บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

กาพย์กลอนกับกฎเกณฑ์

กาพย์กลอนกับกฎเกณฑ์

—————————

พระเณรกับพระธรรมวินัย

………….

ถ้าจะแต่งกลอนสักบท สิ่งแรกที่จะต้องรู้ เข้าใจ และยอมรับ คือ “กฎเกณฑ์”

ในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะกลอนแปดซึ่งเป็นกลอนที่แต่งง่าย คนทั่วไปย่อมรู้จักกันดี

กฎเกณฑ์เบื้องต้นของกลอนแปดก็คือ 

หนึ่งบทมี ๔ วรรค 

หนึ่งวรรคมี ๘ พยางค์ 

กรณี ๘ พยางค์ จะมากกว่า ๘ เป็น ๙ หรือ ๑๐ ถึง ๑๑ หรือน้อยกว่า ๘ เป็น ๗ ก็ได้ แต่ควรทำเมื่อจำเป็นจริงๆ เช่นคำที่เอามาลงในวรรคเป็นชื่อเฉพาะ ไม่สามารถตัดหรือเพิ่มพยางค์ได้เป็นต้น แต่ไม่ควรทำพร่ำเพรื่อ

กฎเกณฑ์ต่อไปของกลอน ๘ ก็คือ ต้องมีสัมผัส อันที่จริงกาพย์กลอนทุกชนิดล้วนต้องมีสัมผัสเป็นหลัก ไม่มีสัมผัสก็ไม่ใช่กาพย์กลอน-โดยเฉพาะกาพย์กลอนไทย

“สัมผัส” มี ๒ ชนิด คือ สัมผัสสระ และสัมผัสอักษร

สัมผัสสระ คือคำที่มีเสียงสระเดียวกัน เช่น 

“มา” กับ “นา” 

“ไป” กับ “ไหน”

“ชัย” กับ “ไหน” ก็ถือว่ามีเสียงสระเดียวกัน คือเสียงสระ ไอ

สัมผัสอักษร คือคำที่ใช้อักษรเดียวกัน หรืออักษรที่ออกเสียงเหมือนกัน เช่น “ดู” กับ “ดี”

“ดู” เป็นสระอู “ดี” เป็นสระอี สระคนละตัวก็จริง แต่อักษร ด เด็กเหมือนกัน อย่างนี้คือสัมผัสอักษร

ท ทหาร กับ ธ ธง ฑ มณโฑ ฒ ผู้เฒ่า ใช้สัมผัสอักษรกันได้

อักษรต่ำที่มีอักษรสูงเป็นคู่ หรืออักษรล้อเสียง ใช้สัมผัสอักษรกันได้ กล่าวคือ

ค กับ ข

ช กับ ฉ

ท กับ ถ ฐ

ซ กับ ศ ษ ส

ทร ที่ออกเสียง ซ กับ ซ ศ ษ ส 

พ กับ ผ 

ฟ กับ ฝ

ฮ กับ ห

กฎอีกอย่างหนึ่งของสัมผัส คือ สัมผัสนอก และสัมผัสใน ซึ่งเกี่ยวพันกับสัมผัสสระ และสัมผัสอักษร

สัมผัสนอก คือสัมผัสนอกวรรคหรือสัมผัสระหว่างวรรคในบทเดียวกัน (อย่าลืม-หนึ่งบทมี ๔ วรรค-ดังที่บอกไว้ตอนต้น)

สัมผัสใน คือสัมผัสในวรรคเดียวกัน

กฎที่ต้องจำและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด คือ –

สัมผัสนอก เป็นสัมผัสบังคับ ต้องมี ไม่มีไม่เป็นกลอน

สัมผัสใน เป็นสัมผัสไม่บังคับ ไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีจะทำให้กลอนไพเราะยิ่งขึ้น

กฎที่สำคัญอีกกฎหนึ่ง –

สัมผัสนอก ใช้สัมผัสสระเท่านั้น

สัมผัสใน ใช้ได้ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร 

กฎเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดของกลอนก็คือ ต้องมีสัมผัสนอก (สัมผัสสระ) ตรงตำแหน่งพยางค์หรือคำที่กำหนด ดังนี้ – 

คำสุดท้ายวรรคที่ ๑ สัมผัสกับคำที่ ๓ หรือที่ ๕ (หรือ ๖-ในกรณีเป็น ๙ หรือ ๑๐ คำ) ของวรรคที่ ๒

คำสุดท้ายวรรคที่ ๒ สัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่ ๓ และสัมผัสกับคำที่ ๓ หรือที่ ๕ (หรือ ๖-ในกรณีเป็น ๙ หรือ ๑๐ คำ) ของวรรคที่ ๔

ถ้ายังงงอยู่ โปรดดูภาพประกอบ

กฎเกณฑ์ที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งคือ กำหนดเสียงของคำท้ายวรรค มีสูตรดังนี้ –

คำท้ายวรรคที่ ๑ (วรรคสดับ) ใช้ได้ทุกเสียง แต่ไม่นิยมเสียงสามัญ

คำท้ายวรรคที่ ๒ (วรรครับ) ใช้เสียงเอก โท หรือจัตวา แต่นิยมเสียงจัตวามากกว่าเสียงอื่น ห้ามใช้เสียงสามัญและเสียงตรี

คำท้ายวรรคที่ ๓ (วรรครอง) ใช้เสียงสามัญหรือเสียงตรี ห้ามใช้เสียงเอก โท หรือจัตวา (คือตรงข้ามกับวรรคที่ ๒)

คำท้ายวรรคที่ ๔ (วรรคส่ง) ใช้เสียงสามัญหรือเสียงตรี ห้ามใช้เสียงเอก โท หรือจัตวา (คือเหมือนวรรคที่ ๓)

กฎเกณฑ์เรื่องเสียงคำท้ายวรรคดังกล่าวนี้ ก็ไปเกี่ยวพันกับกฎการผันเสียงของอักษร ๓ หมู่ คือ อักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ ต้องแยกถูกว่าเสียงสามัญ เอก โท ตรี จัตวา ระดับเสียงต่างกันอย่างไร และต้องแม่นว่าอักษรหมู่ไหนผันได้กี่เสียง 

การแต่งกลอนจึงเป็นหลักวิชา 

ไม่ใช่จินตนาการเอาเอง

ผมสังเกตเห็นว่า กฎเกณฑ์เสียงคำท้ายวรรคนี้ คนแต่งกลอนรุ่นใหม่ละเลยกันมาก เหมือนกับว่าไม่เคยเรียนรู้ และไม่รับรู้ 

กฎเกณฑ์ของสัมผัสอีกอย่างหนึ่งก็คือ สัมผัสสระหรือสัมผัสนอกต้องเป็นสระมาตราเดียวกัน

“กัน” กับ “การ” (อัน-อาน) 

“น้ำ” กับ “นาม” (อำ-อาม) 

“มึน” กับ “คืน” (อึน-อืน) 

“ขุน” กับ “สูญ” (อุน-อูน) 

“ไหม” กับ “หมาย” (ไอ-อาย) 

ตัวอย่างเหล่านี้คือสระที่ใช้รับสัมผัสกันไม่ได้ (หมายถึงสัมผัสนอก) เพราะเป็นสระเสียงสั้นกับสระเสียงยาว คนละมาตรากัน

กฎเกณฑ์ข้อนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนแต่งกลอนรุ่นใหม่ละเลยกันมาก เหมือนกับว่าไม่เคยเรียนรู้ว่ามีข้อกำหนดเช่นนี้อยู่ 

แต่งมาดีๆ ใช้สระเสียงสั้นรับสัมผัสสระเสียงยาวหน้าตาเฉย

ต่อไปคงมีคนออกมาช่วยกันอธิบายว่าใช้ได้ ไม่ผิด พร้อมกับอ้างว่าเดี๋ยวนี้ใครๆ เขาก็แต่งกันอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่เห็นจะเสียหายอะไร

หนักไปกว่านั้น คือจะมีคนอ้างว่า เดี๋ยวนี้เขาแต่งกลอนไม่มีสัมผัสกันแล้ว เขาไม่มามัวงมงายยึดถือฉันทลักษณ์ดักดานกันแล้วแหละลุง!

เจริญเลย!!

อ่านกลอนบทนี้ แล้วลองเอากฎเกณฑ์ต่างๆ ดังที่ว่ามาเข้ามาจับ เป็นการทบทวนหลักวิชา

…………………………………..

กลอนจะดีอยู่ที่เรื่องเป็นเบื้องแรก

ความคิดแปลกโวหารคมสมสมัย

เสียงรื่นหูตรูอรรถสัมผัสใน

เก็บความไว้ได้หนักในวรรคเดียว

…………………………………..

แล้วกาพย์กลอนกับกฎเกณฑ์ไปเกี่ยวกับพระเณรกับพระธรรมวินัยอย่างไร ตอนหน้าจะมาว่ากันครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ มกราคม ๒๕๖๔

๑๕:๔๗

……………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *