บาลีวันละคำ

ราชโบริกานุเคราะห์ (บาลีวันละคำ 3,112)

ราชโบริกานุเคราะห์

โรงเรียนประจำจังหวัดราชบุรี

อ่านว่า ราด-ชะ-โบ-ริ-กา-นุ-เคฺราะ

ประกอบด้วยคำว่า ราชโบริก + อนุเคราะห์

(๑) “ราชโบริก” รากศัพท์เดิมมาจาก ราชบุรี + ณิก ปัจจัย

(1) “ราชบุรี” ประกอบด้วยคำว่า ราช + บุรี

(ก) “ราช” บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –

[๑] ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (อะ) ปัจจัย

: ราชฺ + = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

[๒] รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ปัจจัย, ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา

: รญฺชฺ + = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

แต่เดิมผู้ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง เรียกกันว่า “พระราชา” ความหมายโดยนัยของคำว่า “ราช” ในปัจจุบันจึงหมายถึงผู้ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น “พระราชา” หรือไม่ก็ตาม

(ข) “บุรี” บาลีเป็น “ปุรี” รากศัพท์มาจาก ปุร + อี ปัจจัย

(1) “ปุร” (ปุ-ระ) รากศัพท์มาจาก –

[๑] ปุ (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย

: ปุ + = ปุร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่รักษาประชาชนจากอำนาจของศัตรู

[๒] ปุรฺ (ธาตุ = รักษา) + (อะ) ปัจจัย

: ปุรฺ + = ปุร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่รักษาประชาชน

ปุร” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เมือง, ป้อม, บุรี (a town, fortress, city)

(2) ที่อยู่อาศัย, บ้านหรือส่วนที่แยกกันของบ้าน (dwelling, house or divided part of a house)

ความหมายในข้อ (2) นี้ เช่นในคำว่า “อนฺเตปุร” หมายถึง ห้องของสตรี, ที่อยู่ของสนมกำนัล, สำนักนางใน (lady’s room, harem)

(3) ร่างกาย (the body)

(2) ปุร + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ปุร + อี = ปุรี (ปุ-รี) มีความหมายเท่ากับ “ปุร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุรี

การประสมคำ :

(1) ราช + ปุรี = ราชปุรี แปลว่า “เมืองของพระราชา

(2) ราชปุรี + ณิก ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อี ที่ (ราชปุ)-รี และลบ , แผลง อุ ที่ (ราช)-ปุ-(รี) เป็น โอ (ราชปุรี > ราชโปรี)

: ราชปุรี > ราชปุร + ณิก (ณิก > อิก) = ราชปุริก > ราชโปริก แปลว่า “ชาวเมืองราชบุรี

ราชโปริก” เขียนแบบไทยเป็น “ราชโบริก

(๒) “อนุเคราะห์

บาลีเป็น “อนุคฺคห” อ่านว่า อะ-นุก-คะ-หะ ประกอบด้วยคำว่า อนุ + คห

(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อยอนุภรรยา” = เมียน้อย

แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป

แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา

แปลว่า “เนืองๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนืองๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก

ในที่นี้ “อนุ” มีความหมายว่า ตาม, เนืองๆ

(ข) “คห” (คะ-หะ) รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + (อะ) ปัจจัย

: คหฺ + = คห แปลตามศัพท์ว่า “การจับ” “ผู้จับ” แปลทับศัพท์ว่า “เคราะห์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลและไขความคำว่า “คห” ไว้ว่า –

คห : “seizer”, seizing, grasping, a demon, any being or object having a hold upon man. – “ผู้จับ”, การจับ, การคว้า, เป็นคำใช้แทนสิ่งของหรือวัตถุที่คนต้องตกอยู่ใต้บังคับ.

บาลี “คห” สันสกฤตเป็น “คฺรห

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

คฺรห : (คำนาม) การถือเอา, การจับ, การรับ; สูรยคราสหรือจันทรคราส; ดาวพระเคราะห์; พระเคราะห์; นามของราหุหรืออุทัสบาต; อุตสาหะในการรบ; เพียร; การย์, เหตุ, อรรถ, ความคิด, ความตั้งใจ; อุปการะ; อนุกูล; taking, seizure, acceptance; an eclipse or seizure of the sun or moon b Rāhu; a planet; the place of a planet in the fixed zodiac; a movable point in the heavens; a name of Rāhu, or ascending node; effort in battle; perseverance; purpose, design, intention, favour, patronage.”

คห > คฺรห ใช้ในภาษาไทยว่า “เคราะห์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เคราะห์” ไว้ 2 คำ บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) เคราะห์ ๑ : (คำที่ใช้ในโหราศาสตร์) (คำนาม) เรียกดาวเฉพาะ ๙ ดวง เรียงตามลำดับมหาทักษา คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์ เกตุ ซึ่งถือกันว่ามีเทวดาประจำแต่ละดวง ว่า ดาวพระเคราะห์, เรียก ดาวพระเคราะห์ทั้ง ๙ ดวงอย่างรวม ๆ ว่า ดาวนพเคราะห์ ถือว่าเป็นดาวที่ยึดโชคของคน; สิ่งที่นำผลมาให้โดยไม่ได้คาดหมาย เช่น เคราะห์ดี เคราะห์ร้าย, มักนิยมใช้ในทางไม่ดี เช่น มีเคราะห์ ฟาดเคราะห์. (ป. คห; ส. คฺรหว่า ยึด).

(2) เคราะห์ ๒ : (คำที่ใช้ในดาราศาสตร์) (คำนาม) เรียกดาวที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง ต้องได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ และเป็นบริวารโคจรรอบดวงอาทิตย์ ว่า ดาวเคราะห์ มี ๘ ดวงเรียงลำดับจากใกล้ดวงอาทิตย์ออกไป คือ พุธ (Mercury) ศุกร์ (Venus) โลก (Earth) อังคาร (Mars) พฤหัสบดี (Jupiter) เสาร์ (Saturn) มฤตยู (Uranus) สมุทร (Neptune).

คห” ในบาลี เมื่อมี “อนุ” นำหน้า เป็น “อนุคฺคห” (อนุ + คหฺ ซ้อน คฺ ระหว่างกลาง : อนุ + คฺ + คหฺ) มีความหมายจำกัดเฉพาะลงไป

: อนุ + คฺ + คห = อนุคฺคห (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การตามจับยึดไว้” หมายถึง การอนุเคราะห์, ความรักใคร่, ความกรุณา, การช่วยเหลือ, การสงเคราะห์, คุณประโยชน์ (compassion, love for, kindness, assistance, help, favour, benefit)

บาลี “อนุคฺคห” สันสกฤตเป็น “อนุคฺรห

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “อนุคฺรห” ไว้ดังนี้ –

อนุคฺรห : (คำนาม) อนุเคราะห์, การสงเคราะห์; a favour, a kind deed.”

บาลี “อนุคฺคห” สันสกฤต “อนุคฺรห” ภาษาไทยใช้เป็น “อนุเคราะห์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุเคราะห์ : (คำกริยา) เอื้อเฟื้อ, ช่วยเหลือ. (ส. อนุคฺรห; ป. อนุคฺคห).”

โปรดสังเกตว่า ในบาลีสันสกฤต “อนุคฺคห” และ “อนุคฺรห” เป็นคำนาม แต่ในภาษาไทย “อนุเคราะห์” เป็นคำกริยา

โปรดทราบเป็นพิเศษ :

คำว่า “อนุคฺคห” ในบาลี ยังมีรากศัพท์มาอีกทางหนึ่งซึ่งคนส่วนมากไม่ได้นึกถึง นั่นคือ (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + อุคฺคห

อุคฺคห” รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + คห ซ้อน คฺ ระหว่างกลาง (อุ + คฺ + คหฺ)

: อุ + คฺ + คหฺ = อุคฺคห แปลตามศัพท์ว่า “จับขึ้น

อุคฺคห” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การยกขึ้น, การได้มา, การเล่าเรียน (taking up, acquiring, learning)

(2) การสังเกต, การสนใจ, การสำเหนียก (noticing, taking notice, perception)

+ อุคฺคห แปลง เป็น อน ตามกฎการประสมของ + กล่าวคือ :

(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง เป็น

(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง เป็น อน

ในที่นี้ “อุคฺคห” ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อุ– จึงต้องแปลง เป็น อน

: + อุคฺคห = อนุคฺคห แปลว่า ไม่ถือเอา, ไม่ยกขึ้นมา (not taking up)

อนุคฺคห” ตามรากศัพท์นี้เป็นคนละคำกับ “อนุคฺคห” คำแรก ที่เราใช้เป็น “อนุเคราะห์” และมีความหมายตรงกันข้าม

อนุคฺคห” คำแรก (อนุเคราะห์) = taking up

อนุคฺคห” คำหลัง = not taking up

ความหมายของ “อนุคฺคห” คำหลัง เราไม่ได้เอามาใช้ในภาษาไทย

…………..

ราชโปริก + อนุคฺคห = ราชโปริกานุคฺคห (รา-ชะ-โป-ริ-กา-นุก-คะ-หะ) เขียนแบบไทยเป็น “ราชโบริกานุเคราะห์

ราชโบริกานุเคราะห์” เป็นชื่อโรงเรียนประจำจังหวัดราชบุรี แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “โรงเรียนที่อนุเคราะห์แก่ชาวเมืองราชบุรี” คือ โรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ลูกหลานชาวเมืองราชบุรีได้มีสถานศึกษาเล่าเรียน

(2) “โรงเรียนที่ชาวเมืองราชบุรีอนุเคราะห์” คือ โรงเรียนที่ชาวเมืองราชบุรีร่วมใจกันตั้งขึ้นเพื่อให้ลูกหลานได้มีสถานศึกษาเล่าเรียน

…………..

โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์เดิมเป็นโรงเรียนหญิงประจำจังหวัด คู่กับโรงเรียนเบญจมราชูทิศซึ่งเป็นโรงเรียนชายประจำจังหวัด แต่ปัจจุบันเป็นโรงเรียนในแบบสหศึกษา คือรับทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิงทั้งสองแห่ง

19 ธันวาคม พ.ศ.2470

เป็นวันก่อตั้งโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การอนุเคราะห์กัน บางคนไม่สามารถทำได้

: แต่การไม่ซ้ำเติมกัน ทุกคนสามารถทำได้

#บาลีวันละคำ (3,112)

19-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย