ชุมนุมเทวดา (บาลีวันละคำ 1,174)
ชุมนุมเทวดา
บาลีว่าอย่างไร
(๑) คำว่า “ชุมนุมเทวดา” แปลเป็นภาษาบาลีว่าอย่างไร
(ก) ถ้าหมายถึง “การชุมนุมของเทวดา” (เทวดามาชุมนุมกันเอง) ภาษาบาลีใช้ว่า
– เทวตาสโมสรณ (เท-วะ-ตา-สะ-โม-สะ-ระ-นะ)
– เทวตาสโมธาน (เท-วะ-ตา-สะ-โม-ทา-นะ)
(1) “เทวตา” รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เพลิดเพลิน) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวุ > เทวุ) + ตา ปัจจัย
: ทิวุ + อ = ทิวฺ > ทิว > เทว + ตา = เทวตา) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองหรือผู้เพลิดเพลินด้วยกามคุณห้า” หรือ “ผู้รุ่งเรืองหรือผู้เพลิดเพลินด้วยฤทธิ์ของตน”
(2) “สโมสรณ” รากศัพท์มาจาก สํ (ร่วมกัน, พร้อมกัน) + โอ (ลง) + สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น ม (สํ > สม), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ (อน > อณ)
: สํ > สม + โอ = สโม + สรฺ = สโมสร + ยุ > อน = สโมสรน > สโมสรณ) แปลตามศัพท์ว่า “การไปรวมกัน”
(3) “สโมธาน” รากศัพท์มาจาก สํ (สมฺมา = ด้วยดี) + โอ (ลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น ม, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: สํ > สม + โอ = สโม + ธา = สโมธา + ยุ > อน = สโมธาน แปลตามศัพท์ว่า “การรวมกันด้วยดี”
ทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกัน คือ การประชุม, การชุมนุม, การรวมกัน (coming together, meeting, union, junction)
(ข) ถ้าหมายถึง “การเชิญเทวดาให้มาชุมนุม” (เทวดามาชุมนุมตามคำเชิญ) ภาษาบาลีใช้ว่า เทวตาอชฺเฌสนา
4) “อชฺเฌสนา” รากศัพท์มาจาก อธิ (ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + อิสฺ (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง อธิ เป็น อชฺฌ, แผลง อิ ที่ อิ-(สฺ) เป็น เอ (อิสฺ > เอสฺ), แปลง ยุ เป็น อน + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อธิ > อชฺฌ + อิสฺ = อชฺฌิสฺ + ยุ > อน = อชฺฌิสน > อชฺเฌสน + อา = อชฺเฌสนา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยอมให้” “กิริยาที่ขอร้อง” หมายถึง การเชื้อเชิญ, การขอร้อง, การเชิญชวน (request, entreaty, invitation)
(๒) บทชุมนุมเทวดาเป็นภาษาบาลีว่าอย่างไร
บทชุมนุมเทวดา
—————–
สมนฺตา จกฺกวาเฬสุ
อตฺราคจฺฉนฺตุ เทวตา
ขอเชิญเทพยดาในรอบจักรวาลทั้งหลาย
จงมาประชุมพร้อมกันในสถานที่นี้
สทฺธมฺมํ มุนิราชสฺส
สุณนฺตุ สคฺคโมกฺขทํ
จงฟังซึ่งพระสัทธรรมอันให้สวรรค์และนิพพาน
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าแห่งมุนี
สคฺเค กาเม จ รูเป คิริสิขรตเฏ
จนฺตลิกฺเข วิมาเน
ขอเชิญเหล่าเทพเจ้าซึ่งสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นกามภพก็ดี
รูปภพก็ดี อยู่ในวิมานเหนือยอดเขาแลเขาขาด ในอากาศก็ดี
ทีเป รฏฺเฐ จ คาเม ตรุวนคหเน
เคหวตฺถุมฺหิ เขตฺเต
ในเกาะก็ดี ในแว่นแคว้นก็ดี ในบ้านก็ดี ในต้นพฤกษาแลป่าชัฏก็ดี
ในเรือนก็ดี ในที่ไร่นาก็ดี
ภุมฺมา จายนฺตุ เทวา ชลถลวิสเม
ยกฺขคนฺธพฺพนาคา
ภุมเทวดาก็ดี ยักษ์ คนธรรพ์และนาค ซึ่งสถิตอยู่ในน้ำแลบนบก
และที่อันไม่เรียบราบก็ดี
ติฏฺฐนฺตา สนฺติเก ยํ มุนิวรวจนํ
สาธโว เม สุณนฺตุ.
ซึ่งอยู่ในที่ใกล้เคียง จงมาประชุมพร้อมเพรียงกันในสถานที่นี้
คำใดเป็นคำของพระมุนีผู้ประเสริฐ
ท่านสัตบุรุษทั้งหลายจงสดับคำนั้นแห่งข้าพเจ้า
ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา
ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม
ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา
ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม
ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา.
ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม.
——-
ที่มาบทและคำแปล :
คู่มือทำวัตรสวดมนต์สำหรับผู้ถืออุโบสถศีล
วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช ๒๕๕๐
——-
เรื่องควรรู้ :
๑ บทชุมนุมเทวดา มักเรียกเป็นภาษาปากว่า “สัคเค” (เพราะตัวบทขึ้นต้นว่า สคฺเค กาเม …) เป็นบทที่เชิญเทวดาให้มาฟังธรรม มีหลักนิยมว่าจะกล่าวบทนี้เมื่อพระสงฆ์จะเริ่มเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงธรรมวิธีหนึ่ง ดังนั้น เมื่อกล่าวบทนี้ก็หมายถึงจะต้องมีการแสดงธรรมต่อไป
การกล่าวบทชุมนุมเทวดาในพิธีหรือในโอกาสซึ่งไม่มีการแสดงธรรม จึงนับว่าเบี่ยงเบนจากวัตถุประสงค์เดิม เหมือนเชิญแขกมารับประทานอาหาร แต่ไม่มีอาหารให้รับประทาน
๒ ฟังมาว่า แต่เดิมนั้นเจ้าภาพที่นิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เป็นผู้ว่าบทชุมนุมเทวดาเอง ซึ่งนับว่าถูกหลัก เพราะเจ้าภาพเป็นเจ้าของงาน เจ้าของงานจึงต้องเป็นผู้เชิญแขกด้วยตนเอง
แต่ต่อมาฝ่ายเจ้าภาพว่าไม่คล่องหรือว่าไม่ได้ พระสงฆ์จึงว่าแทน แล้วเลยกลายเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์เป็นผู้ว่าบทชุมนุมเทวดาดังที่เห็นกันทุกวันนี้ (ทำนองเดียวกับการถวายทานทุกวันนี้ ในที่บางแห่งผู้ถวายกล่าวคำถวายไม่เป็น พระสงฆ์ต้องเป็นผู้กล่าวนำให้ ถ้าเป็นเช่นนี้มากเข้า ต่อไปพระสงฆ์อาจมีหน้าที่กล่าวคำถวายทานเองก็เป็นได้)
๓ ตามธรรมเนียมที่ถือกันสืบมา พระรูปที่นั่งเป็นลำดับที่ 3 นับจากประธานสงฆ์จะเป็นผู้ว่าบทชุมนุมเทวดา ได้ฟังมาอีกเช่นกันว่า ปฐมเหตุเกิดจากในงานพิธีสำคัญคราวหนึ่งในอดีตกาล เมื่อประธานสงฆ์ทำหน้าที่ให้ศีลแล้ว ก็แบ่งหน้าที่ให้พระรูปที่ 2 เป็นผู้ว่าบทชุมนุมเทวดา แต่บังเอิญในคราวนั้นพระรูปที่ 2 ว่าไม่ได้ จึงให้รูปที่ 3 ว่าแทน แล้วเลยกลายเป็นธรรมเนียมพระรูปที่ 3 เป็นผู้ว่าบทชุมนุมเทวดามาจนทุกวันนี้
: ประพฤติเทวธรรมทุกเวลา
: เป็นเทวดาอยู่แล้วในตัว
16-8-58