหมายหลายนัย เช่น:

– สมนฺตํ = อย่างสมบูรณ์ (completely)

– สมนฺเตน = ทุกด้าน, ทุกแห่ง, ที่ไหนก็ตาม (on all sides, everywhere, anywhere)

– สมนฺตา = ทุกแห่ง (everywhere)

– สมนฺตโต = โดยรอบ (all round)

(๒) “ปาสาทิกา

รากศัพท์มาจาก ปสาท + อิก ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(ก) “ปสาท” (ปะ-สา-ทะ) รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + สทฺ (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชม; เลื่อมใส, ผ่องใส) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (สทฺ > สาท)

: + สทฺ = ปสทฺ + = ปสทณ > ปสท > ปสาท แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่ทำให้ยินดีโดยพิเศษ” (2) “ภาวะเป็นเครื่องผ่องใสแห่งนัยน์ตา” (คือทำให้ตาผ่องใส)

ปสาท” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความชัด, ความแจ่มใส, ความบริสุทธิ์ (clearness, brightness, purity)

(2) ความดีใจ, ความพอใจ, ความสุขหรือความครึ้มใจ, ความดี, ศรัทธา (joy, satisfaction, happy or good mind, virtue, faith)

(3) การพักผ่อน, ความสำรวมใจ, ความสงบเยือกเย็น, ความราบรื่นไม่ไหวหวั่น (repose, composure, allayment, serenity)

(ข) ปสาท + อิก + อา ทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ -(สาท) เป็น อา (ปสาท > ปาสาท)

: ปสาท + อิก = ปสาทิก + อา = ปสาทิกา > ปาสาทิกา แปลตามศัพท์ว่า “-อันนำมาซึ่งความเลื่อมใส

สมนฺต + ปาสาทิกา = สมนฺตปาสาทิกา > สมันตปาสาทิกา แปลว่า “(อรรถกถา) อันนำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบ

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า

…………..

สมันตปาสาทิกา : ชื่อคัมภีร์อรรถกถา อธิบายความในพระวินัยปิฎก พระพุทธโฆสาจารย์แปลและเรียบเรียงขึ้นเป็นภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐ โดยอาศัยอรรถกถาภาษาสิงหฬที่มีอยู่ก่อน คือใช้คัมภีร์มหาอัฏฐกถา เป็นหลัก พร้อมทั้งปรึกษาคัมภีร์ มหาปัจจรี และกุรุนที เป็นต้นด้วย.”

…………..

แถม :

พระวินัยปิฎกเป็น 1 ในพระไตรปิฎก แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 คัมภีร์ คือ –

1 อาทิกรรม

2 ปาจิตตีย์

3 มหาวรรค

4 จุลวรรค

5 ปริวาร

โบราณเอาคำแรกของชื่อคัมภีร์ทั้ง 5 มาเรียกรวมกันว่า “อาปามะจุปะ” นับถือกันว่าเป็น “หัวใจพระวินัยปิฎก”

คัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่อธิบายพระวินัยปิฎกมีชื่อว่า “สมันตปาสาทิกา” อธิบายพระวินัยจบครบทั้ง 5 คัมภีร์

คัมภีร์ “สมันตปาสาทิกา” พิมพ์เป็นอักษรไทยแบ่งเป็น 3 เล่ม เรียกว่า “ภาค” คือ

สมนฺตปาสาทิกา นาม วินยฏฺฐกถา ปฐโม ภาโค (ภาค 1)

สมนฺตปาสาทิกา นาม วินยฏฺฐกถา ทุติโย ภาโค (ภาค 2)

สมนฺตปาสาทิกา นาม วินยฏฺฐกถา ตติโย ภาโค (ภาค 3)

หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย ใช้คัมภีร์สมันตปาสาทิกาเป็นแบบเรียน ดังนี้ –

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค 3 เป็นแบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.6/บ.ศ.6

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค 1 และภาค 2 เป็นแบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.7/บ.ศ.7

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค 1 เป็นแบบเรียนวิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.8/บ.ศ.8

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระวินัยเป็นของหนัก อย่าลาก จงแบกไป

: ถ้าแบกไม่ไหวจงวางลงค่อยๆ แล้วถอยออกมา

: แต่อย่าโยนทิ้ง

#บาลีวันละคำ (3,098)

5-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย