บาลีวันละคำ

กฐินโจร – โจรกฐิน (บาลีวันละคำ 2,336)

กฐินโจร – โจรกฐิน

โจรพันธุ์ใหม่

อ่านว่า กะ-ถิน-โจน โจน-กะ-ถิน

ความหมายของคำเท่าที่ตาเห็น :

(๑) “กฐิน

บาลีอ่านว่า กะ-ถิ-นะ รากศัพท์มาจาก กฐฺ (ธาตุ = อยู่ลำบาก) + อิน ปัจจัย

: กฐฺ + อิน = กฐิน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่อยู่ลำบาก

คำว่า “กฐิน” ในบาลี :

(1) ถ้าเป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) แปลว่า “ไม้สะดึง” คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “กฐิน” (คำนาม) ว่า –

the cotton cloth which was annually supplied by the laity to the bhikkhus for the purpose of making robes, also a wooden frame used by the bh. in sewing their robes (ผ้าฝ้ายที่ฆราวาสถวายประจำปีแก่ภิกษุเพื่อทำจีวร, ไม้สะดึงที่ภิกษุใช้เย็บจีวร)

(2) ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า แข็ง, แนบแน่น, ไม่คลอนแคลน, หนัก, หยาบกร้าน, โหดร้าย (hard, firm, stiff, harsh, cruel)

ในที่นี้ “กฐิน” มีความหมายตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กฐิน, กฐิน– : (คำนาม) ผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุสงฆ์เฉพาะกฐินกาล, ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือ กรอบไม้สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร; คํา กฐิน นี้ ใช้ประกอบกับคําอื่นอันเนื่องด้วยพิธีกฐิน ผ้าที่ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ในพิธีนี้ เรียกว่า ผ้ากฐิน ในฤดูกาลเรียกว่า กฐินกาล [กะถินนะกาน] คือระยะเวลาตั้งแต่แรมคํ่าหนึ่ง เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ ระยะเวลานี้เรียกเป็นสามัญว่า เทศกาลกฐิน [เทดสะกานกะถิน] ฤดูกฐิน หรือ หน้ากฐิน ก็มี ก่อนจะถึงกฐินกาลผู้ประสงค์จะถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุสงฆ์วัดใดจะต้องไปแจ้งความจํานงว่าจะนำผ้ากฐินไปทอดที่วัดนั้นเป็นการล่วงหน้า การแสดงความจํานงล่วงหน้านี้ เรียกว่า จองกฐิน การทําพิธีถวายผ้ากฐิน เรียกว่า ทอดกฐิน … ฯลฯ …”

(๒) “โจร

บาลีอ่านว่า โจ-ระ รากศัพท์มาจาก จุรฺ (ธาตุ = ลัก, ขโมย) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ จุ-(รฺ) เป็น โอ (จุรฺ > โจร)

: จุรฺ + = จุรณ > จุร > โจร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ลักขโมย” หมายถึง ขโมย, โจร (a thief, a robber)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โจร ๑, โจร– : (คำนาม) ผู้ร้ายที่ลักขโมยหรือปล้นสะดมทรัพย์สินผู้อื่นเป็นต้น. (ป., ส.).”

กฐิน + โจร = กฐินโจร แปลอย่างคำประสมแบบไทยว่า “กฐินที่ไปทอดเหมือนโจรปล้น” (คือไม่บอกให้รู้ตัว)

ขยายความ :

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1 ที่คำว่า “กฐิน” มีข้อความที่ขอคัดมาตามประสงค์ดังนี้ –

…………..

เมื่อจวนจะสิ้นกฐินกาล ราวขึ้น ๑๔ – ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง มักจะมีผู้มีศรัทธาหมายจะสงเคราะห์ภิกษุสงฆ์ให้ได้อานิสงส์กฐิน ไปสืบเสาะหาวัดที่ไม่มีใครทอดกฐิน เมื่อพบก็จัดการทอดทีเดียว กฐินชนิดนี้เรียกว่า กฐินตก หรือ กฐินตกค้าง บางทีก็เรียกว่า กฐินจร หรือ กฐินโจร ซึ่งหมายความว่า กฐินที่ไม่ได้จองล่วงหน้าตามธรรมเนียม จู่ๆ ก็ไปทอดโดยมิได้บอกให้รู้ตัว

…………..

ได้ความตามสารานุกรมไทยฯ ว่า “กฐินโจร” เพี้ยนมาจาก “กฐินจร” นั่นเอง

กฐินจร” คือกฐินที่ผู้ทอดไม่ได้จองลวงหน้า แต่ใช้วิธีตระเวน คือ “จร” หาวัดที่ยังไม่มีใครทอดกฐินไปเรื่อยๆ พอเจอก็เข้าไปทอดทันที

กฐินจร” นั่นเองเรียกเพี้ยนเป็น “กฐินโจร” แล้วเลยมีผู้แต่งคำอธิบายว่า คือกฐินที่จู่โจมเข้าไปทอดเหมือนโจรเข้าปล้น

ตามธรรมเนียมการทอดกฐินนั้น ทางวัดนิยมจัดเตรียมอาหารการกินไว้ต้อนรับชาวคณะกฐิน เป็นอย่างคำที่ว่า “เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” กับทั้งเลี้ยงคนที่มาร่วมอนุโมทนาหรือมาช่วยงานไปในตัวด้วย

การณ์ที่ปรากฏในปัจจุบันก็คือ วัดไหนมีงานทอดกฐิน วัดนั้นและวันนั้นมีอาหารกินฟรี

ปัจจุบันจึงปรากฏว่า มีบุคคลจำพวกหนึ่ง พอถึงหน้ากฐินก็เที่ยวสืบเสาะหาดูว่าวัดไหนทอดกฐินวันไหน พอถึงวันนั้นก็ยกพวกไปรุมกินฟรี

อาการที่ไปนั้นไม่ได้สนใจที่จะไปอนุโมทนาบุญกฐินแต่ประการใด แต่มุ่งไปกินโดยเฉพาะ กินเสร็จก็ทำกิริยาที่ภาษาปากเรียกว่า “สะบัดตูด” ไม่มีแก่ใจที่จะช่วยงานเช่นหยิบจับเก็บกวาดใดๆ ทั้งสิ้น บางที (และส่วนมาก) ทำสกปรกเลอะเทอะทิ้งไว้ในวัดอีกต่างหาก

บุคคลจำพวกดังกล่าวนี้สมควรแท้ที่จะขนานนามว่า “โจรกฐิน” ซึ่งนับวันนับปีจะมีชุกชุมขึ้น

โจรกฐิน” เป็นโจรที่เกิดมาเพื่อทำลายธรรมเนียมอันดีงามของการเลี้ยงในงานบุญกฐินให้หมดคุณค่าลงไปโดยสิ้นเชิง-เหลือเพียงแค่ “งานกินฟรี” โดยไม่ได้รับรู้ถึงบุญกุศล และโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

ไม่ใช่อดไม่ใช่อยากใช่ยากไร้

เป็นโจรใหม่เกิดมาเฉพาะหน้ากฐิน

วัดไหนทอดดอดด้นล้นแผ่นดิน

ปล้นของกินเอาต่อหน้าเหมือนห่าลง

#บาลีวันละคำ (2,336)

4-11-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *