บาลีวันละคำ

บีฑา (บาลีวันละคำ 1,793)

บีฑา

แปลว่าเบียดเบียน

อ่านว่า บี-ทา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บีฑา : (คำแบบ: คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำกริยา) เบียดเบียน, บีบคั้น, รบกวน, เจ็บปวด. (ส. ปีฑา).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “บีฑา” รูปคำสันสกฤตเป็น “ปีฑา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ปีฑา : (คำนาม) ‘บีฑา,’ ทุกข์, ทุกขเวทนา, ความลำบากหรือความเบียดเบียน; ทยาหรือความกรุณา, ทยาลุตว์หรือทาน, ความสงสาร; การหักราญหรือทำลาย; มาลา, มาลัยหรืออาบีฑสำหรับเศียรเกล้า; pain, anguish, suffering; compassion, charity, pity; devastation or laying waste; a chaplet, a garland for the head.”

สันสกฤต “ปีฑา” บาลีเป็น “ปีฬา” (ปี-ลา)

ขอแนะนำให้สังเกตเป็นความรู้เบื้องต้นว่า จุฬา (หรือที่คำคนเก่าพูดว่า ฬ บาฬี) ในบาลีมักตรงกับ มณโฑ ในสันสกฤต เช่น “ครุฬ” ในบาลี เป็น “ครูฑ” ในสันสกฤต คือที่เราใช้ว่า “ครุฑ” เป็นต้น

ปีฬา” รากศัพท์มาจาก ปีฬฺ (ธาตุ = เบียดเบียน, ฆ่า, รบกวน, ข่มขู่, บีบคั้น) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ปีฬ + = ปีฬ + า = ปีฬา แปลตามศัพท์ว่า “การเบียดเบียน

ปีฬา” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) ความเจ็บปวด, ความทุกข์ (pain, suffering)

(2) การเบียดเบียน, ความเสียหาย, การได้รับบาดเจ็บหรือเสียหาย (oppression, damage, injury)

ในบาลีมีใช้อีกศัพท์หนึ่ง คือ “ปีฬน” (ปี-ละ-นะ) รากศัพท์คล้ายกันคือ ปีฬฺ (ธาตุ = เบียดเบียน, ฆ่า, รบกวน, ข่มขู่, บีบคั้น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ปีฬ + ยุ > อน = ปีฬน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเบียดเบียน” หมายถึง การกดขี่, การประทุษร้าย, ความทุกข์ (oppression, injury, suffering)

…………..

โปรดสังเกตว่า “บีฑา” ในสันสกฤตมีความหมายกว้างกว่าในบาลี และบางความหมายก็ตรงข้ามกัน เช่น ความหมายหนึ่งว่าความเบียดเบียน อีกความหมายหนึ่งว่าความกรุณา

บีฑา” ในบาลีสันสกฤตเป็นคำนาม แต่เราเอามาใช้ในภาษาไทยเป็นคำกริยา การใช้คำแปลกไปจากภาษาเดิมเช่นนี้มีอยู่ทั่วไปในภาษาไทย

บีฑา” นอกจากจะเป็นคำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไปแล้ว ยังเป็นคำเก่าที่คนรุ่นใหม่ไม่คุ้นหรือแทบจะไม่รู้จักอีกด้วย

แต่ไม่ว่าคนรุ่นใหม่จะรู้จักหรือไม่รู้จักคำว่า “บีฑา” ก็ตาม สังคมยุคใหม่หรือยุคไหนๆ ก็ยังคงมีการข่มเหง รังแก เบียดเบียน กดขี่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันอยู่เสมอ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การกดขี่คนอื่นอาจทำให้ท่านรู้สึกว่าตัวเองสูงขึ้น

: แต่ความจริงก็คือจิตใจของท่านต่ำลงไปกว่าเดิม

6-5-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย