บาลีวันละคำ

คังโคโรหณสมาคม (บาลีวันละคำ 2,837)

คังโคโรหณสมาคม

แปลกตา แต่อย่าแปลกใจ

อ่านว่า คัง-โค-โร-หะ-นะ-สะ-มา-คม

ประกอบด้วยคำว่า คังคา + โอโรหณ + สมาคม

(๑) “คังคา

บาลีเป็น “คงฺคา” อ่านว่า คัง-คา รากศัพท์มาจาก –

(1) คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง มฺ ที่ (ค)-มฺ เป็นนิคหิตแล้วแปลงเป็น งฺ (คมฺ > คํ > คงฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คมฺ + = คมค > คํค > คงฺค + อา = คงฺคา แปลตามศัพท์ว่า “ห้วงน้ำที่เป็นไปทุกแห่ง

(2) คํ (ห้วงน้ำใหญ่) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + กฺวิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ คํ เป็น งฺ (คํ > คงฺ), ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คํ + คมฺ = คํคมฺ + กฺวิ = คํคมฺกฺวิ > คงฺคมกฺวิ > คงฺค + อา = คงฺคา แปลตามศัพท์ว่า “แม่น้ำที่ไหลมาทำให้ห้วงน้ำใหญ่เป็นไป” (คือเมื่อไหลมาก็รวมเอาน้ำในลำน้ำแหล่งน้ำน้อยใหญ่มาด้วย ก่อให้เกิดปริมาณน้ำมากมายมหาศาล)

คงฺคา” ในบาลี ใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) แม่น้ำทั่วไป

(2) แม่น้ำสำคัญที่ชื่อ “คงฺคา

ในภาษาไทย ใช้เป็น “คงคา” อ่านว่า คง-คา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คงคา ๑ : (คำนาม) นํ้า, แม่นํ้า, ใช้เป็นสามัญว่า แม่พระคงคา หมายถึง เจ้าแม่ประจํานํ้า, ชื่อแม่นํ้าสําคัญสายหนึ่งในประเทศอินเดีย. (ป., ส. คงฺคา ว่า ผู้ไปเร็ว, ผู้ไหลเชี่ยว); เรียกส่วนของท่อเหล้าในโรงต้มกลั่นว่า ท่อคงคา.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บรรยายเรื่องแม่น้ำ “คงคา” ในประเทศอินเดียไว้ ดังนี้ –

คงคา : แม่น้ำใหญ่สายสำคัญลำดับที่ 1 ในมหานที 5 ของชมพูทวีป (คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี) และเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์อันดับที่ 1 ในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งศาสนิกปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้ไปอาบน้ำล้างบาป อีกทั้งในพิธีราชาภิเษกกษัตริย์ในชมพูทวีป และกษัตริย์แห่งลังกาทวีป ก็ใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำคงคานี้ด้วย, แม่น้ำคงคามีความยาวประมาณ 2,510 กม. ตามที่บันทึกไว้ในอรรถกถาว่า มีต้นกำเนิดจากสระอโนดาต ในแดนหิมพานต์ ไหลไปสู่มหาสมุทร จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ผ่านเมืองสำคัญมากแห่ง เช่น สังกัสสะ ปยาคะ (เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ประยาค ปัจจุบันคือ เมือง Allahabad เป็นที่บรรจบของแม่น้ำคงคา กับยมุนา) พาราณสี อุกกาเวลา (อุกกเจลา ก็ว่า) ปาตลีบุตร (เมืองหลวงของมคธ ยุคหลังราชคฤห์) จัมปา (เมืองหลวงของแคว้นอังคะ) และในที่สุดออกทะเลที่อ่าวเบงกอล (Bay of Bengal), ปัจจุบัน คนทั่วไปรู้จักในชื่อภาษาอังกฤษว่า Ganges.”

(๒) “โอโรหณ

อ่านว่า โอ-โร-หะ-นะ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง) + รุหฺ (ธาตุ = ปรากฏ, งอกขึ้น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น , แผลง อว เป็น โอ, แผลง อุ สระต้นธาตุเป็น โอ (รุหฺ > โรห)

: อว + รุหฺ = อวรุหฺ + ยุ > อน = อวรุหน > โอรุหน > โอโรหน > โอโรหณ แปลตามศัพท์ว่า “การโน้มลง” หมายถึง การลงมา (descent)

(๓) “สมาคม

บาลีอ่านว่า สะ-มา-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + อา (คำอุปสรรค =ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” : “ไป” กลับความเป็น “มา”) + คมฺ (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สม)

: สํ > สม + อา = สมา + คมฺ = สมาคมฺ + = สมาคม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การมาพร้อมกัน” หมายถึง การพบปะ, การประชุม, การร่วมกัน (meeting, meeting with, intercourse)

การประสมคำ :

คงฺคา + โอโรหณ ใช้สูตร “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ (คงฺ)-คา (คงฺคา > คงฺค)

: คงฺคา + โอโรหณ = คงฺโคโรหณ แปลว่า “การลงสู่แม่น้ำคงคา

คงฺโคโรหณ + สมาคม = คงฺโคโรหณสมาคม บาลีอ่านว่า คัง-โค-โร-หะ-นะ-สะ-มา-คะ-มะ แปลว่า “การชุมนุมใหญ่ในโอกาสลงสู่แม่น้ำคงคา” หมายถึง การที่ประชาชนมาชุมนุมกันอย่างแน่นขนัดในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากเมืองเวสาลีข้ามแม่น้ำคงคากลับสู่เมืองราชคฤห์

ในที่นี้เขียนเป็นคำไทยว่า “คังโคโรหณสมาคม” อ่านว่า คัง-โค-โร-หะ-นะ-สะ-มา-คม

ขยายความ :

อรรถกถาเล่าว่า คราวหนึ่ง ที่เมืองเวสาลี ได้เกิดทุพภิกขภัยใหญ่ ผู้คนล้มตาย ซากศพเกลื่อนเมือง พวกอมนุษย์ก็เข้ามา แถมอหิวาตกโรคซ้ำอีก ในที่สุด กษัตริย์ลิจฉวีตกลงไปอาราธนาพระพุทธเจ้า ซึ่งเวลานั้นประทับที่เมืองราชคฤห์ (ยังอยู่ในรัชกาลของพระเจ้าพิมพิสาร) ขอให้เสด็จมา พระพุทธองค์ประทับเรือเสด็จมา เมื่อถึงเขตแดน พอย่างพระบาทลงทรงเหยียบฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็ตกลงมาจนน้ำท่วม พัดพาซากศพลอยลงแม่น้ำคงคาไปหมด และเมื่อเสด็จถึงเมืองเวสาลี ท้าวสักกะและประดาเทพก็มาชุมนุมรับเสด็จ เป็นเหตุให้พวกอมนุษย์หวาดกลัว พากันหนีไป

ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสรัตนสูตรให้พระอานนท์เรียนและเดินทำปริตรไปในระหว่างกำแพงเมืองทั้ง ๓ ชั้น พระอานนท์เรียนรัตนสูตรนั้นแล้วสวดเพื่อเป็นปริตร คือเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน พร้อมทั้งถือบาตรของพระพุทธเจ้าใส่น้ำเดินพรมไปทั่วทั้งเมือง

เป็นอันว่าทั้งภัยแล้ง ภัยอมนุษย์ และภัยจากโรค ก็สงบสิ้นไป

พระพุทธเจ้าประทับที่เมืองเวสาลีครึ่งเดือนจึงเสด็จกลับ มีการชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อส่งเสด็จ เรียกว่า “คังโคโรหณสมาคม

การชุมนุมใหญ่ลักษณะเดียวกันนี้ในพุทธประวัติยังมีอีก 2 คราว คือ เมื่อทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ เรียกว่า “ยมกปาฏิหาริยสมาคม” และในคราวเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 3 เดือน แล้วเสด็จลงในวันออกพรรษา เรียกว่า “เทโวโรหณสมาคม” คือที่เรารู้จักกันในคำว่า “ตักบาตรเทโว”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ามีน้ำใจ ร้อยพันโรคภัยก็ยังพอพลิกแพลง

: ถ้าน้ำใจแล้ง ไม่มีโรคภัยร้ายแรง ก็ตายแห้งกันไปเอง

#บาลีวันละคำ (2,837)

19-3-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย