บาลีวันละคำ

ทัพสัมภาระ (บาลีวันละคำ 3,138)

ทัพสัมภาระ

จะแบกหามเกะกะกันไปถึงไหน

อ่านว่า ทับ-พะ-สำ-พา-ระ

ประกอบด้วยคำว่า ทัพ + สัมภาระ

(๑) “ทัพ

บาลีเป็น “ทพฺพ” (ทับ-พะ) รากศัพท์มาจาก ทุ (ธาตุ = รู้, เจริญ; ไป, เป็นไป) + อพฺพ ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ทุ เป็น (ทุ > )

: ทุ > + อพฺพ = ทพฺพ (นปุงสกลิงค์; คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้” “ผู้เจริญ” “สิ่งที่เป็นไป” (คือของธรรมดาที่มีทั่วไป)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทพฺพ” ไว้ดังนี้ –

(1) material, substance, property; something substantial, a worthy object (วัสดุ, สิ่งของ, สมบัติ; ของที่มีแก่นสาร, สิ่งที่มีคุณค่า)

(2) a tree, shrub, wood (ต้นไม้, พุ่มไม้, ไม้)

(3) tree-like, wooden (เหมือนต้นไม้, ทำด้วยไม้)

(4) fit for, able, worthy, good (เหมาะสำหรับ, สามารถ, ทรงคุณค่า, ดี)

บาลี “ทพฺพ” สันสกฤตเป็น “ทฺรวฺย” ก็คือคำที่ไทยเราเอามาใช้ว่า “ทรัพย์” นั่นเอง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ทฺรวฺย” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) (คำนาม) ‘ทรัพย์,’ สมบัติ, พัสดุ, สิ่งของ; มูลธาตุ, อันท่านพึงนับว่ามีอยู่เก้าอย่าง, คือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม, อากาศ, เวลา, ทิคัมพร, อาตมัน, พุทธิหรือโพธ; ทองเหลือง; เดิมภัณฑ์; เภสัช, ยา; การฉาบทาหรือเจิมจุรณ์; ครั่ง; สรรชรส, ยางไม้; สุรา, เหล้า; ความสุภาพเรียบร้อยหรืออหังการ; wealth, property, substance, thing; elementary substance, nine kinds of which are reckoned, viz. earth, water, fire, air, ether, time, space, soul and intellect; brass; a stake or wager; a drug or medicament; anointing or plastering; lac, the animal dye; gum, resin; spirituous liquor; modesty or propriety;

(2) (คำคุณศัพท์) เหมาะ, งาม, ควร, สม, ชอบ; อันเนื่องจากหรือเป็นสัมพันธินแก่ต้นพฤกษ์; fit, proper, becoming, suitable, right; derived from or relating to a tree.

ในที่นี้ “ทพฺพ” ใช้ในความหมายว่า (1) วัสดุ, สิ่งของ, สมบัติ; ของที่มีแก่นสาร, สิ่งที่มีคุณค่า (2) ต้นไม้, พุ่มไม้, ไม้

ในภาษาไทยใช้เป็น “ทัพ-” (มีคำอื่นสมาสข้างท้าย) และ “ทัพพะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทัพ– ๒, ทัพพะ : (คำนาม) สมบัติ, เงิน, เครื่องใช้ต่าง ๆ, มักใช้ประกอบส่วนหน้าสมาส. (ป.).”

(๒) “สัมภาระ

เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺภาร” อ่านว่า สำ-พา-ระ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยงดู, ทรงไว้) + ปัจจัย, ลบ , แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” : ยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (ภรฺ > ภาร)

: สํ = สมฺ + ภรฺ = สมฺภรฺ + = สมฺภรณ > สมฺภร > สมฺภาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งหรือผู้ที่ช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้” “สิ่งที่นำไปด้วยกัน” “สิ่งหรือผู้ที่จะพึงดูแลไปด้วยกัน

สมฺภาร” ในภาษาบาลี ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การสะสม, การผลิต, การตระเตรียม (accumulation, product, preparation)

(2) วัตถุ, ปัจจัย, ส่วนผสม (ที่นำไปปรุงอาหารเป็นต้น) (materials, requisite ingredients [of food])

(3) ส่วนประกอบ, ธาตุ (constituent part, element)

(4) การนำมารวมกัน, การเรียงลำดับ (bringing together, collocation)

บาลี “สมฺภาร” สันสกฤตก็เป็น “สมฺภาร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สมฺภาร : (คำนาม) ‘สัมภาระ,’ สมุหะ, นิกร, สมุทาย; การอุปการะ; สเบียง; ความเต็ม, ความสำเร็จ; อุปกรณ์หรือสามัครี, เครื่องอาศรัย; multitude, heap, assemblage; supporting; provision; fullness, completion; apparatus, necessaries.”

ในภาษาไทยใช้เป็น “สัมภาระ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัมภาระ : (คำนาม) สิ่งของต่าง ๆ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้และเสบียงซึ่งสะสมรวบรวมหรือจัดเตรียมไว้เพื่อภาระต่าง ๆ เช่น เตรียมสัมภาระสำหรับไปต่างจังหวัด; การเกื้อหนุน, การเลี้ยงดู. (ป., ส.).”

ทพฺพ + สมฺภาร = ทพฺพสมฺภาร (ทับ-พะ-สำ-พา-ระ) แปลว่า “การรวบรวมทรัพย์สิ่งของ

ทพฺพสมฺภาร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การเก็บรวบรวมสิ่งที่มีค่าหรือควรเก็บ (the collection of something substantial or worth collecting)

(2) ของขวัญมีค่าควรแก่การให้ (a gift worth giving)

บาลี “ทพฺพสมฺภาร” เราเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “ทัพสัมภาระ” (ตัดตัวสะกดออกตามหลักนิยมในภาษาไทย) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทัพสัมภาระ : (คำนาม) สิ่งหรือเครื่องอันเป็นส่วนประกอบที่จะคุมกันเข้าเป็นเรือน เรือ รถ หรือเกวียน เป็นต้น. (ป.).”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนเขลาใช้ทัพสัมภาระสร้างภพชาติ

: คนฉลาดใช้ทัพสัมภาระตัดสังสารวัฏ

#บาลีวันละคำ (3,138)

14-1-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย