บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

การให้ค่าแก่การเรียนบาลี (๑)

การให้ค่าแก่การเรียนบาลี (๑)

————————–

เทปาจารย์

……………

น่าดีใจที่-ปี ๒๕๖๔ นี้ แม้จะเลื่อนสอบบาลี แต่นักเรียบาลีก็ยังคงเตรียมตัวสอบกันอย่างเข้มแข็ง

เมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การเปิดสนามติวเข้มยังไม่แพร่หลายเหมือนทุกวันนี้

แล้วนักเรียนบาลีรุ่นนั้นมีกิจกรรมติวเข็มกันหรือเปล่า?

มีครับ แต่เป็นกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม ทำกันเป็นภายใน 

ที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือ “ฟังเทป”

สมัยนั้นอุปกรณ์เครื่องช่วยในการศึกษายังไม่มีมากเหมือนสมัยนี้ เทป หรือ tape recorder (เครื่องบันทึกเสียงชนิดใช้แถบพลาสติกเคลือบสารแม่เหล็ก) ดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวที่ทันสมัยที่สุด ที่เห็นมีใช้กันจะเป็นชนิดกระเป๋าหิ้วขนาดใหญ่ มีม้วนคู่เหมือนม้วนฟิล์มหนังสมัยเก่า 

ที่วัดไหนมี หรือของใครมีก็จะเป็นที่รู้กัน แล้วก็จะตกลงนัดหมายกันว่า วันไหนเวลาไหนจะเปิดกิจกรรม “ฟังเทป” 

พอได้เวลา บรรดานักเรียนบาลีในวัดหรือต่างวัดก็จะพากันไป “สุมหัว” ที่ห้องของท่านที่มีเทป แล้วก็ฟังเทปกันไป

“ฟังเทป” คือฟังอะไร?

ฟังวิชาแปลมคธเป็นไทย โดยเฉพาะแปลธรรมบททั้ง ๘ ภาคชั้นประโยค ป.ธ.๓ (ตอนนั้นยังไม่ได้แยกเป็นประโยค ๑-๒) ที่คุ้นกันดีที่สุดก็คือแปลโดยพยัญชนะ 

คนที่อ่านคำแปลบันทึกเสียงไว้นั้นได้ยินบอกกันว่าเป็น “ท่านมหา” อะไรสักรูปหนึ่งหรือสักคนหนึ่ง ไม่มีใครรู้แน่ว่าชื่อเรียงเสียงไร แต่เสียงก้องกังวานฉะฉานชัดเจน จังหวะจะโคนน่าฟังมาก ระบบบันทึกเสียงมีคุณภาพชั้นยอด ผมไม่ใช่แฟนฟังเทปแต่ยังได้ยินติดหูมาจนถึงวันนี้ 

เทปชุดนั้น ใครหรือสำนักไหนเป็นผู้ผลิตขึ้นมา ก็ยังคงไม่เป็นที่รู้กันมาจนถึงวันนี้ ในหมู่นักเรียนบาลีหัวเมืองบอกกันแต่เพียงว่า “ได้มาจากกรุงเทพฯ” – ข้อมูลมีเท่านี้

ใครสะสมของเก่าเก็บม้วนเทปรุ่นนั้นไว้ หรือแปลงให้เป็นไฟล์ ถ้าเอามาทบทวนความหลังกันได้ก็จะดีมากทีเดียว 

ขออนุญาตร้องถามลอยลมไว้ตรงนี้ด้วยเลยนะครับ

……………

ฟังเทปสมัยนั้นจุดประสงค์ก็เพื่อทบทวนวิชาแปลโดยพยัญชนะให้ติดหูติดตา 

หมายความว่า นักเรียนเรียนส่วนมากแปลในห้องเรียนกันมาแล้วทั้งนั้น แต่มาฟังเทปเพื่อทบทวน 

กับอีกประการหนึ่ง เรียนในชั้นหรือดูหนังสือเองอาจจะช้า ดูได้ไม่กี่เที่ยวหรือดูไม่ทั่วถึง แต่วิธีฟังเทปช่วยให้ดูหนังสือได้เร็วและทั่วถึง โดยเฉพาะประโยคสำคัญๆ หรือ “ประโยคเก็ง” มีส่วนช่วยนักเรียนที่เรียนช้าหรือดูหนังสือไม่ทันได้มาก นับเป็นอุปการะได้เป็นอย่างดี 

กิจกรรมฟังเทปดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดภาษาปากขึ้นมาคำหนึ่ง นั่นคือ “เทปาจารย์”

นักเรียนบาลีรุ่นใหม่คงไม่รู้จัก

แต่นักเรียนบาลีรุ่นผมรู้จักกันดี 

หลายท่านยอมรับอย่างน่าชื่นตาบานว่า เป็นมหาเปรียญติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะอุปการคุณของ “เทปาจารย์” นี่แหละ!

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓ มกราคม ๒๕๖๔

๑๒:๐๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *