บาลีวันละคำ

จีวร (บาลีวันละคำ 59)

จีวร

บาลีอ่านว่า จี-วะ-ระ

ภาษาไทยใช้ตามบาลี อ่านว่า จี-วอน

คำนี้เป็นตัวอย่างภาษาบาลีที่คนไทย “รู้จักดีเสียจนไม่รู้จัก

พอพูดว่า “จีวร” เราก็รู้กันทันทีว่าคือ “ผ้าที่พระห่ม

แต่ถ้าถามว่า คำว่า “จีวร” แปลว่าอะไร เราก็ไม่รู้ คือไม่ได้นึก

จีวร” แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าอันท่านก่อขึ้นจากท่อนผ้า” (วตฺถขนฺเธหิ จียเตติ จีวรํ)

แปลไทยเป็นไทยว่า “ผ้าที่เย็บต่อกันเป็นชิ้นๆ

จีวรพระจึงไม่ใช่เนื้อเดียวกันทั้งผืน แต่เป็นผ้าที่เย็บต่อกันเป็นชิ้นๆ

ในภาษาบาลี “จีวร” หมายถึงผ้าทุกผืนที่พระใช้นุ่งห่ม แต่เรียกแยกออกไปแต่ละชนิด

ผ้านุ่ง เรียก “อันตรวาสก” (อัน-ตะ-ระ-วา-สก) คือที่เราเรียกกันว่า “สบง”

ผ้าห่ม เรียก “อุตตราสงค์” (อุด-ตะ-รา-สง) นี่คือที่เราเรียกกันว่า “จีวร”

ผ้าห่มซ้อน (ผ้าห่มผืนที่สอง) เรียกว่า “สังฆาฏิ” (สัง-คา-ติ)

รวมทุกผืนทุกชนิด เรียกว่า “จีวร

บาลีวันละคำ (59)

2-7-55

จีวร, จีวร- (พจน.๔๒)

  [จีวอน, จีวอนระ-] น. เครื่องนุ่งห่มของภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา, ผ้าสําหรับห่มของภิกษุสามเณร, คู่กับ สบง, ภาษาปากเรียก ผ้าเหลือง. [ในพระพุทธศาสนา จีวร ในคําว่า บาตรจีวร หรือ ไตรจีวร หมายเอาผ้าทั้ง ๓ อย่าง คือ ผ้าทาบ (สังฆาฏิ) ผ้าห่ม (จีวร) และผ้านุ่ง (สบง), ในคําว่า สบง จีวร สังฆาฏิ หมายเอาแต่ผ้าห่มอย่างเดียว]. (ป., ส.).

จีวร (พจนานุกรมพุทธศาสน์)

ผ้าที่ใช้นุ่งห่มของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ผืนใดผืนหนึ่ง ในจำนวน ๓ ผืนที่เรียกว่า ไตรจีวร คือผ้าซ้อนนอกหรือผ้าทาบซ้อน (สังฆาฏิ) ผ้าห่ม (อุตราสงค์) และผ้านุ่ง (อันตรวาสก), แต่ในภาษาไทย นิยมเรียกเฉพาะผ้าห่มคืออุตราสงค์ ว่าจีวร; จีวรมีขนาดที่กำหนดตามพุทธบัญญัติในสิกขาบทที่ ๑๐ แห่งรตนวรรค (ปาจิตตีย์ ข้อที่ ๙๒; วินย.๒/๗๗๖/๕๑๑) คือ มิให้เท่าหรือเกินกว่าสุคตจีวร ซึ่ง ยาว ๙ คืบ กว้าง ๖ คืบ โดยคืบพระสุคต, ผ้าทำจีวรที่ทรงอนุญาตมี ๖ ชนิด ดังที่ตรัสว่า (วินย.๒/๑๓๙/๑๙๓) “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวร ๖ ชนิด คือ โขมะ จีวรผ้าเปลือกไม้ ๑ กัปปาสิกะ จีวรผ้าฝ้าย ๑ โกเสยยะ จีวรผ้าไหม ๑ กัมพละ จีวรผ้าขนสัตว์ (ห้ามผมและขนมนุษย์) ๑ สาณะ จีวรผ้าป่าน ๑ ภังคะ จีวรผ้าของในห้าอย่างนั้นเจือกัน ๑”; สีต้องห้ามสำหรับจีวร คือ (วินย.๕/๑๖๙/๒๓๔) นีลกะล้วน (สีเขียวคราม) ปีตกะล้วน (สีเหลือง) โลหิตกะล้วน (สีแดง) มัญ-เชฏฐก์ล้วน (สีบานเย็น) กัณหะล้วน (สีดำ) มหารงครัตต์ล้วน (สีแดงมหา-รงค์ อรรถกถาอธิบายว่าสีอย่างหลังตะขาบ แปลกันมาว่าสีแสด) มหานาม-รัตต์ล้วน (สีแดงมหานาม อรรถกถาอธิบายว่าสีแกมกัน อย่างสีใบไม้เหลือง บ้างว่าสีกลีบดอกปทุมอ่อน แปลกันมาว่าสีชมพู) ทั้งนี้ สีที่รับรองกันมา คือสีเหลืองเจือแดงเข้ม หรือสีเหลืองหม่น เช่นสีย้อมแก่นขนุน  ที่เรียกว่าสีกรัก 

        จีวรนั้น พระพุทธเจ้าโปรดให้พระอานนท์ออกแบบจัดทำตามรูปนาของชาวมคธ (วินย.๕/๑๔๙/๒๐๒) ทำให้มีรูปลักษณ์เป็นระเบียบแบบแผน โดยทรงกำหนดให้เป็นผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ นำมาเย็บประกอบกันขึ้นตามแบบที่จัดวางไว้ ชิ้นทั้งหลายมีชื่อต่างๆ เป็น กุสิ อัฑฒกุสิ มณฑล อัฑฒมณฑล วิวัฏฺฏะ อนุวิวัฏฺฏะ คีเวยยกะ ชังเฆยยกะ พาหันตะ ทั้งนี้ เมื่อเป็นผ้าที่ถูกตัด ก็จะเป็นของเศร้าหมองด้วยศัสตรา คือมีตำหนิ เสียรูปเสียความสวยงาม เสื่อมค่า เสียราคา สมควรแก่สมณะ และพวกคนที่ประสงค์ร้ายไม่เพ่งจ้องอยากได้

        มีพุทธบัญญัติว่า (วินย.๕/๙๗/๑๓๗) จีวรผืนหนึ่งๆ ต้องตัดเป็นปัญจกะ (มีส่วนประกอบห้าชิ้น หรือห้าผืนย่อย, ชิ้นใหญ่หรือผืนย่อยนี้ ต่อมาในชั้นอรรถ-กถา เรียกว่า “ขัณฑ์” จึงพูดว่าจีวรห้าขัณฑ์) หรือเกินกว่าปัญจกะ (พูดอย่างอรรถกถาว่า มากกว่า ๕ ขัณฑ์ เช่น เป็น ๗ ขัณฑ์ ๙ ขัณฑ์ หรือ ๑๑ ขัณฑ์)

ตามพุทธบัญญัติเดิมนั้น จีวรทั้ง ๓  (คือ สังฆาฏิ อุตราสงค์ และอันตรวาสก) ต้องเป็นผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ นำมาเย็บประกอบกันขึ้นอย่างที่กล่าวข้างต้น แต่ภิกษุบางรูปทำจีวร เมื่อจะให้เป็นจีวรผ้าตัดทุกผืน ผ้าไม่พอ จึงเป็นเหตุปรารภให้มีพุทธานุญาตยกเว้นว่า (วินย.๕/๑๖๑/ ๒๑๙) “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวรผ้าตัด ๒ ผืน จีวรผ้าไม่ตัด ๑ ผืน” เมื่อผ้ายังไม่พอ ก็ตรัสอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวรผ้าไม่ตัด ๒ ผืน จีวรผ้าตัด ๑ ผืน” ถึงอย่างนั้น ก็มีกรณีที่ผ้ายังไม่พออีก จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เพิ่มผ้าเพลาะ แต่ผ้าไม่ตัดเลยหมดทุกผืน ภิกษุไม่พึงใช้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

        ในสมัยต่อมา นิยมนำคำว่า “ขัณฑ์” มาใช้เป็นหลักในการกำหนดและเรียกชื่อส่วนต่างๆ ของจีวร ทำให้กำหนดง่ายขึ้นอีก ดังได้กล่าวแล้วว่า จีวรมีอย่างน้อย ๕ ขัณฑ์ คือ จีวรที่มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าผืนหนึ่งนี้ เมื่อคลี่แผ่ออกไปตามยาว จะเห็นว่ามีขัณฑ์ คือผ้าผืนย่อยขนาดประมาณเท่าๆ กัน ยาวตลอดจากบนลงล่าง ๕ ผืน เรียงต่อกันจากซ้ายไปสุดขวา ครบเป็นจีวร ๑ ผืน; ขัณฑ์ทั้ง ๕ นี้ แต่ละขัณฑ์มีส่วนประกอบครบในตัว คือ มี ๒ กระทง ได้แก่ กระทงใหญ่ เรียกว่ามณฑล กับกระทงเล็ก (ราวครึ่งของกระทงใหญ่) เรียกว่า อัฑฒมณฑล, ระหว่างมณฑลกับอัฑฒมณฑล มีเส้นคั่นดุจคันนาขวาง เรียกว่าอัฑฒกุสิ, มณฑล กับอัฑฒมณฑล และอัฑฒกุสิ รวมเป็นขัณฑ์หนึ่ง โดยมีเส้นคั่นระหว่างขัณฑ์นั้น กับขัณฑ์อื่น อยู่สองข้างของขัณฑ์ ดุจคันนายืน เรียกว่า กุสิ, เมื่อรวมเป็นจีวรครบผืน (นิยมเรียงขัณฑ์ที่ต่อกัน ให้ด้านมณฑลกับด้านอัฑฒมณฑลสลับกัน) มีผ้าขอบจีวรทั้งสี่ด้าน เรียกว่า อนุวาต (แปลว่าพลิ้วตามลม, อนุวาตก็เป็นกุสิอย่างหนึ่ง); ขัณฑ์แต่ละขัณฑ์มีชื่อเรียกเฉพาะต่างกันไป (ตามคำอธิบายของอรรถกถา วินย.อ.๓/๒๓๖) คือ ขัณฑ์กลาง ชื่อวิวัฏฏะ (แปลตามศัพท์ว่าคลี่ขยายออกไป), ขัณฑ์ที่อยู่ข้างวิวัฏฏะทั้งสองด้าน ชื่ออนุวิวัฏฏะ (แปลตามศัพท์ว่าคลี่ขยายไปตาม), ขัณฑ์ที่อยู่ขอบนอกทั้งสองข้าง ชื่อพาหันตะ (แปลว่าสุดแขน หรือปลายพาดบนแขน) นี้สำหรับจีวร ๕ ขัณฑ์, ถ้าเป็นจีวรที่มีขัณฑ์มากกว่านี้ (คือมี ๗ ขัณฑ์ขึ้นไป) ขัณฑ์ทุกขัณฑ์ที่อยู่ระหว่างวิวัฏฏะกับพาหันตะ ชื่อว่าอนุวิวัฏฏะทั้งหมด (บางทีเรียกให้ต่างกันเป็น จูฬานุวิวัฏฏ์ กับมหานุวิวัฏฏ์); นอกจากนี้ มีแผ่นผ้าเย็บทาบเติมลงไปตรงที่หุ้มคอ เรียกว่า       คีเวยยกะ และแผ่นผ้าเย็บทาบเติมลงไปตรงที่ถูกแข้ง เรียกว่า ชังเฆยยกะ (นี้ว่าตามคำอธิบายในอรรถกถา แต่พระมติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในหนังสือวินัยมุข เล่ม ๒ ว่า ในจีวรห้าขัณฑ์ๆ กลาง ชื่อคีเวยยกะ  เพราะเมื่อห่มจีวร อัฑฒมณฑลของขัณฑ์นั้นอยู่ที่คอ, ขัณฑ์ถัดออกมาทั้ง ๒ ข้าง  ชื่อชังเฆยยกะ เพราะอัฑฒมณฑลของ ๒ ขัณฑ์นั้น  อยู่ที่แข้งในเวลาห่ม,  ขัณฑ์ถัดออกมาอีกทั้ง ๒ ข้าง ชื่อพาหันตะ  เพราะอัฑฒมณฑลของ ๒ ขัณฑ์นั้น อยู่ที่แขนในเวลาห่ม); ต่อมา มีเหตุการณ์อันเป็นกรณีต่างหาก ซึ่งเป็นข้อปรารภให้ทรงอนุญาตลูกดุม (คัณฐิกา) และรังดุม (ปาสกะ) (วินย.๗/๑๖๖/๖๕); ดู ไตรจีวร, ขัณฑ์

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย