บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

พิธีกรรมนั้นจำเป็นขนาดไหน

พิธีกรรมนั้นจำเป็นขนาดไหน

————————-

ผมได้อ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านเขียนไว้ดังนี้ –

………….

จริงๆ ถ้ามองข้ามอาการ

“ด่าล็อคคอ ขอโทรศัพท์หน่อย”

“วางแผนป่วน ชวนล้ำเส้น”

“พูดเอาหล่อ ขอออกความเห็น”

“รักพวกพ้อง ปกป้องสถาบัน”

สิ่งที่น่าสนใจคือ

“พิธีกรรมนั้นจำเป็นขนาดไหน”

………….

คำว่า “พิธีกรรมนั้นจำเป็นขนาดไหน” ผมเข้าใจว่าคงหมายถึงพิธีถวายราชสักการะพระบรมรูปสองรัชกาลที่ประดิษฐานอยู่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในเวลานี้

คำว่า “พิธีกรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้คำนิยามไว้ว่า –

“การบูชา, แบบอย่างหรือแบบแผนต่าง ๆ ที่ปฏิบัติในทางศาสนา”

แต่ในคำถามที่ยกมาตั้งเป็นหัวข้อเรื่องข้างต้นนั้น เจตนาของผู้ถามน่าจะหมายความกว้างกว่าที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ คือไม่ใช่แค่การบูชาหรือแบบแผนทางศาสนาเท่านั้น หากแต่หมายถึงการกระทำทั้งปวงที่ต้องทำอย่างเป็นแบบแผนซึ่งคนที่อยู่ในสังคมเดียวกันร่วมกันกระทำ

ยกตัวอย่างที่มองเห็นง่ายๆ –

นักเรียนเข้าแถวหน้าเสาธงทุกเช้า นั่นก็ใช่

เมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีดังขึ้นในโรงหนัง ทุกคนยืนขึ้น นั่นก็ใช่ 

นักเรียนนั่งคุยกันอยู่ คุณครูเดินเข้ามา นักเรียนลุกขึ้นยืนรับ นั่นก็ใช่

หรือแม้กระทั่ง สวมหมวกอยู่ เมื่อเข้าไปในเคหสถาน ถอดหมวกออก นั่นก็ใช่

สรุปว่า ตั้งแต่การบูชาหรือแบบแผนทางศาสนา ไปจนกระทั่งกติกามารยาทในสังคม นั่นแหละคือความหมายของ “พิธีกรรม” ในที่นี้

—————–

แล้วพิธีกรรมตามความหมายที่ว่ามานี้จำเป็นขนาดไหน?

ถ้าเป็นพิธีกรรมทางศาสนา และถ้าเราเป็นศาสนิกในศาสนานั้นที่จะต้องปฏิบัติพิธีกรรมนั้นตามโอกาสที่มาถึงเข้า ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจว่าพิธีกรรมนั้นคือการทำอะไร มีความมุ่งหมายอย่างไร 

เมื่อรู้เข้าใจถูกต้องถ่องแท้แล้ว เราก็จะตอบได้เองว่าพิธีกรรมนั้นจำเป็นขนาดไหน

แต่ถ้าเป็นพิธีการบางสิ่งบางอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ในสังคมเฉพาะกลุ่ม เช่นพิธีถวายราชสักการะพระบรมรูปสองรัชกาลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นต้น ก็เป็นหน้าที่ของสมาชิกผู้เกี่ยวข้องในสังคมนั้นๆ จะพึงปฏิบัติตามหน้าที่ และถ้าอยากรู้ว่าพิธีการนั้นๆ จำเป็นแค่ไหนก็ต้องศึกษาตรวจสอบกันต่อไป

แต่หลักที่เป็นแกนกลางก็คือ เราเป็นสมาชิกของสังคมใด ก็ต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคมนั้น จะปฏิบัติหรือจะไม่ปฏิบัติอะไรอย่างไรตามความพอใจของตัวเอง ย่อมไม่ถูกต้อง

พิธีการพิธีกรรมนั้นๆ จะจำเป็นหรือไม่จำเป็นแค่ไหนอย่างไร ก็ส่วนหนึ่ง แต่หน้าที่ที่จะพึงปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคมนั้นก็อีกส่วนหนึ่ง จะเอามาเป็นเงื่อนไขให้ขัดแย้งกันมิได้ เช่น พิธีการนั้น ตามความเห็นของเราเห็นว่าไม่จำเป็น เราก็เลยไม่ทำหรือไม่ร่วมด้วยทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของเราในฐานะสมาชิกของสังคมนั้นที่จะพึงทำ อย่างนี้ย่อมไม่ถูกต้อง

ถ้าเราอยู่คนเดียวในป่าหิมพานต์ พิธีกรรมตามความหมายที่ว่านี้ก็ไม่จำเป็นเลย หมายความว่าเราจะปฏิบัติอะไรหรือไม่ปฏิบัติอะไรขึ้นอยู่กับเราแต่เพียงผู้เดียว โลกนี้เป็นของเราแต่เพียงผู้เดียว เพราะมีเราเพียงคนเดียว

ขอประทานโทษ-จะแก้ผ้าเดินไปไหนมาไหน จะหกคะเมนตีลังกาท่าไหน จะกินจะนอนท่าไหน จะแหกปากร้องลั่นโลกแค่ไหน 

เชิญตามสบาย

—————–

แต่ทันทีที่มนุษย์อยู่ร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป แม้ตัวจะไม่ได้ติดกัน คือไม่ได้อยู่ที่เดียวกันทุกเวลานาที แต่เมื่อใดก็ตามที่มาเจอกันเข้า จะทำอะไรหรือจะไม่ทำอะไรเหมือนกับเวลาอยู่ตามลำพังคนเดียว ไม่ได้แล้ว

นั่นก็คือเมื่ออยู่ร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป มนุษย์ที่เจริญแล้วจะต้องมีข้อตกลงกันว่าใครต้องทำอะไร และใครต้องไม่ทำอะไร

จะเห็นได้ว่า หลักพื้นฐานง่ายๆ ก็มีแค่นี้เอง

ใครต้องทำอะไร 

และใครต้องไม่ทำอะไร

เอาหลักนี้เข้าไปจับ จะได้คำตอบที่ชัดเจนว่าพิธีกรรมนั้นจำเป็นขนาดไหน

คำตอบก็คือ ถ้าเราเป็นสมาชิกของสังคมใด และสังคมนั้นเขาตกลงกันว่าอย่างไร (ใครต้องทำอะไรและใครต้องไม่ทำอะไร) เราก็แค่ทำตามข้อตกลงนั้น 

ง่ายๆ แค่นี้เอง

ที่มันยาก ที่มันเกิดปัญหา ที่มันเป็นประเด็นขึ้นมา ก็มาจากคนที่เข้าเป็นสมาชิกของสังคมนั้นๆ แต่ไม่ต้องการจะทำตามกฎกติกามารยาทที่สังคมนั้นกำหนดไว้นั่นเอง ปัญหาอยู่ตรงนี้

—————–

หลักพื้นฐานก็คือ ถ้าเราไม่พอใจที่จะปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคมใด เราก็อย่าเข้าไปเป็นสมาชิกของสังคมนั้น 

นี่เป็นหลักพื้นฐานที่ยุติธรรมที่สุด

จะเป็นสมาชิกของสังคมนั้นด้วย แล้วก็จะไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคมนั้นด้วย ใครมองเห็นความยุติธรรมบ้าง?

ยกตัวอย่าง 

วัดทุกวัดมีการทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น

พระภิกษุสามเณรที่อยู่ในวัดนั้นลงทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นเป็นปกติ

ถ้ามีภิกษุหรือสามเณรรูปไหนประกาศว่า การทำวัตรสวดมนต์เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะไม่ลงทำวัตรสวดมนต์ แต่ข้าพเจ้าก็จะยังคงอยู่ในวัดนี้ต่อไปด้วย-ใครแน่จริง มายิงกูดิ

ใครมองเห็นความยุติธรรมบ้าง?

—————–

หลักพื้นฐานอีกประการหนึ่งก็คือ ใครเห็นว่ากฎกติกาอะไรข้อไหนไร้สาระหรือไม่ถูกไม่ควร ก็บอกกล่าวเสนอแนะหรือแสดงความคิดเห็นได้ 

สังคมปกติทุกสังคมเปิดช่องทางให้สมาชิกในสังกัดแสดงความคิดเห็นได้อยู่แล้ว 

เอาเหตุผลเข้าสู้กัน เอาชนะกันด้วยเหตุผล ฝ่ายไหนมีเหตุผลดีกว่าก็ยอมรับกัน แล้วปรับปรุงแก้ไขกฎกติกาใหม่ได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเรื่องหนึ่งก็คือ การสะกดการันต์ตามพจนานุกรม

ภาษาไทยเรา ณ เวลานี้มีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นมาตรฐานกลางกำหนดว่าคำไหนเขียนอย่างไรอ่านอย่างไร 

ถ้าคนในชาติเขียนตามนั้นอ่านตามนั้น ภาษาก็เป็นเอกภาพ

บางคนไม่เห็นด้วยกับพจนานุกรมฯ พจนานุกรมฯ บอกให้เขียนอย่างนี้ แต่ฉันจะเขียนอีกอย่างหนึ่ง พจนานุกรมฯ บอกให้อ่านอย่างนี้ ฉันก็จะอ่านไปอีกอย่างหนึ่ง

ภาษาก็สับสน ขาดเอกภาพ

ที่มีปัญหาก็เพราะแบบนี้ เพราะไม่เดินตามกติกา แต่เริ่มต้นก็ลงมือฝ่าฝืนกฎกติกาทันที ความขัดแย้งยุ่งเหยิงสับสนเกิดขึ้นตรงจุดนี้

—————–

กรณีที่เราเกิดอยู่ในสังคมนั้นๆ อยู่แล้ว เช่น เกิดมาก็เป็นคนไทย อยู่ในสังคมไทย 

แต่ไม่ชอบวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตไทย 

ไม่ชอบการกราบการไหว้ 

ไม่ชอบระบบอาวุโส เป็นต้น 

จะลาออกจากความเป็นไทยไปอยู่ประเทศอื่นก็ทำไม่ได้ 

อย่างนี้จะให้ทำอย่างไร?

ตรงนี้แหละที่เราจึงต้องมีระบบการศึกษา

ความหมายของการศึกษาก็คือ การเรียนรู้เหตุผลว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรอะไรไม่ควร และการฝึกฝนตนเองจนสามารถเผชิญกับสิ่งที่ชอบที่ชังได้อย่างมีสติ กำหนดท่าทีของตนเองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดโปร่งใจ

นี่คือผลที่ต้องการของ-การศึกษา

น่าเสียดายที่บัดนี้เรามองการศึกษาแบบคนหลงทาง คือมองว่าการศึกษาคือการหาความรู้เพื่อประกอบอาชีพเท่านั้น เราจึงจัดการศึกษาชนิดที่ทำให้คนหวังได้ใบรับรองแผ่นเดียว แต่ละเลยการฝึกฝนอบรมให้รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรอะไรไม่ควร

แม้แต่ใบรับรองผลการศึกษาทางพระศาสนาแท้ๆ ก็มีคนพยายามให้ได้มาด้วยวิธีละเมิดคำสอนทางศาสนานั้นเสียเอง

บัดนี้ผลผลิตของระบบการศึกษาแบบนี้กำลังครอบงำสังคม เราจึงมีคนที่พร้อมจะขบถต่อกฎกติกามารยาทสังคมได้ทุกรูปแบบและทุกวงการ

ความรู้ถูกรู้ผิด รู้ควรไม่ควรจึงหมดไป

เหลือแต่–

อะไรที่กูอยากทำ กูจะทำ 

อะไรที่กูไม่อยากทำ กูก็จะไม่ทำ 

อยู่ในสังคมนั้น 

แต่ไม่เคารพกฎกติกาของสังคมนั้น ใครจะทำไม

และสุดท้ายก็เห็นผิดเป็นชอบ

คือเห็นไปว่าการไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคมที่ตนสังกัดอยู่เป็นความกล้าหาญ เป็นหัวก้าวหน้า เป็นความเก่งกล้าสามารถ เป็นความดีความเจริญ

—————–

เมื่อใดที่เราช่วยกันอบรมสั่งสอนลูกหลานเรา-แน่นอน เริ่มด้วยการอบรมสั่งสอนตัวเราเองด้วย-ให้รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรอะไรไม่ควร 

ช่วยกันฝึกฝนตนเองจนสามารถเผชิญกับสิ่งที่ชอบที่ชังได้อย่างมีสติ 

รู้หน้าที่ที่จะพึงปฏิบัติในฐานะสมาชิกของสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม 

เมื่อนั้นก็จะเป็นดังพระพุทธพจน์ในมหาสติปัฏฐานสูตรที่ว่า –

อาตาปี  สมฺปชาโน  สติมา

วิเนยฺย  โลเก  อภิชฺฌาโทมนสฺสํ. 

มีความเพียร มีสติสัมปชัญญะ 

ขจัดความชอบความชังอันมีอยู่ในวิสัยโลกออกไปได้เด็ดขาด

เหลือไว้แต่ความรู้สำนึกมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ตามควรแก่สถานะของตน

ไม่ใช่ทำเพราะชอบ ไม่ทำเพราะชัง

แต่ทำหรือไม่ทำเพราะเป็นหน้าที่

เมื่อนั้นเราจะอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดโปร่งใจ

และไม่ต้องมาถกเถียงกันว่า-พิธีกรรมนั้นจำเป็นขนาดไหน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๕ สิงหาคม ๒๕๖๐

๑๙:๓๒

—————-

สมชาย แซ่จิว

10 นาที · 

๕ สิงหาคม ๒๕๖๐

จริงๆ ถ้ามองข้ามอาการ

“ด่าล็อคคอ ขอโทรศัพท์หน่อย”

“วางแผนป่วน ชวนล้ำเส้น”

“พูดเอาหล่อ ขอออกความเห็น”

“รักพวกพ้อง ปกป้องสถาบัน”

สิ่งที่น่าสนใจคือ

“พิธีกรรมนั้นจำเป็นขนาดไหน”

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *