เนกาสี (บาลีวันละคำ 3,151)
เนกาสี
บาลีอีกคำที่น่าจำให้ติดปาก
อ่านตรงตัวว่า เน-กา-สี
พึงทราบก่อนว่า บาลีคำนี้ยังไม่สมบูรณ์ลำพังคำเดียว เพราะเกี่ยวอยู่กับคำอื่นด้วย คำอื่นหรือคำเต็มความก็คือ –
“เนกาสี ลภเต สุขํ”
นับได้ 8 พยางค์ นั่นคือเป็นคาถา 1 บาท หรือ 1 วรรค
“เนกาสี” เป็นคำสนธิและสมาสซ้อนอยู่ในคำเดียว
(1) ซ้อนแรกเป็นสนธิ ระหว่าง น + เอกาสี
(๑) “น” อ่านว่า นะ (ไม่ใช่ นอ) เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “นิบาต” บอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่, ไม่มี
ศัพท์จำพวก “นิบาต” นี้ ไม่แจกรูปด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ แต่อาจเปลี่ยนแปลงโดยหลักเกณฑ์อื่นได้
เช่นในที่นี้ น สนธิกับ เอกาสี : น + เอ– = นเอ– > เน คือ น กับ เอ กลืนเสียงกลืนรูปกลายเป็น “เน-” แต่ถึงกระนั้นก็ยังถือว่าเป็นคนละคำกันอยู่นั่นเอง คือ น ก็ยังคงมีฐานะเป็น “น” คำเดิม เวลาแปลก็ต้องแยกออกมาจาก “เนกาสี” เป็น “น” คำหนึ่ง “เอกาสี” อีกคำหนึ่ง
สรุปว่า “เนกาสี” ไม่มี มีแต่ “น” กับ “เอกาสี” คำ 2 คำมาเชื่อมต่อกันเฉยๆ แต่ไม่ได้กลายเป็นคำเดียวกัน – อย่างนี้คือลักษณะของ “สนธิ”
เมื่อแยก “น” ออกไปแล้ว “เนกาสี” ก็คืนรูปเป็น “เอกาสี”
(2) ซ้อนสองเป็นสมาส ระหว่าง เอก + อาสี
(๒) “เอกาสี” แยกออกได้เป็น 2 คำ คือ “เอก” คำหนึ่ง “อาสี” อีกคำหนึ่ง
(ก) “เอก” บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก
: อิ > เอ + ณฺวุ = เอณฺวุ > เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน”
“เอก” หมายถึง “หนึ่ง” ใช้ใน 2 สถานะ คือ :
(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”
(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
(ข) “อาสี” รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = กิน, บริโภค) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ อ-(สฺ) เป็น อา (อส > อาส)
: อสฺ + ณี > อี = อสี > อาสี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กิน” (eater)
เอก + อาสี (-ก + อา– = –กอา– > –กา-) = เอกาสี แปลว่า “ผู้กินคนเดียว”
สูตรกระจายคำเพื่อหาความหมายว่า เอโก จ โส อาสี จาติ เอกาสี = ผู้นั้นเป็นคนเดียวด้วย เป็นผู้กินด้วย ดังนั้นจึงชื่อว่า “เอกาสี= ผู้กินคนเดียว”
ในที่นี้ เอก สมาสกับ อาสี : เอก + อาสี = เอกาสี คำ 2 คำ มาชนติดกัน กลายสภาพเป็นคำเดียวกัน แต่พร้อมกันนั้นก็ชนกันด้วยวิธีสนธิไปในตัว คือ ก (ที่ เอก) กับ อา (ที่ อาสี) กลืนเสียงกลืนรูปกลายเป็น “-กา-” กรณีเช่นนี้ “เอก” กับ “อาสี” กลายเป็นคำเดียวกัน นับเป็น 1 คำ ซึ่งจะต่างจาก “เนกาสี” ที่ถือว่ายังเป็นคนละคำกันอยู่ เวลาแปลก็ต้องแยกออกเป็น “น” คำหนึ่ง “เอกาสี” อีกคำหนึ่ง แต่ “เอกาสี” เวลาแปลไม่ต้องแยกเป็น “เอก” คำหนึ่ง “อาสี” อีกคำหนึ่ง เพราะ “เอก” กับ “อาสี” ชนกันและกลายเป็นคำเดียวกันไปแล้ว – อย่างนี้คือลักษณะของ “สมาส”
“เนกาสี ลภเต สุขํ” แปลยกศัพท์เป็นดังนี้ –
(1) เอกาสี (คือ “เนกาสี” ที่แยก “น” ออกไปแล้ว) = อันว่าผู้กินคนเดียว
(2) น ลภเต (เอา น มาควบกับ ลภเต) = ย่อมไม่ได้ (ลภเต = ย่อมได้, น = หามิได้ = ย่อมไม่ได้)
(3) สุขํ = ซึ่งความสุข
“เนกาสี ลภเต สุขํ” แปลรวมความ “ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข”
หรือจะแปลว่า “กินคนเดียวไม่อร่อย” ก็ได้ แต่แปลแบบนี้ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านจะติงเอาว่า “แปลหนังสือโลดโผน”
ขยายความ :
เวลากินข้าวหรือกินอะไรก็ตาม ถ้ามีคนอื่นที่รู้จักหรือไม่รู้จักก็ตามอยู่ในที่นั้นด้วย ถ้าของกินนั้นพอจะแบ่งปันให้คนอื่นได้ ถือเป็นมรรยาทที่จะแบ่งของกินให้คนอื่นด้วย แต่ถ้าเป็นของที่ไม่สามารถจะแบ่งได้หรือไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จะแบ่งหรือที่จะให้คนอื่นกินด้วยได้ ก็ยังถือเป็นมรรยาทที่จะเอ่ยปากชวนหรือแสดงกิริยาเชิญชวน เช่น “กินข้าวด้วยกัน” หรือ “กินไอติมกัน” ไม่ว่าผู้ที่เราชวนนั้นจะกินหรือไม่กินก็ตาม
ใครที่อยู่ในสถานการณ์ที่จะแบ่งหรือที่จะให้คนอื่นกินด้วยได้ แต่ก้มหน้าก้มตากินไปคนเดียว นั่นคือกำลังทำตัวตรงกับภาษิตบทนี้ “เนกาสี ลภเต สุขํ”
เวลาเห็นญาติมิตรที่สนิทกันกินอะไรคนเดียว เราอาจใช้ภาษิตนี้พูดสัพยอกกันได้ หรืออาจพูดขึ้นมาคำเดียวสั้นๆ ว่า “เนกาสี” โดยละคำอื่นไว้ในฐานเข้าใจก็ได้
รู้บาลี มีวิธีหยอกล้อ ได้ทั้งความร่าเริง ได้ทั้งคติธรรม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ชีวิตไม่ใช่สมาส
:
#บาลีวันละคำ (3,151)
27-1-64