บาลีวันละคำ

ภูษาโยง กับ สายสิญจน์ (บาลีวันละคำ 2,729)

ภูษาโยง กับ สายสิญจน์

บางอย่างใช้แทนกันได้

แต่บางอย่างใช้แทนกันไม่ได้

ในพิธีบำเพ็ญกุศลที่มีการทอดผ้าบังสุกุล ผู้ทอดไม่ได้วางผ้าลงบนพื้นเกลี้ยงๆ แต่จะมีสิ่งหนึ่งรองรับอยู่บนพื้น ถ้ามีพระสงฆ์นั่งเรียงกันเป็นแถว สิ่งที่ว่านี้ก็จะวางทอดไปตามยาวตรงหน้าแถวพระสงฆ์

ถามว่าสิ่งที่ว่านี้เรียกว่าอะไร?

ผู้มีความรู้หน่อยก็จะตอบว่า “ภูษาโยง

ชาวบ้านทั่วไปอาจเรียกว่า “สายสิญจน์

ภูษาโยง” กับ “สายสิญจน์” เป็นของคนละอย่างกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) ภูษาโยง : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) แถบผ้าที่โยงจากปากโกศหรือหีบศพของหลวงสำหรับคลี่ทอดไปยังพระสงฆ์เมื่อทอดผ้าสดับปกรณ์, ใช้ว่า พระภูษาโยง แก่พระมหากษัตริย์จนถึงพระองค์เจ้า และใช้ว่า ภูษาโยง แก่หม่อมเจ้า รวมทั้งผู้ได้รับพระราชทานเกียรติยศตามเกณฑ์ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเป็นกรณีพิเศษ ส่วนสามัญชนทั่วไปใช้ว่า ผ้าโยง.

(2) สายสิญจน์ : (คำนาม) ด้ายดิบสีขาวที่นำมาจับทบเป็น ๓ เส้น หรือ ๙ เส้น ใช้ในพิธีทางศาสนา เช่นสำหรับพระถือในเวลาสวดมนต์ หรือพราหมณ์ใช้ในพระราชพิธีบางอย่าง.

เป็นอันได้คำตอบจากพจนานุกรมฯ ว่า สิ่งที่ทอดไปตามยาวต่อหน้าแถวพระสงฆ์เพื่อให้ผู้ทอดผ้าบังสุกุลวางผ้าลงไปนั้นมีคำเรียกโดยเฉพาะว่า “ภูษาโยง” โดยมีหลักการใช้ว่า ถ้าผู้ที่ล่วงลับไปนั้น –

(1) เป็นพระมหากษัตริย์จนถึงพระองค์เจ้า เรียกว่า “พระภูษาโยง”

(2) เป็นหม่อมเจ้า รวมทั้งผู้ได้รับพระราชทานเกียรติยศตามเกณฑ์ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเป็นกรณีพิเศษ เรียกว่า “ภูษาโยง”

(3) เป็นสามัญชนทั่วไป เรียกว่า “ผ้าโยง”

ตรงนี้ควรย้ำว่า ถ้าผู้ที่ล่วงลับไปนั้นเป็นสามัญชนทั่วไป จะเรียกว่า “ภูษาโยง” ไม่ได้ ต้องเรียกว่า “ผ้าโยง” ใครที่เคยเรียกผิด จะได้เรียกให้ถูก

หลักภาษา :

(๑) “ภูษา” ในคำว่า “ภูษาโยง” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “ภูสา” (สันสกฤต ฤษี บาลี เสือ) รากศัพท์มาจาก ภูสฺ (ธาตุ = ประดับ) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ภูสฺ + = ภูสฺ + อา = ภูสา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องประดับ

ภูสา” ในภาษาบาลีหมายถึง เครื่องประดับ, การประดับ, การตกแต่ง, ทำให้งดงาม, แต่งให้งดงาม, ทำให้สวย (ornament, decoration)

เนื่องจากร่างกายมนุษย์โดยธรรมชาติแล้วมีแต่ตัวเปล่าๆ ดังนั้น อะไรก็ตามที่เอามาติดไว้ที่ร่างกาย จึงถูกเรียกว่า “ภูสา = เครื่องประดับ” ทั้งสิ้น

เครื่องประดับชนิดอื่นๆ มีเวลาที่จะต้องถอดออก แต่เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ปกติจะอยู่ติดร่างกาย คือเป็น “ภูสา” อยู่ตลอดเวลา จนในที่สุด คำว่า “ภูสาภูษา” ในภาษาไทย จึงหมายถึงเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่โดยรากศัพท์แล้ว “ภูสา” ไม่ได้หมายถึงเสื้อผ้าโดยเฉพาะแต่ประการใดเลย

(๒) “สิญจน์” ในคำว่า “สายสิญจน์” บาลีเขียนเป็น “สิญฺจน” อ่านว่า สิน-จะ-นะ รากศัพท์มาจาก สิจฺ (ธาตุ = ไหล, รด, ราด; เท, วิด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุแล้วแปลงนิคหิตเป็น ญฺ (สิจฺ > สึจฺ > สิญฺจ)

: สิจฺ > สึจฺ > สิญฺจ + ยุ > อน = สิญฺจน แปลตามศัพท์ว่า “การรดน้ำ” “การหลั่งน้ำ” “การเทน้ำ” หมายถึง ประพรมน้ำ (sprinkling water)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สิญจ-, สิญจน์ : (คำกริยา) รดนํ้า; รดนํ้ามนต์, สรงมุรธาภิเษก. (ป., ส.).”

โปรดสังเกตว่า ในบาลี “สิญฺจน” เป็นคำนาม (อาการนามหรือภาวนาม) แต่ในภาษาไทย “สิญจ-, สิญจน์” ใช้เป็นคำกริยา

สายสิญจน์” มาเกี่ยวกับ “ภูษาโยง” หรือ “ผ้าโยง” ได้อย่างไร?

สมัยก่อน วัดต่างๆ ยังไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีการต่างๆ สมบูรณ์บริบูรณ์เหมือนสมัยนี้ เฉพาะ “ภูษาโยง” หรือ “ผ้าโยง” นั้นตามชนบทแทบจะไม่มีใครรู้จัก เวลาเคลื่อนศพมีพระสงฆ์นำหน้าก็ใช้สายสิญจน์โยงจากโลงศพ เวลาทอดผ้าก็ลากสายสิญจน์ไปไว้หน้าพระ ทั้งนี้เพราะสายสิญจน์เป็นอุปกรณ์สามัญที่มีใช้ในงานมงคลทั่วไปอยู่แล้ว เป็นอย่างที่เรียกว่า “อเนกประสงค์”

และเมื่อใช้สายสิญจน์แทนบ่อยๆ จนเห็นคุ้นตา คนก็เลยเข้าใจว่าสิ่งที่โยงมาจากศพหรือลากไปไว้หน้าพระสงฆ์เพื่อให้ทอดผ้านั้น คือ “สายสิญจน์” ความจริงแล้วสายสิญจน์เป็นของที่เอามาใช้แทนผ้าโยงในเวลาที่ยังไม่มีผ้าโยงใช้

เวลานี้วัดต่างๆ มีอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีการต่างๆ สมบูรณ์บริบูรณ์แล้วโดยมาก การใช้สายสิญจน์แทนผ้าโยงจึงค่อยๆ หมดไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ในโลกนี้ ไม่มีผ้าโยง ใช้สายสิญจน์แทนได้

: แต่ในปรโลก ไม่มีบุญ ใช้เงินแทนไม่ได้

#บาลีวันละคำ (2,729)

2-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย