โมฆบุรุษ (บาลีวันละคำ 549)
โมฆบุรุษ
อ่านว่า โม-คะ-บุ-หฺรุด
บาลีเป็น “โมฆปุริส” อ่านว่า โม-คะ-ปุ-ริ-สะ
ประกอบด้วย โมฆ + ปุริส
“โมฆ” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่หลงลืม” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เปล่า, ว่าง, ไร้ประโยชน์, โง่ , งี่เง่า
ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –
“โมฆ-, โมฆะ : เปล่า, ว่าง; ไม่มีประโยชน์, ไม่มีผล, เช่น สัญญาเป็นโมฆะ; (ภาษากฎหมาย) เสียเปล่า ไม่มีผลบังคับหรือผูกพันตามกฎหมาย”
“ปุริส” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม” “ผู้อยู่ในเบื้องสูง” “ผู้ไปในฐานะที่สูง” “ผู้เป็นไปในเบื้องหน้า” “ผู้นอน บน อก โดยปกติ” “ผู้ยังความต้องการให้เต็ม” (ดูเพิ่มเติมที่ “ปุริส” บาลีวันละคำ (71) 16-7-55)
ในแง่ความหมาย คำว่า “ปุริส = บุรุษ” มีความหมาย 2 นัย คือ –
1. ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป หมายถึง “ผู้ชาย”
2. ความหมายในวงกว้างหมายถึง “มนุษย์” หรือ “คน” ไม่จำกัดว่าชายหรือหญิง
(โปรดสังเกตเทียบคำว่า man ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า “ผู้ชาย” แต่ในวงกว้างแปลว่า “มนุษย์” หรือ “คน”)
“โมฆปุริส – โมฆบุรุษ” แปลตามศัพท์ว่า “คนเปล่าประโยชน์” เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกภิกษุที่ไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผล มิหนำซ้ำยังประพฤติเสื่อมเสียอีกด้วย
“โมฆบุรุษ” หมายถึงคนที่ไม่ได้ทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สมกับเจตนารมณ์ของสถานภาพที่ตนเข้าไปเป็นอยู่ เช่น
– เป็นนักเรียนนักศึกษา แต่ไม่ตั้งใจฝึกศึกษาให้มีความรู้ความสามารถตามภูมิชั้น มิหนำซ้ำกลับทำตัวเป็นนักเลงหรือนักเล่นสนุกไปวันๆ
– เป็นนักการเมือง แต่ไม่ได้ตั้งใจทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชน มิหนำซ้ำยังเบียดบังผลประโยชน์ของแผ่นดิน
คำเตือน :
ระวังจะเสียทีที่เกิดเป็นคน ถ้าทำตนเป็นโมฆบุรุษ
——————-
(Chao Chaowalit รบกวนมา)
16-11-56