บาลีวันละคำ

อัฏฐสาลินี (บาลีวันละคำ 3,109)

อัฏฐสาลินี

คัดกรองคำนำมาอธิบายพระปรมัตถ์

อ่านว่า อัด-ถะ-สา-ลิ-นี

ประกอบด้วยคำว่า อัฏฐ + สาลินี

(๑) “อัฏฐ

อ่านว่า อัด-ถะ เขียนแบบบาลีเป็น “อฏฺฐ” เป็นคำที่สะกดอีกรูปหนึ่งของ “อตฺถ” หรือจะกำหนดไว้ว่า “อตฺถ” สะกดอีกรูปหนึ่งเป็น “อฏฺฐ” ดังนี้ก็ได้

อตฺถ” (อัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง เป็นไป; พินาศ) + ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตเป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)

: อรฺ + = อรฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ” (4) “ภาวะที่พินาศ

(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตเป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)

: อสฺ + = อสฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์

(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + (อะ) ปัจจัย

: อตฺถฺ + = อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ

อตฺถ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ; ความดี, พร, สวัสดิภาพ; ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)

(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา, ประโยชน์ (need, want, use)

(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import [of a word], denotation, signification)

(4) ข้อความ, สิ่งของ (matter, thing)

(5) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)

ในที่นี้ “อตฺถ” สะกดเป็น “อฏฺฐ” เขียนแบบไทยเป็น “อัฏฐ

(๒) “สาลินี

รากศัพท์มาจาก สาล + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(ก) “สาล” อ่านว่า สา-ละ รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = สำรวม, ปิดกั้น) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (สลฺ > สาล)

: สลฺ + = สลณ > สล > สาล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ปิดกั้น” หมายถึง ผู้ตรวจคัดกรองเลือกสรรเอาเฉพาะสิ่งที่ต้องการ ส่วนที่ไม่ต้องการก็ปิดกั้นไม่ให้เข้ามาปะปนอยู่

(ข) สาล + อินี = สาลินี แปลว่า “(อรรถกถา) อันคัดกรองถ้อยคำมาแล้วเป็นอันดี

…………..

หมายเหตุ:

ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบคำอธิบายที่มาของคำว่า “สาลินี” อันเป็นส่วนท้ายของชื่ออรรถกถาเล่มนี้ (อาจมีคำอธิบายอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง แต่ผู้เขียนบาลีวันละคำยังค้นไปไม่ถึง) จึงจำเป็นต้องสันนิษฐานตามสติปัญญาเท่าที่มี

ได้เค้าความตอนหนึ่งในตอนจบของคัมภีร์ ท่านกล่าวความเป็นคาถาว่า –

…………..

อนากุลานมตฺถานํ

สมฺภวา อฏฺฐสาลินี

อิติ นาเมน สา เอสา

สนฺนิฏฺฐานมุปาคตา.

อรรถวรรณนานี้ชื่อว่าอัฏฐสาลินี

เพราะมีเนื้อความไม่ฟั่นเฝือ

(ดังข้าพเจ้าพรรณนามา)

ก็สำเร็จบริบูรณ์แล้ว

…………..

คำว่า “มีเนื้อความไม่ฟั่นเฝือ” ตีความว่า เพราะท่านผู้รจนาเลือกสรรถ้อยคำมาแล้วเป็นอย่างดี ใช้ถ้อยคำเท่าที่จำเป็น อธิบายไม่มากไม่น้อย ได้ความครบถ้วน

ดูรูปคำ “สาลินี” ถ้ารากศัพท์มาจาก สาลฺ ธาตุ ในความหมายว่า “สรรเสริญ ตรึกตรอง” ยังไม่ถูกใจ ถ้ามาจาก สลฺ ธาตุ ในความหมายว่า “สรรเสริญ” เหมือนกัน แต่มีใช้ในความหมายว่า “สำรวม, ปิดกั้น” ด้วย จึงตีความว่า ปิดกั้นก็คือคัดกรอง คำที่ไม่จำเป็นคัดออก กรองเอาแต่คำที่จำเป็น จึงเป็นผลให้อรรถกถาเล่มนี้ “มีเนื้อความไม่ฟั่นเฝือ” ดังที่ท่านผู้รจนาบรรยายไว้

เป็นอันว่า ศัพท์ว่า “สาลินี” ที่อธิบายไว้นี้เป็นการสันนิษฐาน ผิดถูกยังไม่ยืนยัน ท่านผู้ใดพบคำอธิบายที่ชัดเจนตรงตัวกว่านี้ ขอได้กรุณานำเสนอเป็นความรู้ด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

อฏฺฐ + สาลินี = อฏฺฐสาลินี เขียนแบบไทยเป็น “อัฏฐสาลินี” แปลความว่า “(อรรถกถา) อันคัดกรองถ้อยคำนำมาบรรยายปรมัตถธรรมเป็นอันดี

อัฏฐสาลินี” เป็นชื่ออรรถกถาอธิบายความในคัมภีร์ธัมมสังคณี อันเป็นคัมภีร์แรกในพระอภิธรรมปิฎก

ขยายความ :

พระอภิธรรมปิฎกเป็น 1 ในพระไตรปิฎก แบ่งเนื้อหาออกเป็น 7 คัมภีร์ คือ –

1 สังคณี หรือธัมมสังคณี

2 วิภังค์

3 ธาตุกถา

4 ปุคคลบัญญัติ

5 กถาวัตถุ

6 ยมก

7 ปัฏฐาน หรือมหาปกรณ์

โบราณเอาคำแรกของชื่อคัมภีร์ทั้ง 7 มาเรียกรวมกันว่า “สังวิธาปุกะยะปะ” นับถือกันว่าเป็น “หัวใจพระอภิธรรมปิฎก” หรือ “หัวใจพระอภิธรรม”

คัมภีร์สังคณี มีอรรถกถาชื่อ “อัฏฐสาลินี” พระพุทธโฆสาจารย์เป็นผู้เรียบเรียงขึ้นที่เกาะลังกา โดยอาศัยอรรถกถาเก่าภาษาสิงหฬที่สืบมาแต่เดิมเป็นหลัก เมื่อ พ.ศ.ใกล้จะถึง 1000

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ค่าของคำ

: ตัดสินค่าของคน

#บาลีวันละคำ (3,109)

16-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย