บาลีวันละคำ

นครโสภินี (บาลีวันละคำ 58)

นครโสภินี

อ่านว่า นะ-คะ-ระ-โส-พิ-นี

ในภาษาบาลี แสดงความเป็นมาของความหมายไว้ว่า

นครํ โสเภตีติ นครโสภินี

(นะ-คะ-รัง-โส-เพ-ตี-ติ-นะ-คะ-ระ-โส-พิ-นี)

แปลว่า “หญิงใด ย่อมทำบ้านเมืองให้งาม หญิงนั้น ชื่อว่านครโสภินี”

ในภาษาไทย เขียนว่า โสภิณี, โสเภณี, นครโสเภณี

มูลเหตุของคำนี้มาจากบ้านเมืองในชมพูทวีปสมัยโบราณมีธรรมเนียมยกย่องสตรีที่มีความงามให้ดำรงตำแหน่ง “นครโสภินี – หญิงงามประจำเมือง” (แบบเดียวกับตำแหน่งนางสาวไทย – นางงามจักรวาล ในปัจจุบันนี้) เป็นตำแหน่งที่มีไว้เพื่อต้อนรับ หรืออวดแขกบ้านแขกเมือง ถือว่าเป็นสง่าราศี เป็นเกียรติยศของบ้านเมืองนั้นๆ

แต่ธรรมดาหญิงงามย่อมเป็นที่หมายปองของชาย เมื่อมีชายมากหลายหมายปอง ก็เป็นโอกาสให้หญิงงามนั้นเลือกรับเลือกรักได้หลากหลายไปด้วย

ในที่สุดความหมายของ “นครโสภินี” ก็เปลี่ยนไป กลายเป็น “หญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี” เป็นสถานะที่สังคมรังเกียจ ถึงกับบางประเทศพยายามที่จะไม่ให้มีในบ้านเมืองของตน กลายเป็นตรงกันข้ามกับค่านิยมที่เป็นมูลเหตุดั้งเดิมไป

สถานะนั้นสำคัญไฉน :

คนที่อยู่ในสถานะนั้นต่างหากที่ทำให้ความหมายและคุณค่าของสถานะเปลี่ยนไป

– สูงขึ้น หรือต่ำลง

บาลีวันละคำ (58)

1-7-55

นครโสภินี = หญิงงามเมือง โสเภณี

ผู้ยังเมืองให้งาม นคร บทหน้า สุภ ธาตุ ในความหมายว่างาม ณ ปัจจัย อินี อิต. พฤทธิ์ อุ เป็น โอ

นครโสภินี the city beile, a town couriesan

นครํ โสเภตีติ นครโสภินี ผู้ยังเมืองให้งาม นคร บทหน้า สุภ ธาตุ ในความหมายว่างาม ณ ปัจจัย อินี อิต. พฤทธิ์ อุ เป็น โอ

นครโสเภณี, หญิงนครโสเภณี

  [นะคอน-, หฺยิงนะคอน-] น. หญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี, โสเภณี หญิงโสเภณี หญิงงามเมือง หรือ หญิงหากิน ก็ว่า, (แบบ) นครโสภิณี, หญิงนครโสภิณี.

โสภิณี, โสเภณี

  น. หญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี, นครโสเภณี หญิงนครโสเภณี หญิงงามเมือง หรือ หญิงหากิน ก็ว่า. (ป. โสภิณี ว่า หญิงงาม; ส. โศภินี).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย