สมฺมา (บาลีวันละคำ 221)
สมฺมา
อ่านว่า สำ-มา
ในภาษาไทยเขียน “สัมมา” อ่านเหมือนบาลี
ข้อควรรู้ทางไวยากรณ์เกี่ยวกับ “สัมมา” คือ :
-ไม่เปลี่ยนรูปไปตามวิธีแจกวิภัตติ แต่อาจเปลี่ยนตามวิธีสนธิได้บ้าง
-ทำหน้าที่เป็นคุณศัพท์ ขยายคำอื่น ไม่ใช้ตามลำพัง
“สัมมา” แปลว่า โดยชอบ, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยสมบูรณ์, โดยทั่วถึง, ดีที่สุด, ในทางดี, ในวิธีดี, ด้วยดี
คำที่ใช้ “สัมมา” นำหน้า ที่เราคุ้นกันดีก็เช่น สัมมาสัมพุทโธ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัมมาทิฐิ
คำที่ตรงกันข้ามกับ “สัมมา” ก็คือ “มิจฉา” แปลว่า “ผิด”
นักบาลีมักแปล “สัมมา” ว่า “ชอบ” ซึ่งอาจมีปัญหาในการทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ เช่น สัมมาอาชีพ แปลว่า “อาชีพชอบ”
บางคนบอกว่า ชอบอาชีพอะไร นั่นคือ อาชีพชอบ กลายเป็นว่า ถ้าชอบลักขโมย การลักขโมยก็เป็นอาชีพชอบ
“ชอบ” แบบนี้ ตรงกับคำฝรั่งว่า like
แต่ “ชอบ” แบบสัมมา คือ “ถูกต้อง” หรือ right
บาง like ไม่ right ก็ไม่ใช่ สัมมา
ที่ right เพราะ like ก็ยังไม่ใช่ สัมมา
เมื่อใด like ในสิ่งที่ right นั่นแหละใช่ “สัมมา”
บาลีวันละคำ (221)
15-12-55