ธาตุโขภ (บาลีวันละคำ 3,131)
ธาตุโขภ
ครึ่งคุ้นครึ่งไม่คุ้น
อ่านว่า ทา-ตุ-โขบ
ไม่ใช่ ทาด-โขบ หรือ ทาด-โข-พะ
ประกอบด้วยคำว่า ธาตุ + โขภ
“ธาตุ” เป็นคำที่เราคุ้นกันดี แต่ “โขภ” เป็นคำที่เราไม่คุ้น
(๑) “ธาตุ”
บาลีอ่านว่า ทา-ตุ รากศัพท์มาจาก ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ตุ ปัจจัย อีกนัยหนึ่งว่ามาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ตุ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ, ยืดเสียง อะ ที่ ธ– เป็น อา
: ธา + ตุ = ธาตุ
: ธรฺ > ธ + ตุ = ธตุ > ธาตุ
“ธาตุ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “อวัยวะที่ทรงร่างไว้” หมายถึง กระดูก, อัฐิ
(2) (1) “สิ่งที่คงสภาพของตนไว้” (2) “สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งมูลค่า” (3) “สิ่งที่ทรงประโยชน์ของตนไว้บ้าง ของผู้อื่นไว้บ้าง” หมายถึง ธาตุ, แร่ธาตุ
(3) (1) “อักษรที่ทรงไว้ซึ่งเนื้อความพิเศษ” (2) “อักษรอันเหล่าบัณฑิตทรงจำกันไว้” หมายถึง รากศัพท์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ธาตุ” ไว้ดังนี้ –
(1) a primary element, of which the usual set comprises the four : earth, water, fire, wind (ปฐมธาตุ, คือธาตุซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๔ อย่าง คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม)
(2) natural condition, property, disposition; factor, item, principle, form (ภาวะตามธรรมชาติ, คุณสมบัติ, อุปนิสัย, ปัจจัย, หัวข้อ, หลัก, รูป)
(3) elements in sense-consciousness: referring to the 6 ajjhattikāni & 6 bāhirāni āyatanāni (ธาตุเกี่ยวกับความรู้สึก เกี่ยวถึงอายตนะภายใน 6 และภายนอกอีก 6)
(4) a humour or affection of the body (อารมณ์ หรืออาการของกาย)
(5) the remains of the body after cremation (ส่วนที่เหลือของร่างเมื่อเผาศพแล้ว)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ธาตุ” ในภาษาไทยไว้ว่า –
(1) สิ่งที่ถือว่าเป็นส่วนสําคัญที่คุมกันเป็นร่างของสิ่งทั้งหลาย โดยทั่ว ๆ ไปเชื่อว่ามี ๔ ธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ก็อาจมีธาตุอื่น ๆ อีก เช่น อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ธาตุไม้ ธาตุทอง ธาตุเหล็ก.
(2) กระดูกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ โดยทั่ว ๆ ไปเรียกรวม ๆ ว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระพุทธเจ้า เรียก พระบรมธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระอรหันต์ เรียกว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งของพระพุทธเจ้า ก็เรียกตามความหมายของคํานั้น ๆ เช่น พระอุรังคธาตุ พระทันตธาตุ, ถ้าเป็นผมของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระเกศธาตุ.
(3) ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาซึ่งว่าด้วยธาตุ เช่น ธาตุกถา ธาตุปาฐ.
(4) (ภาษาถิ่น-อีสาน) เจดีย์ที่บรรจุกระดูกคนที่เผาแล้ว.
(5) สารเนื้อเดียวล้วนซึ่งประกอบด้วยบรรดาอะตอมที่มีโปรตอนจํานวนเดียวกันในนิวเคลียส.
(6) รากศัพท์ของคําบาลีสันสกฤตเป็นต้น เช่น ธาตุ มาจาก ธา ธาตุ สาวก มาจาก สุ ธาตุ กริยา มาจาก กฺฤ ธาตุ.
(๒) “โขภ”
บาลีอ่านว่า โข-พะ รากศัพท์มาจาก ขุภฺ (ธาตุ = กำเริบ, กระเพื่อม, หวั่นไหว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ขุ-(ภฺ) เป็น โอ (ขุภฺ > โขภ)
: ขุภฺ + ณ = ขุภณ > ขุภ > โขภ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่กำเริบ” หมายถึง ความสั่น, ความสะดุ้งหรือกระเทือน (shaking, shock)
ธาตุ + โขภ ในบาลีซ้อน กฺ ระหว่างศัพท์
: ธาตุ + กฺ + โขภ = ธาตุกฺโขภ (ทา-ตุก-โข-พะ) แปลตามศัพท์ว่า “ความกำเริบของธาตุ”
บาลี “ธาตุกฺโขภ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ธาตุโขภ” อ่านว่า ทา-ตุ-โขบ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธาตุโขภ : (คำนาม) ความกําเริบของธาตุ ได้แก่ธาตุทั้ง ๔ ในร่างกายไม่ปรกติ มีอาหารเสียเป็นต้น. (ป.).”
ขยายความ :
“ธาตุโขภ” เป็น 1 ใน 4 สาเหตุที่ทำให้ฝัน ในคัมภีร์ (เช่น สมันตปาสาทิกา ภาค 2 อรรถกถาพระวินัยปิฎก ตอนเตรสกัณฑวัณณนาเป็นต้น) ท่านแสดงไว้ตามลำดับดังนี้ –
(1) ธาตุกฺโขภโต = ธาตุโขภ ธาตุในร่างกายแปรปรวนไปไม่เป็นปกติกำเริบ
(2) อนุภูตปุพฺพโต = เคยเห็นเคยเป็นมาก่อน จิตหน่วงเหนี่ยวเรื่องนั้นมาเป็นอารมณ์ หลับแล้วฝันถึงเรื่องนั้นหรือเรื่องทำนองนั้น
(3) เทวโตปสํหารโต = เทพยดาเอาเรื่องราวนั้นๆ เข้ามาสื่อสาร
(4) ปุพฺพนิมิตฺตโต = สำแดงเหตุให้ปรากฏว่าจะมีเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ไทยเจ้าบทเจ้ากลอนเอามาเรียงลำดับเสียใหม่ พูดให้คล้องจองกันดังนี้ –
(1) บุพนิมิต
(2) จิตนิวรณ์
(3) เทพสังหรณ์
(4) ธาตุพิการ
ท่านว่า –
ฝันเพราะบุพนิมิต เชื่อได้แท้
ฝันเพราะเทพสังหรณ์ เชื่อได้บ้างไม่ได้บ้าง
ฝันเพราะธาตุพิการ หรือ “ธาตุโขภ” และจิตนิวรณ์ เชื่อบมิได้แล
…………
ดูก่อนภราดา!
: กำเริบเพราะธาตุ ยังพอสามารถช่วยกันแก้ไขไปตามเหตุ
: ถ้ากำเริบเพราะกิเลส ก็ตัวใครตัวมัน
7-1-64