สีลานุสติ – 1 ในอนุสติ 10 (บาลีวันละคำ 4,038)
สีลานุสติ – 1 ในอนุสติ 10
ระลึกเนื่องๆ ถึงศีลที่ตนรักษา
อ่านว่า สี-ลา-นุด-สะ-ติ
ประกอบด้วย สีล + อนุสติ
(๑) “สีล”
อ่านว่า สี-ละ รากศัพท์มาจาก –
(1) สีลฺ (ธาตุ = สงบ, ทรงไว้) + อ (อะ) ปัจจัย
: สีลฺ + อ = สีล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย”
(2) สิ (ธาตุ = ผูก) + ล ปัจจัย, ยืดเสียง (ทีฆะ) อิ ที่ สิ เป็น อี
: สิ + ล = สิล > สีล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องผูกจิตไว้”
นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย
“สีล” หมายถึง :
(1) ข้อปฏิบัติทางศีลธรรม, นิสัยที่ดี, จริยธรรมในพุทธศาสนา, หลักศีลธรรม (moral practice, good character, Buddhist ethics, code of morality)
(2) ธรรมชาติ, นิสัย, ความเคยชิน, ความประพฤติ (nature, character, habit, behavior)
“สีล” ในบาลี เป็น “ศีล” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) ศีล : (คำคุณศัพท์) มี; มีความชำนาญ; มีมรรยาทหรือจรรยาดี, มีอารมณ์ดี; endowed with, or possessed of; versed in; well-behaved, well-disposed.
(2) ศีล : (คำนาม) ชาติหรือปรกฤติ, คุณหรือลักษณะ; ภาวะหรืออารมณ์; สุศีล, จรรยา– มรรยาท– หรืออารมณ์ดี; การรักษาหรือประติบัทธรรมและจรรยาไว้มั่นและเปนระเบียบ; โศภา, ความงาม; งูใหญ่; nature, quality; disposition or inclination; good conduct or disposition; steady or uniform observance of law and morals; beauty; a large snake.
ในภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศีล”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ศีล” ไว้ว่า –
ศีล : ความประพฤติดีทางกายและวาจา, การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย, ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ; มักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า อธิศีลสิกขา (ข้อ ๑ ในไตรสิกขา, ข้อ ๒ ในบารมี ๑๐, ข้อ ๒ ในอริยทรัพย์ ๗, ข้อ ๒ ในอริยวัฑฒิ ๕)
……………
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ขยายความคำว่า “ศีล” ไว้ว่า –
……………
ศีล (ความประพฤติดีงาม คือ สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต รักษากิตติคุณให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน — Sīla: high moral character).
……………
(๒) “อนุสติ”
บาลีเป็น “อนุสฺสติ” (โปรดสังเกต ส 2 ตัว) อ่านว่า อะ-นุด-สะ-ติ ประกอบด้วย อนุ + สติ
(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –
(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)
(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)
ความหมายของ “อนุ” ที่เข้าใจกันหมู่นักเรียนบาลี คือ น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ
(ข) “สติ” รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > ส)
: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท”
“สติ” หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)
อนุ + สติ ซ้อน สฺ : อนุ + สฺ + สติ = อนุสฺสติ แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกถึงเนืองๆ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุสฺสติ” ว่า remembrance, recollection, thinking of, mindfulness (อนุสติ, ความระลึก, ความทรงจำ, ความคิด, ความตั้งใจ) (โปรดสังเกตคำแปลภาษาอังกฤษระหว่าง “สติ” กับ “อนุสฺสติ” บางคำตรงกัน)
สีล + อนุสฺสติ = สีลานุสฺสติ (สี-ลา-นุด-สะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกเนืองๆ ถึงศีล” (recollection of morality; contemplation on one’s own morals)
“สีลานุสฺสติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สีลานุสติ” (อนุสฺสติ ในบาลีตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง เป็น อนุสติ)
“สีลานุสติ” เป็น 1 ในอนุสติ 10 คือ –
1. พุทธานุสติ = ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า
2. ธัมมานุสติ = ระลึกถึงคุณพระธรรม
3. สังฆานุสติ = ระลึกถึงคุณพระสงฆ์
4. สีลานุสติ = ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา
5. จาคานุสติ = ระลึกถึงความเผื่อแผ่เสียสละที่มีในตน
6. เทวตานุสติ = ระลึกถึงคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดา
7. มรณสติ = ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา
8. กายคตาสติ = “สติอันไปในกาย” คือมีสติรู้เท่าทันสภาวะกายของตนมิให้หลงใหลมัวเมา
9. อานาปานสติ = สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
10. อุปสมานุสติ = ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือพระนิพพาน
คำว่า “สีลานุสติ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “สีลานุสติ” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
สีลานุสติ : ระลึกถึงศีลของตนที่ได้ประพฤติมาด้วยดีบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย (ข้อ ๔ ในอนุสติ ๑๐)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [335] อนุสติ 10 แสดงความหมายของ “สีลานุสติ” ไว้ดังนี้ –
…………..
4. สีลานุสติ (ระลึกถึงศีล คือ น้อมจิตรำลึกพิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติปฏิบัติ บริสุทธิ์ ไม่ด่างพร้อย — Sīlānussati: recollection of morality; contemplation on one’s own morals)
…………..
ขยายความ :
“สีลานุสติ” ระลึกถึงศีล ไม่ได้หมายถึงระลึกถึงคำสมาทานศีล หรือจดจำข้อความที่เป็นองค์ศีลได้แม่น ว่าได้คล่อง ท่องได้แม่น
“สีลานุสติ” หมายถึง สำรวจตรวจสอบศีลที่ตนรักษา นั่นแปลว่าต้องเคยรักษาศีลและยังรักษาอยู่เสมอ จึงจะมีศีลให้ระลึกได้
วิธีระลึก ท่านแนะให้พิจารณาความบริสุทธิ์ของศีลที่ตนรักษา โดยตรวจสอบดูว่า –
…………..
โอ! ศีลทั้งหลายของเรา
อขณฺฑ (อะขัณฑะ) = ไม่ขาด
อจฺฉิทฺท (อัจฉิททะ) = ไม่ทะลุ
อสพล (อะสะพะละ) = ไม่ด่าง
อกมฺมาส (อะกัมมาสะ) = ไม่พร้อย
ภุชิสฺส (ภุชิสสะ) = เป็นไทย
วิญฺญุปสตฺถ (วิญญุปะสัตถะ) = ผู้รู้สรรเสริญ
อปรามฏฺฐ (อะปะรามัฏฐะ) = ไม่ถูกปรามาส
สมาธิสํวตฺตนิก (สะมาธิสังวัตตะนิกะ) = เป็นไปเพื่อสมาธิ
…………..
มีคำขยายความพอสรุปได้ดังนี้ –
ศีลข้อแรกหรือสุดท้ายขาด เรียกว่า ขณฺฑ = ขาด เหมือนผ้าชายขาด
ศีลข้อกลางขาด เรียกว่า ฉิทฺท = ทะลุ เหมือนผ้าทะลุกลางผืน
ศีลขาดไม่เรียงลำดับข้อ (ขาดเปรอะไปหมด) เรียก สพล = ด่าง เหมือนวัวด่างเป็นหย่อม
ศีลขาดเป็นห้วงๆ ตามช่วงเวลา เช่น รักษาได้พักหนึ่ง ขาดไปพักหนึ่ง เรียกว่า กมฺมาส = พร้อย เหมือนวัวด่างเป็นจุด
ทนอำนาจกิเลสได้ ไม่ละเมิดศีล เรียกว่า ภุชิสฺส = เป็นไทย
คนพาลหรือคนเขลาสรรเสริญเอาเป็นประมาณไม่ได้ คำสรรเสริญต้องมาจากผู้รู้จริง เป็นบัณฑิต มีคุณธรรม จึงจะเรียกว่า วิญฺญุปสตฺถ = ผู้รู้สรรเสริญ
ไม่ถูกคนดูถูก ดังเช่นคำที่ว่า “มือถือสาก ปากถือศีล” เป็นต้น และไม่ถูกกิเลสฉุดกระชากลากถูไป เรียกว่า อปรามฏฺฐ = ไม่ถูกปรามาส
รักษาศีลได้อย่างบริสุทธิ์หมดจด ระลึกขึ้นมาจิตใจก็ผ่องแผ้วเอิบอิ่ม เป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิได้ง่าย จึงเรียกว่า สมาธิสํวตฺตนิก = เป็นไปเพื่อสมาธิ
…………..
แถม :
ศึกษาเพิ่มเติมจาก ฉอนุสสตินิทเทส วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 283-285
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนรักษาศีล
: ศีลรักษาคน
#บาลีวันละคำ (4,038)
3-7-66
…………………………….
…………………………….