บาลีวันละคำ

ทุพพลภาพ (บาลีวันละคำ 3,137)

ทุพพลภาพ

ไม่ได้หมายถึงพิการเท่านั้น

อ่านว่า ทุบ-พน-ละ-พาบ

ประกอบด้วยคำว่า ทุพพล + ภาพ

(๑) “ทุพพล

เขียนแบบบาลีเป็น “ทุพฺพล” (มีจุดใต้ พฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ทุบ-พะ-ละ รากศัพท์มาจาก ทุ + พล

(ก) “ทุ” เป็นคำอุปสรรค นักเรียนบาลีในไทยท่องจำคำแปลได้ตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ว่า “ชั่ว, ยาก, ลําบาก, ทราม, น้อย

(ข) “พล” (พะ-ละ) รากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ) + (อะ) ปัจจัย

: พล + = พล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู

พล” ในบาลีใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ :

(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)

(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)

คำที่เขียนว่า “พล” ในภาษาไทย :

ถ้าใช้ตามลำพังอ่านว่า พน

ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า พน-ละ- ก็มี อ่านว่า พะ-ละ- ก็มี

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พล” ไว้ดังนี้ –

พล, พล– [พน, พนละ-, พะละ-] : (คำนาม) กำลัง, มักใช้ประกอบคำอื่น เช่น พระทศพล อันเป็นพระนามพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงมีพระญาณอันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ มีฐานาฐานญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและสิ่งที่มิใช่ฐานะเป็นต้น; ทหาร เช่น กองพล ตรวจพล ยกพลขึ้นบก; สามัญ, ธรรมดา ๆ, พื้น ๆ, เช่น ของพล ๆ; ยศทหารและตำรวจสัญญาบัตร รองจากจอมพล (เดิมใช้ว่า นายพล). (ป., ส.).”

ทุ + พล ซ้อน พฺ ในระหว่างคำ (ทุ + พฺ + พล)

: ทุ + พฺ + พล = ทุพฺพล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีกำลังอันโทษประทุษร้าย

ทุพฺพล” เป็นคำคุณศัพท์ ใช้กับคน หมายถึง ผู้ไม่มีกำลัง หรือมีกำลังน้อย คือ อ่อนแอ (weak) ถ้าใช้กับสิ่งของ หมายถึง ของที่เก่าหรือทรุดโทรม (decayed, broken up, frail, decrepit, old)

ในภาษาไทยใช้เป็น “ทุพพล” (ทุบ-พน กรณีไม่มีคำอื่นสมาสท้าย) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทุพพล : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) มีกําลังน้อย, อ่อนแอ, ท้อแท้, ทุรพล ก็ว่า. (ป.; ส. ทุรฺพล).”

(๒) “ภาพ

บาลีเป็น “ภาว” (พา-วะ) รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อู เป็น โอ, แปลง โอ เป็น อาว (ภู > โภ > ภาว)

: ภู + = ภูณ > ภู > โภ > ภาว แปลตามศัพท์ว่า “ความมี” “ความเป็น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภาว” ไว้ดังนี้ –

(1) being, becoming, condition, nature (ความมี, ความเป็น, ภาวะ, ธรรมชาติ)

(2) cultivation or production by thought, mental condition (การปลูกฝัง หรือการผลิตผลด้วยความคิด, ภาวะทางใจ)

ความหมายของ “ภาว” ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –

ภาว-, ภาวะ : (คำนาม) ความมี, ความเป็น, ความปรากฏ, เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ. (ป., ส.).”

ภาว แปลง เป็น = ภาพ

ความหมายของ “ภาพ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ความ, ความมี, ความเป็น, มักใช้ประกอบเป็นส่วนท้ายของคำสมาส เช่น มรณภาพ ว่า ความตาย.

(2) รูปที่ปรากฏเห็นหรือนึกเห็น เช่น ภาพทิวทัศน์ ภาพในฝัน.

(3) สิ่งที่วาดขึ้นเป็นรูปหรือสิ่งที่ถ่ายแบบไว้ เช่น ภาพสีน้ำมัน ภาพถ่าย.

ในที่นี้ “ภาพ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

ทุพฺพล + ภาว = ทุพฺพลภาว > (เขียนแบบไทยเป็น) ทุพพลภาพ (ทุบ-พน-ละ-พาบ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทุพพลภาพ : (คำวิเศษณ์) หย่อนกําลังความสามารถที่จะประกอบการงานตามปรกติได้.”

ข้อสังเกต :

เมื่อพูดว่า “ทุพพลภาพ” เรามักคิดไปถึงคนพิการ แขนขาด ขาด้วน หรือเดินไม่ได้ต้องนั่งรถเข็น แต่ความหมายจริงๆ ของคำนี้ไม่ได้หมายถึงคนพิการเช่นนั้นเท่านั้น คนที่แขนขาเป็นปกติ ทำอะไรๆ ได้ตามปกติ ก็อาจเป็นคน “ทุพพลภาพ” ได้-ในกรณีที่ทำอะไรไม่ได้เต็มที่เท่าที่คนแข็งแรงตามปกติควรจะทำได้

แม้กระทั่งคนที่ความคิดอ่านย่อหย่อน คิดเองไม่เป็น หรือไม่รู้จักคิดอ่านทำอะไรที่ควรทำ โดยเฉพาะเมื่อมีตำแหน่งหน้าที่ซึ่งจะต้องทำ แต่กลับเรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา ก็เข้าลักษณะ “ทุพพลภาพ” ทั้งสิ้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

อย่าอ้างว่าไม่ทำความดี เพราะไม่มีกำลัง

: กำลังกายมีได้ตามวัย

: แต่กำลังใจมีได้ตลอดกาล

#บาลีวันละคำ (3,137)

13-1-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย