บาลีวันละคำ

ผู้ครองเรือน คำบาลีว่า “ฆราวาส” (บาลีวันละคำ 3,143)

ผู้ครองเรือน คำบาลีว่า “ฆราวาส

ไม่ใช่ “ฆารวาส”

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านพบคำที่สะกดว่า “ฆารวาส” โดยผู้เขียนตั้งใจจะให้หมายถึง คนผู้อยู่ครองเรือน คือคนทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่บรรพชิตหรือนักบวช

เบื้องต้นโปรดทราบและจำเป็นหลักวิชาว่า ความหมายที่ว่า “คนผู้อยู่ครองเรือน” นั้น คำบาลีเรียกว่า “ฆราวาส” ไม่ใช่ “ฆารวาส”

ฆรา

ไม่ใช่ ฆาร-

ฆราวาส

ไม่ใช่ “ฆารวาส”

โปรดสังเกตคำที่สะกด :

ฆราวาส” สะกดถูก

“ฆารวาส” สะกดผิด

และโปรดทราบว่า “ฆารวาส” ที่หมายถึง “คนผู้อยู่ครองเรือน” นั้น ไม่มีในภาษาบาลี

ฆราวาส” อ่านว่า คะ-รา-วาด

ประกอบด้วย ฆร + อาวาส

(๑) “ฆร

บาลีอ่านว่า คะ-ระ รากศัพทมาจาก –

(1) ฆรฺ (ธาตุ = หลั่งไป, ไหลไป) + (อะ) ปัจจัย

: ฆรฺ + = ฆร แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่หลั่งไหลแห่งฝนคือกิเลส” (คือเป็นสถานที่มนุษย์เสพสังวาสกัน)

ท่านขยายความว่า เดิมเมื่อมนุษย์ยังมีน้อย ก็เสพสังวาสกันตามสถานที่ทั่วไป ต่อมาเมื่อมนุษย์มีมากขึ้น สถานที่ทั่วไปที่จะรอดจากหูตาของเพื่อนมนุษย์หายากขึ้น ประกอบกับมีหิริโอตตัปปะ จึงเกิดความคิดสร้างที่มุงที่บังขึ้นมาเพื่อเป็นที่เสพสังวาสกัน สถานที่นั้นจึงถูกเรียกว่า “ฆร” (“ที่เป็นที่หลั่งไหลแห่งฝนคือกิเลส”) กาลต่อมาจึงพัฒนาขึ้นเป็นที่อยู่อาศัย

(2) คหฺ (ธาตุ = จับ, รับ, ถือเอา) + (อะ) ปัจจัย, แปลง คห เป็น ฆร

: คหฺ + = คห > ฆร แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่อันเขาถือครอง

ฆร” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง เรือน, บ้าน (a house)

(๒) “อาวาส

บาลีอ่านว่า อา-วา-สะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ปัจจัย

ปัจจัย หรือปัจจัยที่เนื่องด้วย (เช่น เณ ณฺย) มักไม่ปรากฏตัว (ภาษาสูตรไวยากรณ์ว่า “ลบ ณ ทิ้งเสีย”) แต่มีอำนาจทีฆะต้นธาตุ คือธาตุที่มี 2 พยางค์ ถ้าพยางค์แรกเสียงสั้นก็ยืดเป็นเสียงยาว (อะ เป็น อา, อิ เป็น อี, อุ เป็น อู) ในที่นี้ วสฺ ธาตุ “” เสียงสั้น จึงยืดเป็น “วา

: อา + วสฺ = อาวสฺ + = อาวสณ > อาวส > อาวาส

อาวาส” (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาอยู่” = มาถึงตรงนั้นแล้วก็อยู่ จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “อาวาส” ความหมายกว้างๆ คือ การพักแรม, การพักอยู่, การอาศัยอยู่, การอยู่; ที่อยู่, ที่พำนัก (sojourn, stay, dwelling, living; dwelling-place, residence)

ในภาษาไทย “อาวาส” มักเข้าใจกันในความหมายเฉพาะว่า “วัด”

แต่ในคำ ฆร + อาวาส นี้ “อาวาส” มีความหมายว่า การอยู่ (ไม่ใช่ “ที่อยู่”)

ฆร + อาวาส = ฆราวาส แปลตามศัพท์ว่า “การอยู่ในเรือน” หรือ “การอยู่ครอบครองซึ่งเรือน” เรียกสั้นๆ ว่า การครองเรือน, อยู่ครองเรือน หรือทับศัพท์ว่า ฆราวาส (the household life)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ฆราวาส : (คำนาม) คนผู้อยู่ครองเรือน, คนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ใช่บรรพชิตหรือนักบวช. (ป.).”

ขยายความ :

มนุษย์เกิดมาจากผู้ครองเรือน จึงมีฐานะเป็น “ฆราวาส” ตั้งแต่เกิด ภายหลังจึงมีบางคนออกจากเรือนไปถือเพศเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน ที่เรียกว่า “อนาคาริก” หรือ “บรรพชิต” หรือภาษาไทยเรียกว่า “นักบวช

สำหรับนักบวชในพระพุทธศาสนานั้น เหตุผลที่ออกบวชอันเป็นอุดมการณ์ ( = สาเหตุอันสูงสุด) ก็คือ เห็นตระหนักว่า –

สมฺพาโธ  ฆราวาโส  รชาปโถ  อพฺโภกาโส  ปพฺพชฺชา

ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง

ปัจจุบันมีความเห็นในทางตรงกันข้าม คือเห็นว่าบรรพชานั้นคับแคบ ทำอะไรก็ไม่สะดวก เพราะติดขัดข้อห้ามนั่นนี่โน่น

ฆราวาสต่างหากที่ปลอดโปร่ง ทำอะไรก็คล่องตัว

ความเห็นเช่นนี้คงต้องการคำอธิบายชี้แจงกันอีกมาก เวทีบาลีวันละคำคงแคบไปที่จะตั้งวงอภิปราย

แต่เรื่องที่อาจบอกย้ำให้รับรู้เป็นหลักวิชาไว้ได้ก็คือ คนอยู่ครองเรือน คือคนทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่บรรพชิตหรือนักบวชนั้น คำบาลีเรียกว่า “ฆราวาส” ไม่ใช่ “ฆารวาส”

โปรดรับรู้ และช่วยกันเรียกและเขียนให้ถูก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: โรคไม่รู้ รักษาได้ด้วยการบอกให้รู้

: แต่โรคไม่รับรู้ หมอธรรมดาไม่ควรรับรักษา

#บาลีวันละคำ (3,143)

19-1-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย