บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

พระธรรมวินัยกับพระเณร

พระธรรมวินัยกับพระเณร

—————————

กฎเกณฑ์กับกาพย์กลอน

………….

ถ้าจะแต่งกลอนสักบท สิ่งแรกที่จะต้องรู้ เข้าใจ และยอมรับ คือ “กฎเกณฑ์” ฉันใด

ถ้าใครสักคนจะครองเพศเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา สิ่งแรกที่จะต้องรู้ เข้าใจ และยอมรับ คือ “พระธรรมวินัย” ก็ฉันนั้น

คำที่ไม่มีกฎเกณฑ์ทางฉันทลักษณ์ จะเป็นกาพย์กลอนไม่ได้ ฉันใด

คนที่ไม่มีพระธรรมวินัย ก็เป็นพระเณรไม่ได้ ฉันนั้น

เวลานี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ คนที่เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาในบ้านเราพากันละเลยการศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย

เมื่อไม่ได้ศึกษา สังเกต สำเหนียก ว่าอะไรห้ามทำ อะไรต้องทำ ก็พากันทำสิ่งที่ต้องห้ามและละเลยที่ต้องทำกันทั่วไปหมด 

ไม่ต่างอะไรกับคนแต่งกาพย์กลอนที่ไม่ได้ศึกษา สังเกต สำเหนียกว่ากฎเกณฑ์ของกาพย์กลอนมีอะไรบ้าง ก็พากันแต่งกาพย์กลอนที่วิปริตผิดฉันทลักษณ์กันทั่วไปหมดฉะนั้น

กรณีแต่งกาพย์กลอนนั้นอาจอ้างได้ว่า เพื่อไม่ให้จำเจอยู่กับกฎเกณฑ์คือฉันทลักษณ์เดิมๆ เก่าๆ เป็นการซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย และเป็นวิถีทางสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้แก่วงวรรณกรรม เมื่อทำกันมากๆ ก็กลายเป็นที่ยอมรับ อย่างที่วงการกาพย์กลอนบ้านเรามีคำว่า “ปลดแอกฉันทลักษณ์” คือแต่งคำประพันธ์โดยไม่ต้องคำนึงถึงถ้อยคำสัมผัสใดๆ ขอให้มีเนื้อหาแนวคิดแปลกแหวกแนวก็เป็นอันใช้ได้ และอาจเป็นที่ยอมรับชื่นชมยินดียกย่องกันทั่วไปอีกด้วย 

แต่พระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนานั้นไม่เหมือนกฎเกณฑ์ทางฉันทลักษณ์ที่อาจปลดแอกทิ้งไปแล้วสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาแทนดังที่นิยมทำกันในปัจจุบัน 

พระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาเป็นองค์พระศาสดา

ดังที่ในพระไตรปิฎกมีพระพุทธพจน์ตรัสไว้ชัดเจนว่า –

……………………………………..

โย  โว  อานนฺท  มยา  

ธมฺโม  จ  วินโย  จ  

เทสิโต  ปญฺญตฺโต  

โส  โว  มมจฺจเยน  สตฺถา.

ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยอันใด

ที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่พวกเธอ

ธรรมและวินัยอันนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอ

เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๔๑

……………………………………..

ถ้าเปลี่ยนแปลงพระธรรมวินัย ก็เท่ากับเปลี่ยนพระศาสดา 

และเท่ากับเปลี่ยนพระศาสนานั่นเอง

กลอนที่ไม่มีกฎเกณฑ์ทางฉันทลักษณ์ คนที่ชอบแบบนั้นด้วยกันก็ยังยอมรับว่าเป็นกลอนชนิดหนึ่งอยู่นั่นเอง

ถ้าพระเณรไม่ปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย เราควรจะยอมรับกันละหรือว่า-แบบนั้นก็ยังเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาอยู่นั่นเอง?

และถ้าพระพุทธศาสนาไม่มีพระธรรมวินัยเป็นหลัก เราควรจะยอมรับกันละหรือว่า-แบบนั้นก็ยังเป็นพระพุทธศาสนาอยู่นั่นเอง?

————

ปัญหาที่ฝังรากลึกและกำลังขยายตัวอยู่ในเวลานี้ก็คือ พระภิกษุสามเณรและชาวพุทธในเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในหลักพระธรรมวินัย จะเลื่อมใสใครหรืออะไรอย่างไร เอาความถูกใจตัวเองเป็นหลัก 

เมื่อถูกใจแล้ว จะถูกจะผิดพระธรรมวินัยหรือไม่ ไม่รับรู้ คงยึดถืออยู่แต่ว่าฉันศรัทธาแบบนี้ เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เท่านั้นพอ

ผลร้ายที่ตามมาก็คือ พระเณรเองก็จะหลงทาง คือไม่ได้เอาพระธรรมวินัยเป็นเกณฑ์ประพฤติปฏิบัติ แต่ชี้วัดกันด้วยจำนวนญาติโยมที่ศรัทธา 

และในที่สุดก็จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ขึ้นมา นั่นคือ อะไรที่ญาติโยมเขายอมรับได้ พระก็ทำได้ พระธรรมวินัยเอาไว้ต่างหาก

การอ้างว่าญาติโยมเขายอมรับได้นั้นนับว่าเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการเปลี่ยนรากฐานของพระศาสนาจากพระธรรมวินัยมาอยู่ที่การยอมรับได้ของสังคม

ในสังคมพุทธศาสนามหายาน พระทำอะไรๆ ได้มากมายโดยที่สังคมยอมรับว่าท่านยังเป็นพระอยู่ อย่างที่เรารู้กัน พระตั้งบริษัทธุรกิจ พระตั้งพรรคการเมือง ไปจนกระทั่ง-พระมีเมีย เหล่านี้สังคมของเขายอมรับได้ทั้งสิ้น คือยอมรับว่าแม้ท่านทำอย่างนั้นท่านก็ยังเป็น “พระ” ของสังคมอยู่นั่นเอง

โดยพากันลืมไปสิ้นว่า “พระ” ตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้

เวลานี้ ในบ้านเรา พระที่อุ้มแม่ กอดแม่ ไหว้แม่ ก็เริ่มมีคนส่วนหนึ่งยกย่องสรรเสริญว่าเป็นพระที่ดีไปแล้ว

ถ้าเอาการยอมรับของสังคมเป็นมาตรฐาน ก็เชื่อได้ว่าอีกไม่นานพระไทยก็จะค่อยๆ กลายเป็นพระมหายานไปโดยอัตโนมัติ

ดังที่เวลานี้ บางวัด เวลาทำงานโยธาภายในวัด พระนุ่งกางเกงสวมเสื้อเหลืองเหมือนพระมหายานไปแล้วก็มี แล้วก็ไม่มีใครเห็นว่าแปลกประหลาดอะไรไปแล้วด้วย

————

ความวิปริตที่ว่ามานี้ยังนับว่าเป็นเพียง “ชั้นหน้าดิน” คือชั้นตื้น เพราะยังเป็นเพียงแค่ไม่รับรู้พระธรรมวินัยเท่านั้น (พระธรรมวินัยมีอยู่ แต่ฉันไม่รับรู้)

แต่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปอีกนั้นจะเป็น “ชั้นใต้ดิน” คือชั้นลึก นั่นคือ ต่อไปจะลุกลามไปถึงขั้นปฏิเสธพระธรรมวินัย กล่าวคือจะมีการอ้างว่าที่พระธรรมแสดงไว้อย่างนี้ พระวินัยบัญญัติไว้อย่างนี้นั้นไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะแก่ยุคสมัย ที่ถูกต้องและทันสมัยจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจและอย่างที่ข้าพเจ้ากำลังทำอยู่นี่

เหมือนคนแต่งกลอนสมัยใหม่ที่บอกว่า กลอนที่ดีต้องเป็นกลอนที่ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ทางฉันทลักษณ์อย่างที่ฉันกำลังแต่งอยู่นี่ และผู้คนทั้งหลายเขาก็นิยมแต่งแบบนั้นกันอยู่นี่

กฎเกณฑ์ทางฉันทลักษณ์ทิ้งลงถึงขยะไปได้แล้วฉันใด

พระธรรมวินัยก็โละทิ้งไปได้แล้วฉันนั้น

————

ในสภาพปัจจุบันที่ผู้บริหารการพระศาสนาของเรายังไม่ยอมขยับตัวเพื่อแก้ปัญหาใดๆ ทางแก้-ทางรอดมีอยู่ทางเดียวคือ แต่ละคนต้องศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยกันให้มากขึ้น และช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยกันให้มากขึ้นด้วยไปพร้อมๆ กัน 

ใครถนัดเรียน เรียน

ใครไม่ถนัดเรียน ก็หันไปทำงานสนับสนุนส่งเสริมคนถนัดเรียน

การเรียนบาลีนั้นเราไปถูกทางแล้ว แต่ต้องเน้นย้ำ “การเรียนเพื่อเอาความรู้ที่ถูกต้องไปปฏิบัติจริง” กันให้เข้มข้นขึ้นอีกมากๆ

จุดอ่อนหรือจุดอับของพวกเราก็คือ มากไปด้วยคนที่บ่นว่าต่างๆ แต่คนที่ลงมือแก้ปัญหาไม่มีหรือมีก็น้อยอย่างยิ่ง 

เหมือนมีแต่คนที่ตะโกนบอกว่าไฟไหม้ ไฟไหม้

แต่คนที่ลงมือดับไฟไม่มี

เพราะฉะนั้น ลองจัดตารางเวลาให้ตัวเองว่า จะเรียนพระธรรมวินัยให้ได้วันละกี่ชั่วโมง

แล้วก็ลองศึกษาวิธีปฏิบัติธรรมโดยไม่ต้องแยกเวลาออกไปจากชีวิตประจำวันว่าทำอย่างไร ทำได้ไหม แล้วหัดทำเข้า

ศึกษาเรียนรู้แล้ว ได้ความรู้มาแล้ว เอาไปปฏิบัติจริงๆ แล้ว ก็เอาไปบอกต่อๆ กันไปอีก

ไม่ต้องไปกังวลว่าจะไม่มีคนทำ อย่างน้อยก็มีเราคนหนึ่งนี่ไงล่ะที่กำลังทำอยู่

ยังมีคนแต่งกลอนโดยยึดกฎเกณฑ์ทางฉันทลักษณ์อยู่-แม้แต่คนเดียว-ตราบใด กลอนไทยก็ยังไม่สูญหายตราบนั้น-ฉันใด

ยังมีคนเรียนรู้และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอยู่-แม้แต่คนเดียว-ตราบใด

พระศาสนาที่ถูกต้องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะยังไม่สูญหายตราบนั้น-ฉันนั้น 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ มกราคม ๒๕๖๔

๑๑:๔๐

……………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *