คัพภบาตน์ (บาลีวันละคำ 3,150)
คัพภบาตน์
แปลว่า “ทำแท้ง”
ฝากไว้ในวงวรรณอีกคำหนึ่ง
อ่านว่า คับ-พะ-บาด
ประกอบด้วยคำว่า คัพภ + บาตน์
(๑) “คัพภ”
เขียนแบบบาลีเป็น “คพฺภ” (คับ-พะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) คสฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อภ ปัจจัย, แปลง สฺ เป็น พฺ (คสฺ > คพฺ)
: คสฺ + อภ = คสภ > คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เป็นไปปกติ” (คือมีทั่วไป)
(2) คุ (เสียงดังโครกคราก) + อภ ปัจจัย, ซ้อน พฺ ระหว่างบทหน้ากับปัจจัย (คุ + พฺ + อภ), “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ คุ (คุ > ค)
: คุ + พฺ + อภ = คุพฺภ > คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ส่งเสียงดังโครกๆ”
(3) คพฺภฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อ (อะ) ปัจจัย
: คพฺภฺ + อ = คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ทรงไว้” (คือรองรับเด็กไว้)
(4) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป) + ภ ปัจจัย, แปลง รฺ เป็น พฺ (ครฺ > คพ)
: ครฺ + ภ = ครฺภ > คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไหลออกไปข้างนอก”
“คพฺภ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ภายใน, โพรง (interior, cavity) = ภายในของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กลวงหรือว่าง
(2) ห้องใน, ห้องส่วนตัว, ห้องนอน, กุฏิ (an inner room, private chamber, bedroom , cell) = ห้อง
(3) ความพองขึ้นของมดลูก (ตั้งท้อง), ครรภ์ (the swelling of the (pregnant) womb, the womb) = ตั้งท้อง
(4) สิ่งที่อยู่ในมดลูก, ไข่ที่กลายเป็นตัวอ่อน, ลูกอ่อนในครรภ์ (the contents of the womb, the embryo, foetus) = ลูกในท้อง
บาลี “คพฺภ” สันสกฤตเป็น “ครฺภ” และ “ครฺพฺภ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ครฺภ, ครฺพฺภ : (คำนาม) ‘ครรภ’ สัตว์นอนอยู่ในครรภ์; เด็ก, ทารก, ทาริกา; อุทร, ท้อง; ภายใน; มัธยภาค, กลาง; การต่อ-รวม-สมทบหรือสมาน; ห้องใน, ห้องอยู่ไฟ; ห้องในห้องใดห้องหนึ่ง; ที่ตั้งพระประธานในวิหาร ( = ที่ศักดิ์สิทธิ์ในวิหาร); รยบถของแม่น้ำคงคา (เมื่อแม่น้ำนั้นเต็มเปี่ยม); ‘ปุษฺปครฺภ, ปุษฺปโกศ’ กลีบนอกของดอกบัว (คือกลีบที่หุ้มดอกภายนอก); อันตภาคของสิ่งนั้นๆว; the foetus or embryo; the child; the belly, the inside; the middle; joining, union; an inner apartment, a lying-in chamber; any interior chamber; the adytum of the temple ( = the secred place of te temple); the bed of the Ganges (when the river is fullest); the calyx of the lotus; the interior of anything.”
ในภาษาไทย นิยมสะกดอิงสันสกฤตเป็น “ครรภ” แต่ที่คงเป็น “คัพภ” ก็มี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) ครรภ, ครรภ-, ครรภ์ : (คำนาม) ห้อง, ท้อง เช่น หญิงมีครรภ์ (ใช้เฉพาะผู้หญิงที่มีลูกอยู่ในท้อง). (ส. ครฺภ; ป. คพฺภ).
(2) คัพภ-, คัพภ์ : (คำนาม) ครรภ์, ท้อง; ห้อง. (ป.).
(๒) “บาตน์”
บาลีเป็น “ปาตน” อ่านว่า ปา-ตะ-นะ รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตกไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ต้นธาตุ (คือ ป) เป็น อา (ปตฺ > ปาต)
: ปตฺ + ยุ > อน = ปตน > ปาตน แปลตามศัพท์ว่า “การยัง-ให้ตกไป” หมายถึง การทำให้ตกไป, การทำลาย, การฆ่า (bringing to fall, destroying, killing) (เป็นความหมายเมื่อใช้กับ คพฺภ-)
คพฺภ + ปาตน = คพฺภปาตน (คับ-พะ-ปา-ตะ-นะ) แปลว่า “การยังครรภ์ให้ตกไป” หมายถึง การตกไปแห่งครรภ์, การทำลายครรภ์, การรีดลูก, การทำแท้ง, การแท้งลูก (the destruction of the embryo, destroying the foetus, abortion, an abortive preparation)
คำว่า “คพฺภปาตน” มีใช้ในคัมภีร์ เช่น วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 ตอนตติยปาราชิก พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 215 (ว่าด้วยภิกษุทำแท้งให้สตรีมีครรภ์) และวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 ตอนมหาขันธกะ พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 144 (ว่าด้วยอกรณียกิจ 4 ข้อที่ห้ามภิกษุทำโดยเด็ดขาด 1 ใน 4 คือฆ่ามนุษย์ โดยชั้นที่สุดแม้การทำแท้งก็ผิด) เป็นต้น
บาลี “คพฺภปาตน” ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอให้ใช้ในภาษาไทยเป็น “คัพภบาตน์” เพื่อความสะดวกปากในการอ่านว่า คับ-พะ-บาด
คพฺภ = คัพภ (คับ-พะ-)
ปาตน = บาตน์ (บาด)
คพฺภปาตน = คัพภบาตน์ (คับ-พะ-บาด)
แปลตามศัพท์ว่า “การทำครรภ์ให้ตกไป”
แปลเป็นคำไทยว่า “การทำแท้ง”
หมายเหตุ : ถ้าใช้เป็น “ครรภบาตน์” แบบที่ “คพฺภ” บาลี เรานิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “ครรภ” หรือ “ครรภ์” คำว่า “ครรภบาตน์” ย่อมเสี่ยงที่จะมีคนอ่านว่า คัน-บาด หรือ คัน-พะ-บาด ซึ่งถ้าฟังแต่เสียงย่อมชวนให้เกิดจินตนาการไปในทางอื่นได้ง่าย แต่เมื่อสะกดเป็น “คัพภบาตน์” ย่อมมีโอกาสที่จะอ่านถูกต้องตามเจตนาได้ง่าย
“คัพภบาตน์” อ่านว่า คับ-พะ-บาด แปลว่า การทำแท้ง
อภิปรายขยายความ :
มีคำถามว่า คพฺภปาตน > คัพภบาตน์ (คับ-พะ-บาด) > การทำแท้ง เป็นบาปหรือไม่?
เพื่อไม่ให้ต้องเสียเวลาเถียงกันตั้งแต่ต้นว่า แค่ไหนอย่างไรเรียกว่า “บาป” ซึ่งจะต้องมีคนอ้างเกณฑ์ที่แตกต่างกันหลายหลากไม่รู้จบ จึงขอถามใหม่ว่า การทำแท้งผิดศีลข้อปาณาติบาต คือทำลายชีวิต หรือไม่?
ก่อนตอบคำถาม ดูรายละเอียดลึกลงไปอีกหน่อย ชีวิตมนุษย์กำหนดว่าเป็น “ชีวิต” ตั้งแต่ตอนไหน
กำเนิดชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาท่านแสดงไว้ในมหาตัณหาสังขยสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 12 ข้อ 452 ว่า กระบวนการกำเนิดมนุษย์มีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ –
(๑) มาตาปิตโร สนฺนิปติตา โหนฺติ. = มารดาบิดาร่วมเสพสังวาสกัน
(๒) มาตา อุตุนี โหติ. = มารดามีระดู (คือมีไข่สุกในระยะพร้อมที่จะผสม)
(๓) คนฺธพฺโพ ปจฺจุปฏฺฐิโต โหติ. = มีคันธัพพะ (คือปฏิสนธิวิญญาณ) เข้ามาปรากฏเฉพาะหน้า
เมื่อองค์ประกอบทั้ง 3 ครบแล้ว เริ่มต้นชีวิตจะเป็น “กลละ” ซึ่งหมายถึงหยาดน้ำขนาดเล็กมาก พูดพอให้เข้าใจได้ก็คือ sperm ของฝ่ายชายที่เข้าไปผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงนั่นเอง
ในอินทกสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 803 มีข้อความที่เป็นพระพุทธพจน์ ดังนี้ –
…………..
ปฐมํ กลลํ โหติ
กลลา โหติ อพฺพุทํ
อพฺพุทา ชายเต เปสิ
เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโน
ฆนา ปสาขา ชายนฺติ
เกสา โลมา นขาปิ จ.
(ปะฐะมัง กะละลัง โหติ
กะละลา โหติ อัพพุทัง
อัพพุทา ชายะเต เปสิ
เปสิ นิพพัตตะตี ฆะโน
ฆะนา ปะสาขา ชายันติ
เกสา โลมา นะขาปิ จะ.)
ร่างกายนี้เกิดเป็นกลละก่อน
จากกลละเป็นอัพพุทะ
จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ
จากเปสิเกิดเป็นฆนะ
จากฆนะเกิดเป็นปสาขา
(ต่อจากนั้น) จึงมีผม ขน และเล็บ …
…………..
ในพระวินัยระบุไว้ชัดเจนว่า “กลละ” นี้ถือว่าเป็น “ชีวิตมนุษย์” ที่สมบูรณ์แล้ว
ในอาบัติปาราชิกข้อ 3 ที่บัญญัติว่า “ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องปาราชิก” ท่านนับความเป็นมนุษย์ตั้งแต่ยังเป็น “กลละ” เป็นต้นไป ไม่ได้นับตั้งแต่คลอดออกมาแล้วรอดชีวิตตามหลักกฎหมายอย่างที่มักเข้าใจกัน
หมายความว่า ถ้าภิกษุจงใจทำแท้งให้สตรีตั้งแต่เด็กในท้องยังเป็นเพียง “กลละ” เท่านั้น ก็เป็นอันทำปาณาติบาตคือฆ่ามนุษย์ เป็นปาราชิกทันที
องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็น “ปาณาติบาต” มี 5 คือ :
(1) ปาโณ ปาณะนั้น (ในที่นี้คือทารกในครรภ์) ยังมีชีวิต
(2) ปาณสญฺญิตา ผู้ทำรู้ว่าปาณะนั้นยังมีชีวิต
(3) วธกจิตฺตํ มีเจตนาจะให้ตาย
(4) อุปกฺกโม ลงมือทำ
(5) เตน มรณํ ปาณะนั้นตายด้วยการกระทำนั้นโดยตรง
เป็นอันว่า การทำแท้งมีองค์ประกอบครบที่จะเป็น “ปาณาติบาต” จึงเป็นอันได้คำตอบว่า การทำแท้งผิดศีลข้อ “ปาณาติบาต” อย่างแน่นอน
ต่อจากนี้ก็น่าจะง่ายขึ้นที่จะวินิจฉัยว่า ผิดศีลเป็นบาปหรือไม่
ลองคิดเทียบเป็นตัวอย่างแล้วตอบตัวเอง – ลักขโมย จี้ปล้น ฉ้อโกง ผิดศีลข้อ “อทินนาทาน” เป็นบาปหรือไม่?
…………..
ดูก่อนภราดา!
มนุษย์ที่เจริญแล้ว
: ไม่ควรใช่ชีวิตคน
: เพื่อแก้ปัญหาชีวิตตน
26-1-64