บาลีวันละคำ

ฌาน ไม่ใช่ ญาณ (บาลีวันละคำ 3,676)

ฌาน ไม่ใช่ ญาณ

ไม่ใช่ ฌาณ 

และไม่ใช่ ญาน

ฌาน” ภาษาไทยอ่านว่า ชาน

ญาณ” ภาษาไทยอ่านว่า ยาน

ฌาน” กับ “ญาณ” 2 คำนี้ผู้ที่ไม่ได้เรียนบาลีหรือไม่มีพื้นทางภาษาไทยมักจะเข้าใจสับสน เช่น เข้าใจว่ามีความหมายเหมือนกัน และเข้าใจผิดไปว่า สะกด “ฌาณ” ก็ได้ “ญาน” ก็ได้ 

ฌาน” น หนู สะกด

ญาณ” ณ เณร สะกด

ฌาน” กับ “ญาณ” เป็นคนละคำกัน ความหมายต่างกัน ใช้แทนกันไม่ได้ 

(๑) “ฌาน” 

บาลีอ่านว่า ชา-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) เฌ (ธาตุ = คิด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะนะ), แปลง เฌ เป็น ฌา 

: เฌ + ยุ > อน = เฌน > ฌาน แปลตามศัพท์ว่า “ความคิด

(2) ฌาปฺ (ธาตุ = เผา, ทำให้ไหม้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะนะ), ลบที่สุดธาตุ (ฌาปฺ > ฌา)

: ฌาปฺ + ยุ > อน = ฌาปน > ฌาน แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาตที่เผาข้าศึกคือนิวรณ์

ฌาน” หมายถึง ความคิด, ความเพ่ง (ซึ่งเมื่อมีกำลังเต็มที่จะมีพลังเหมือนไฟที่สามารถเผาอารมณ์ที่เป็นข้าศึกแก่กุศลให้มอดไหม้ได้ ทำให้จิตดิ่งนิ่งสงบควรแก่การที่จะเจริญปัญญาต่อไป)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของ “ฌาน” ไว้ว่า –

ฌาน : (คำนาม) ภาวะที่จิตสงบแน่วแน่เนื่องมาจากการเพ่งอารมณ์, การเพ่งอารมณ์จนจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ, เรียกลักษณะการทําจิตให้สงบตามหลักทางศาสนาว่า เข้าฌาน เช่น พระเข้าฌาน ฤษีเข้าฌาน, โดยปริยายหมายถึงนั่งหลับหรือนั่งเหม่อใจลอยไม่รับรู้อะไร เรียกว่า เข้าฌาน, ฌานนั้นจัดเป็น ๔ ชั้น เรียกชื่อตามลําดับที่ประณีตขึ้นไปกว่ากัน คือ ปฐมฌาน ได้แก่ ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ ยังมีตรึก ซึ่งเรียกว่า วิตก มีตรอง ซึ่งเรียกว่า วิจาร เหมือนอารมณ์แห่งจิตของคนสามัญ มีปีติ คือความอิ่มใจ มีสุข คือความสบายใจอันเกิดแต่วิเวกคือความเงียบ และประกอบด้วยจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งลงไปซึ่งเรียกว่า เอกัคตา, ทุติยฌาน ได้แก่ ฌานที่ ๒ มีองค์ ๓ คือ ละวิตกวิจารเสียได้ คงอยู่แต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิกับเอกัคตา, ตติยฌาน ได้แก่ ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ ละปีติเสียได้ คงอยู่แต่สุขกับเอกัคตา, จตุตถฌาน ได้แก่ ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ เหมือนกัน ละสุขเสียได้กลายเป็นอุเบกขาคือเฉย ๆ กับเอกัคตา, ฌานทั้ง ๔ นี้จัดเป็นรูปฌาน เป็นรูปสมาบัติ มีรูปธรรมเป็นอารมณ์ สงเคราะห์เข้าในรูปาวจรภูมิ. (ป.; ส. ธฺยาน).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เหลืองเพียงว่า –

ฌาน : (คำนาม) ภาวะที่จิตสงบแน่วแน่เนื่องมาจากการเพ่งอารมณ์ หรือการเพ่งอารมณ์จนจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ รูปฌาน กับ อรูปฌาน. (ป.; ส. ธฺยาน).”

บาลี “ฌาน” สันสกฤตเป็น “ธฺยาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ธฺยาน : (คำนาม) ธยาน, สมาธิ, ภาวนา, วิมรรศ์; meditation, reflection.”

(๒) “ญาณ” 

บาลีอ่านว่า ยา-นะ รากศัพท์มาจาก ญา (ธาตุ = รู้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น  

: ญา + ยุ > อน = ญาน > ญาณ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องช่วยรู้” “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้” “รู้สิ่งที่พึงรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญา 

ญาณ” ในความหมายพิเศษ หมายถึงปัญญาหยั่งรู้หรือกําหนดรู้ความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างแจ่มชัดจนเกิดความสว่างไสวในดวงจิต หรือความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษถึงเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ญาณ, ญาณ– : (คำนาม) ปรีชาหยั่งรู้หรือกําหนดรู้ที่เกิดจากอํานาจสมาธิ, ความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษ. (ป.; ส. ชฺญาน).”

ความหมายที่แตกต่างระหว่าง “ฌาน” กับ “ญาณ” :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อ้างคำอธิบายในคัมภีร์วิสุทธิมรรคบอกความหมายของ “ฌาน” ว่า –

(1) การเพ่งอารมณ์ในวัตถุ (meditation on objects)

(2) การเผาสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ให้หมดไป (burning up anything adverse)

และแปล “ญาณ” ว่า knowledge, intelligence, insight, conviction, recognition; cognizance, learning, skill (ความรู้, ปัญญา, การหยั่งเห็น, ความเชื่อ, ความเข้าใจ, การหยั่งรู้; การรับรู้, ความคงแก่เรียน, ทักษะ, ความฉลาด)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “ฌาน” และ “ญาณ” เป็นอังกฤษดังนี้ –

ฌาน (Jhāna) meditation; absorption; a state of serene contemplation attained by meditation; (mis.) trance; ecstasy.

ญาณ (Ñāṇa) knowledge; real knowledge; wisdom; insight.

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

(1) ฌาน : การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ, ภาวะจิตสงบประณีต ซึ่งมีสมาธิเป็นองค์ธรรมหลัก.

(2) ญาณ : ความรู้, ปรีชาหยั่งรู้, ปรีชากำหนดรู้.

…………..

สรุปว่า :

ฌาน” คือ สมาธิ (meditation) 

ญาณ” คือ ปัญญา (wisdom) 

เล็งถึงสมาธิ แต่เขียนเป็น “ญาณ” คือผิด

เล็งถึงปัญญา แต่เขียนเป็น “ฌาน” คือผิด

อนึ่ง โปรดสังเกตไว้ด้วยว่า –

ฌาน เฌอ สระอา สะกดด้วย หนู

ญาณ หญิง สระอา สะกดด้วย เณร

ไม่ใช่ “ฌาณ เฌอ สะกดด้วย เณร

ไม่ใช่ “ญาน หญิง สะกดด้วย หนู

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การเรียนรู้อยู่ในวิสัยของมนุษย์

: ภาษาเป็นสิ่งสมมุติจึงจำเป็นต้องเรียนรู้

#บาลีวันละคำ (3,676)

6-7-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *