ติ- , เต- (บาลีวันละคำ 60)
ติ- , เต-
อ่านว่า ติ, เต
“ติ” และ “เต” แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)
โปรดสังเกตยัติภังค์ (hyphen) ที่ท้ายคำ ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่คำที่ใช้เดี่ยวๆ จะต้องมีคำนามอื่นมาต่อท้ายเสมอ
เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยมักผันรูปเป็น ไตร– เช่น
ติ + จีวร = ติจีวร = ไตรจีวร (จีวร ๓ ผืน)
ติ + ปิฏก = ติปิฏก = ไตรปิฎก (คัมภีร์ ๓ หมวด = พระไตรปิฎก)
เต + ภูมิ = เตภูมิ = ไตรภูมิ (ภพภูมิทั้ง ๓) เช่น “ไตรภูมิพระร่วง” ชื่อเดิมคือ “เตภูมิกถา” (เต + ภูมิ + กถา) หนังสือว่าด้วยภูมิทั้ง ๓
เต + มาส = เตมาส = ไตรมาส (๓ สามเดือน)
นอกจากผันเป็น “ไตร” แล้ว “ติ” และ “เต” ยังผันเป็น “ตรี” ได้ด้วย เช่น ตรีศูล (หลาว ๓ เล่ม) ตรีเนตร (ผู้มี ๓ ตา)
“ตรี” ทั้งรูปและเสียงใกล้เคียงกับ three ในภาษาอังกฤษ คำแปลก็ตรงกัน นี่ไม่ใช่บังเอิญ แต่เพราะภาษาบาลี-สันสกฤตกับภาษาอังกฤษอยู่ในตระกูลเดียวกัน (Indo-European) จึงมีคำจำนวนมากที่มาจากรากเดียวกัน
บางคำตรงกันดิก เช่น ติ (ตรี) (สาม) + โกณ (มุม) + มิติ (การวัด) = ตรีโกณมิติ
ตรงกับคำอังกฤษว่า trigonometry
ภาษาบาลีนี่น่าเรียนนะ จะบอกให้
บาลีวันละคำ (60)
2-7-55
ห้องพระ
24-8-55
ตรีโกณมิติ
[ตฺรีโกน-] น. คณิตศาสตร์แขนงหนึ่งที่ว่าด้วยฟังก์ชันของตัวแปรจริง ซึ่งแทนขนาดของมุมใด ๆ, คณิตศาสตร์แขนงหนึ่งที่ว่าด้วยการใช้ฟังก์ชันของมุมเป็นรากฐานในการศึกษาสมบัติของรูปสามเหลี่ยมหรือรูปอื่นใดที่ทอนลงมาเป็นรูปสามเหลี่ยมได้. (อ. trigonometry).